วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

จับตาบุหรี่ไฟฟ้า GEN5 แปลงร่าง” น่ารัก สดใส พกง่ายราคาไม่แรง” ซื้อง่ายขายคล่อง

On June 2, 2023

จับตาบุหรี่ไฟฟ้า GEN5 ใช้กลยุทธ์ TOY MARKETING โปรโมทผ่านทุกแพลตฟอร์มบนโลกโซเซียล รูปแบบน่ารัก ระทัดรัด พกพาสะดวก ราคาไม่แรง แถมมีระบบผ่อนจ่าย ซื้อง่ายขายคล่อง หลอกผู้ปกครองนึกว่าเป็นอุปกรณ์การเรียน ของเล่น หรือขนม

ในการประชุมวิชาการ”บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 21 เรื่อง “คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ศรีรัช ลอยสมุทร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ฟาดไม่หยุดแฉพฤติกรรมผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้า GEN5 ใช้กลุยทธ์ TOY MARKETING ดึงเอาตัวการ์ตูนที่เด็กรู้จักมาแปลงเป็นบุหรี่ไฟฟ้า ขนาดไซส์มินิสะดวกแก่การพกพา บางรุ่นสามารถนำมาแขวนคอเป็นเครื่องประดับได้อีกด้วย และกลุ่มเยาวชน คือกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ผลิตต้องการทำการตลาดในกลุ่มนี้

“เป็นการขายแบบหลอกเด็ก ข้อมูลที่ให้ไม่ตรงไปตรงมา เราต้องมีกฎหมายในการปกป้องเด็ก จากการตลาดที่ต้องการล่าเหยื่อเด็ก เพราะ TOY POD หรือบุหรี่ไฟฟ้า GEN5 ที่มีรูปแบบเป็นตุ๊กตามีอันตรายมากกว่าบุหรี่ไฟฟ้า GEN4 เพราะแทบจะดูไม่ออกว่าเป็นบุหรี่ หรือ ที่เราเรียกว่าเป็นการตลาดที่เป็นมิตรต่อเด็ก(child-friendly marketing)” ผศ.ดร.ศรีรัช กล่าว

ผศ.ดร.ศรีรัช กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้า GEN5 มีจำหน่ายแล้วในประเทศไทย ได้มีการทำการตลาดในรูปแบบของการ์ตูนและของเล่นที่มีเป็นคอลเลคชั่นให้สะสม หรือที่เรียกว่าเป็นการสร้าง brand story ด้วยการ์ตูน อีกทั้งยังมีสีสันที่บ่งบอกถึงรสชาติควบคู่ไปด้วย ทำให้เด็กเข้าถึงได้ง่าย ดูไม่เป็นอันตราย หาซื้อได้ง่ายบนทุกแพลตฟอร์ม

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ศรีรัช ได้สรุปว่า การตลาดที่เป็นมิตรต่อเด็ก ประกอบด้วย เด็กเข้าถึงได้ , harmless look, การใช้ตัวการ์ตูน หรือของเล่น,รสชาติ,สีสัน,ผลิตภัณฑ์ที่น่ารัก ,เด็กคุ้นเคยอยู่แล้ว,มี  story ,blur ระหว่างข้อเท็จจริงและการส่งเสริมกาขาย,ความสนุกและเพื่อการสะสม

“การเปลี่ยนแปลงของบุหรี่ไฟฟ้าตนบอกได้เลยว่าโคตรเปลี่ยนเลย ความอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าคือ การแยกไม่ออกระหว่างของจริง(บุหรี่ไฟฟ้า) กับของเล่น” ผศ.ดร.ศรีรัช กล่าว

ด้าน อาจารย์กนิษฐา ไทยกล้า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาการเฝ้าระวังตลาดบุหรี่ไฟฟ้าบนอินเตอร์เน็ต ปี พ.ศ. 2566 ( 1 ม.ค. – 30 เม.ย.) พบว่ามีบัญชีผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้าบนอินเตอร์เน็ต 480 บัญชีรายชื่อจากผู้ใช้งานสื่อออนไลน์ในประเทศไทยที่มีจำนวน 52.25 ล้านบัญชี มีการขายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์ม คือ Facebook,  Instagram ,Twitter, Line และ  TikTok ตามลำดับ และที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือพบว่า มีผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับยาเสพติด ยารักษาโรคแบบผิดแผน กัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชาประมาณ 2.1%(10 บัญชีรายชื่อ)และบัญชีรายชื่อเหล่านี้ส่วนมากอยู๋ที่ กทม. รองลงมา คือ เชียงใหม่ปทุมธานี นนทบุรี ขอนแก่น อุดรธานี เชียงราย เป็นต้น ในช่วง 4 เดือนที่ทำการสำรวจ มีการโพสต์ขายบุหรี่ไฟฟ้าไปแล้วจำนวน 3,891 โพสต์ ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะมากกว่านั้น ทั้งนี้การขายบนแพลตฟอร์มต่างๆสามารถกระจายได้ไปทั่วประเทศ เยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

“เคยได้ลองสั่งซื้อ สามารถส่งของได้ภายใน 1 ชั่วโมง ผ่านบริษัทขนส่งเอกชน แถมยังมีระบบผ่อนจ่าย และเก็บเงินปลายทางได้อีกด้วย”อาจารย์กนิษฐา กล่าว

สุดท้าน นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงบุหรี่ไฟฟ้าความเสี่ยงใหม่ของวัยรุ่นไทย สรุปได้ว่า สถานการณ์ของบุหรี่ไฟฟ้ามันไปไกลมาก และTOY POD เป็นสิ่งที่เด็กเล็กเข้าถึงได้ง่าย เพราะเด็กทุกคนมีมือถือกันหมด การที่ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าเอาเด็กมาเป็นตัวตั้งในการทำการตลาด เขาจึงได้เอาสิ่งรอบตัวเด็กมาใช้ในการทำการตลาดโดยปรับสภาพแวเล้อมให้เด็กเข้าถึงได้ง่าย

จากผลสำรวจของ สถาบันยุวทัศน์ฯ พบว่า เด็กอยากรู้ว่าบุหรี่อันตรายอย่างไร อยากได้คำอธิบายง่าย ที่ทำให้เขาได้คิด แต่สารที่ส่งให้เด็กนั้น ตนเองยังมากว่าเป็นภาษาที่เข้าใจยาก แต่ในทางตรงข้ามผู้ขายส่งให้เด็กนั้นมันตรงกว่าสิ่งที่พวกเราทำอยู่ ซึ่งตนอยากจะเปรียบเทียบให้ดูว่า การจะต่อสู้กับเด็ก(เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า)เราจะแพ้แน่นอน ถ้าเราจะเอาชนะคนรุ่นใหม่ เขาจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบทันที เหมือนกับการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา

จากการพูดคุยในครั้งนี้พบว่า การสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายของผู้ผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันต้องยอมรับว่าสามารถสื่อสารได้ตรงจุดกับกลุ่มเป้าหมาย และสามารถเข้าถึงทุกแพลตฟอร์มบนโลกโซเซียล แต่ในขณะที่ภาครัฐยังคงทำงานในรูปแบบเดิมสารที่สื่อออกไปยังไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายด้วยข้อจำกัดต่างๆ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมบุหรี่ไฟฟ้าจึงหาซื้อง่ายขายคล่องแบบทุกวันนี้


You must be logged in to post a comment Login