วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“อาจารย์แล” แนะสร้างความยั่งยืนร.ร.ปลอดบุหรี่ ต้องสื่อสารภาษาเด็กเข้าใจง่ายตรงจุด

On June 28, 2023

อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่สามารถลักลอบเข้ามาในโรงเรียนได้แบบสะดวกเนื่องจากรูปลักษณ์ที่น่ารัก เป็นตัวการณ์ตูน เหมือนของเล่นของสะสมของกลุ่มวัยรุ่น จึงไม่น่าแปลกใจว่าผู้ใหญ่บางคนอาจจะไม่คิดว่าสิ่งที่ลูกหลานถือนั้นคือบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบและคนรอบข้าง ด้วยรูปลักษณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าจึงทำให้เยาวชนบางคนสามารถลักลอบนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปสูบในสถานศึกษา จากสถิติพบว่า มีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ15-24 ปีมากที่สุด คือ 30.5%

สพฐ.หนุนสร้าง “ศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนปลอดบุหรี่” ทั่วประเทศ

ในเวทีเสวนาความยั่งยืนโรงเรียนปลอดบุหรี่ด้วยคนในพื้นที่ ที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยมี  ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่า สพฐ.ทำงานและสนับสนุนเรื่องนี้อยู่แล้ว เมื่อมาเห็นการทำงานของทีมงานแล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับฐานรากที่ครูจำนวนมากได้เข้าร่วมกระบวนการ แม้ว่าจะมีโรงเรียนกว่าพันโรงเรียนที่เข้าร่วม แต่โรงเรียนในสังกัด สพฐ.ที่มีกว่า 30,000 โรงเรียนคงจะเข้ามาช่วยกันทำงาน ซึ่งกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กรอดและลดผลกระทบจากสถานการณ์ของบุหรี่ไฟฟ้า ให้เด็กมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติและรู้ว่าอะไรควรเสี่ยงหรือไม่ควรเสี่ยง

ปัจจุบันมีจุดจัดการ 10 จังหวัดทั่วประเทศ เรามีกิจกรรมที่เรียกว่ากิจกรรมเพิ่มทักษะในการเผชิญบุหรี่ ซึ่งทำอยู่ในโรงเรียน 78 แห่ง ซึ่งในอนาคตเราจะพยายามขยายฐานไปในทุกจุดในทุกจังหวัด ซึ่งอยากให้ทาง สสส.และทีมงานสนับสนุนต่อไป

การสนับสนุนให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ ถือเป็นการส่งเสริมให้ครูพัฒนานวัตกรรมปลอดบุหรี่ ทำให้พบครูที่มีอุดมการณ์ มีจิตอาสา เครือข่ายครูฯ ถือเป็น “ตัวจริง เสียงจริง” มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพเป็นแกนนำขับเคลื่อนนโยบายการควบคุมยาสูบในโรงเรียน เพื่อปกป้องเยาวชนจากการเป็นนักสูบหน้าใหม่ในจังหวัดของตนเอง

“อ.แล” แนะทำงานกับเด็กต้องใช้ภาษาเด็ก

รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบคนไทยสูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน คิดเป็น 17.4% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ส่วนอัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี อยู่ที่ 12.7% ลดลงจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 15.4% ใน แต่พบว่ามีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น มีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปีมากที่สุด คือ 30.5% สสส. จึงให้ความสำคัญการป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้ก้าวสู่การเป็นนักสูบหน้าใหม่ โดยสนับสนุนการขับเคลื่อนงานสถานศึกษาปลอดบุหรี่อย่างต่อเนื่อง การสร้างและขยายเครือข่ายเยาวชนแกนนำร่วมขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบ การเสริมสร้างให้เด็กและเยาวชนมีข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รู้เท่าทันกลยุทธ์ของธุรกิจยาสูบ

ส่วนเรื่องของความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นได้นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการบุคลากรที่มีคุณภาพ เพราะคนที่มีคุณภาพจะเป็นหลักประกันให้ความยั่งยืนของประเทศได้ และอย่าลืมที่จะให้ความรู้ เพื่อเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับบุคลากร และอีกเรื่องหนึ่งที่อย่าลืมคือ การสื่อสารให้ความรู้กับเยาวชนด้วยภาษาของเขา อย่าเป็นการสื่อสารแบบครูกับนักเรียนหรือพ่อแม่กับลูก

“ส่วนตัวคิดว่า สารที่จะสื่อสารให้เขา(เยาวชน) เรารู้สึกว่าเรามีองค์ความรู้ที่อยากจะบอกเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าหรือแอลกอฮอล์ ประเด็นสำคัญคือ เราจะส่งผ่านองค์ความรู้ที่มีนั้นไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร และในตอนนี้ในเรื่องยุทธศาสตร์ที่เราเป็นห่วง คือเยาวชน  เด็ก แล้วเราจะสื่ออับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร มันต้องสื่อในฐานะเพื่อนถึงเพื่อน เพื่อนคุยถึงเพื่อน และอะไรที่แสดงถึงความเป็นเพื่อน คือการพูดภาษาเดียวกัน มองมุมมองเดียวกัน เราเห็นความเลวร้ายหรือดีงามจากมุมเดียวกัน เรื่องนี้ตนมองว่าการสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ต้องใช้ภาษาเดียวกันระหว่างคนรับสารกับคนส่งสาร การสร้างสังคมปลอดบุหรี่ ต้องเริ่มต้นที่โรงเรียน การจัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในโรงเรียน เน้นกิจกรรมที่สร้างการรับรู้โดยตรงเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จะช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงพิษภัยของบุหรี่ และช่วยป้องกันไม่ให้นักเรียนอยากทดลองสูบบุหรี่ได้จริง สิ่งเหล่านี้จะเป็นด่านแรกช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้ก้าวไปสู่สิ่งเสพติดชนิดอื่นได้” รศ.ดร.แล กล่าว

ชูโรงเรียนวังโป่งศึกษา ต้นแบบโรงเรียนปลอดบุหรี่100%

นางสาวธัญญา ทองส้าน นักเรียนชั้น ม. 5 โรงเรียนวังโป่งศึกษา อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์  กลุ่ม Gen Z wangpong กล่าวว่า เป็นการจัดตั้งชมรมและสร้างเครือข่ายไปให้เกิดชมรม Gen Z ขึ้นมา เพราะชมรมนี้จะชี้ให้เห็นถึงพิษภัยและโทษของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ดีต่อสุขภาพหรือคนรอบข้าง ซึ่งเราได้เริ่มดำเนินชมรม Gen Z มาตั้งแต่ปี 2560 ผลลัพธ์ที่ได้คือ ตอนนี้โรงเรียนของหนูไม่มีคนสูบบุหรี่ 100% แล้ว การดำเนินงานของเราจะเข้าไปจัดการอบรมทั้งในโรงเรียน ชุมชน เป็นกิจกรรมให้ความรู้ ด้วยภาษาที่เป็นกันเอง ทั้งนี้ตนคิดว่า ในกลุ่มของตนเอง แกนนำ และครูที่มีส่วนในการสนับสนุนทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งตอนนี้ได้มีการขยายเครือข่ายไปแล้ว 109 ชมรมทั่วจังหวัดเพชรบูรณ์ คาดว่าปีนี้น่าถึง 160 ชมรม ด้วยความคาดหวังว่า อยากให้โรงเรียนอื่นไม่มีคนสูบบุหรี่เหมือนโรงเรียนของตนเอง


You must be logged in to post a comment Login