วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สสส. – กทม. ผนึกกำลังชวนคนรุ่นใหม่ประกวด Digital Art แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5

On June 22, 2023

สสส. – กทม. ผนึกกำลังชวนคนรุ่นใหม่ประกวด Digital Art แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 สะท้อนแนวคิดการสานพลัง และมอบทุนการศึกษาแก่ผู้ชนะ พร้อมเปิดเวทีถกแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นเมืองหลวงอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2566 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานเขตปทุมวัน กทม. จัดประกวดภาพศิลปะ Digital Art Contest ของนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อแสดงจุดยืนในการมีส่วนร่วมต่อการแก้ปัญหาฝุ่นควันพิษในอากาศ (PM2.5) ที่เรื้อรังมานานหลายปีภายใต้แนวคิด “There is no planet B เพราะเราไม่มีโลกสำรอง”

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จากรายงานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทยปี 2566 หรือ Thai Health Watch 2023 พบว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ จัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด สสส.สานพลังภาคีเครือข่าย เดินหน้าแก้ไขปัญหาด้วยยุทธศาสตร์ไตรพลัง ได้แก่ พลังความรู้ พลังสังคมและพลังนโยบาย ดำเนินการทั้งในระดับประเทศ และนำร่องในพื้นที่ประสบปัญหา รวมถึงกรุงเทพฯ ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 หนักต่อเนื่องทุกปี

“กิจกรรมประกวดภาพ Digital Art Contest “There is no Planet B เพราะเราไม่มีโลกสำรอง” ในหัวข้อ Climate Change เป็นการสื่อสารและรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝุ่น PM2.5 ผ่านมุมมองของน้องๆ นักเรียน นิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่ เป็นอีกเครื่องมือจุดประกายให้ประชาชนในวงกว้าง ร่วมแรงร่วมใจดูแลรักษา “โลก” นี้ ที่มีโลกเดียว ไม่มีโลกสำรอง นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาหัวข้อ “ฝุ่น PM2.5 ใน กทม. แก้ไขอย่างไรให้ยั่งยืน” เพราะปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องของทุกคน โดยมุ่งสร้างการมีส่วนร่วม เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้สะท้อนความรู้สึก ความกังวล อันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่มีความหวัง ผ่านงานศิลปะที่ตื่นตะลึง น่าชื่นชมยกย่อง    ” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว

นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นใน กทม. คือ ความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมา กทม. ตั้งทีมนักสืบฝุ่นวิจัยจนพบว่า PM 2.5 มาจากรถยนต์, การพัดของลมตามฤดูกาล, การเผาวัชพืช โดย กทม. ได้เฝ้าระวังร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ตามจุดฮอตสปอต และแจ้งเตือนผ่านระบบเเอปพลิเคชัน เพื่อแจ้งสถานการณ์เชิงรุกให้ประชาชน, การกำจัดต้นตอ เช่น ยานยนต์ที่สัญจร สถานประกอบการ การแก้ไขการเผาวัชพืชในแปลงเกษตรกรรม, การป้องกันสุขภาพ โรงพยาบาลของ กทม. และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. หลายแห่งทำหน้าที่คลินิกฝุ่นและห้องปลอดฝุ่น รวมทั้งรณรงค์ให้วัด ศาลเจ้า ใช้ธูปลดลง ตอนนี้มีวาระแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองที่ทุกฝ่ายต้องร่วมดำเนินการเพื่อให้เกิดการลงมืออย่างใกล้ชิด

“กทม. นำแผนแห่งชาติขึ้นมาพิจารณาใช้อย่างจริงจัง ซึ่งต้องร่วมกับกรมการขนส่งทางบกและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแนวคิดเรื่องท่าเรือคลองเตยในอนาคต หรือแม้กระทั่งการนำพื้นที่สาธารณะ เช่น ใต้ทางด่วน/ทางรถไฟ มาทำเป็นลานกีฬา สถานที่ปลูกต้นไม้ การนำพื้นที่ราชการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ มาทำสวนสาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว การบริหารจัดการขนส่งมวลชน ขนส่งสาธารณะในเมือง อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ เช่น การประกาศความสำเร็จและขยายผล Low Emission Zone หรือการจำกัดปริมาณรถเข้าพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งเป็นอำนาจของทางกรมขนส่งทางบกและตำรวจ รวมทั้งตัวผู้ขับขี่เอง ซึ่งหากรัฐบาลใหม่เห็นด้วยก็จะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนสุขภาวะ และเป็นประโยชน์ขั้นสูงกับประชาชน” นายพรพรหม กล่าว

สำหรับผลงานภาพที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้รับรางวัลทุนการศึกษา 5,000 บาท ได้แก่ ภาพ Little hope in a forsaken world ของนายการัณยภาส ฉิมคล้าย โรงเรียนราชวินิจบางเขน ที่สื่อถึงมุมมองของโลกในอนาคตที่สิ่งต่างๆ ถูกมลพิษ และอุทกภัยที่ไม่ได้รับการแก้ไข และถูกปล่อยปะละเลยทั้งที่เป็นเพราะฝีมือของมนุษย์เองจนเหลือทิ้งไว้เพียงซากผ่านมุมมองของเด็กคนหนึ่งที่เป็นเหมือนความหวังเพียงเล็กน้อยของโลกที่ถูกทิ้งร้าง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับรางวัลทุนการศึกษา 3,000 บาท ได้แก่ ภาพ ของนายกลวัชร พูลสงวน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับรางวัลทุนการศึกษา 2,000 บาท ได้แก่ นายศุภชัย บุตรทศรี มหาวิทยาลัยศรีปทุม


You must be logged in to post a comment Login