วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สสส.-มพศ. สานพลัง เครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง สร้างเสริมชุมชนเมืองสุขภาวะ นำร่องเขตคลองสามวา

On June 1, 2023

สสส.-มพศ. สานพลัง เครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง สร้างเสริมชุมชนเมืองสุขภาวะ นำร่องเขตคลองสามวา มุ่งเป้าพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน-จัดการชุมชน-ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม-สุขภาพ สร้างนวัตกรรมชุมชนเมืองอยู่ดีมีสุข

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 ณ สำนักงานเขตคลองสามวา กทม. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเขตคลองสามวา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 ศูนย์บริการสาธารณสุข 64 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และภาคีเครือข่าย จัดเวที “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเวทีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาชุมชนต้นแบบสุขภาวะในเขตคลองสามวา” เพื่อพัฒนาชุมชนต้นแบบสุขภาวะชุมชนในพื้นที่ กทม. พร้อมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกับ 6 ชุมชนขับเคลื่อนงานผ่าน “โครงการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนเมือง” ตามยุทธศาสตร์ของแผนสุขภาวะชุมชน คือ 1. พัฒนาระบบและกลไกเพิ่มขีดความสามารถการจัดการสุขภาวะของพื้นที่ 2. พัฒนานวัตกรรม 3. ส่งเสริมการบูรณาการเข้าสู่งานประจำ ร่วมมือกันเป็นเครือข่าย โดยนายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ ประธานกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชน พื้นที่ภาคกลาง สสส. พร้อมด้วย รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน เข้าร่วม

นายสมพร ใช้บางยาง  กล่าวว่า  สสส. ทำงานร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยมีเป้าหมายในการเสริมพลังให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สนับสนุนให้เกิดกลุ่ม การสร้างเครือข่าย และพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน ให้สามารถขับเคลื่อนงานพัฒนาในชุมชน และนโยบายสาธารณะต่างๆ  แก้ไขปัญหาของชุมชนไปจนถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสุขภาพ โดยความร่วมมือระหว่างกลุ่มเป้าหมาย ภาคประชาสังคม ฝ่ายวิชาการ และหน่วยงานรัฐ ผลักดันขับเคลื่อนร่วมกันให้เกิดรูปธรรมนำร่องในพื้นที่ ที่อยู่อาศัยที่มีความมั่นคงเป็นสิ่งสำคัญ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ อาทิ เศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน สวัสดิการ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมอาชีพ การศึกษา เป็นคุณภาพชีวิตสำหรับคนในเขต กทม. ที่ทำให้เกิดความอยู่ดีมีสุข ที่เหมาะสมตามความจำเป็นพื้นฐานทางสังคม รวมถึงการเข้าถึงการบริการทางสุขภาพ การจัดระบบชุมชน เพื่อให้ชุมชนพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน(สำนัก 3) กล่าวว่า การจัดเวทีในครั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือ สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบชุมชนเข้มแข็งเพื่อพัฒนาสุขภาวะของคนทุกช่วงวัย ในพื้นที่นำร่องเขตคลองสามวา กทม. โดยความร่วมมือของชุมชนกับหน่วยงานในการพัฒนาเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน รวมถึงพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบชุมชนสุขภาวะของคนทุกช่วงวัย ซึ่งพื้นที่นำร่องของเขตจำนวน 5 ชุมชน 4 แขวง ได้แก่ ชุมชนนิมิตใหม่เมืองมีน แขวงสามวาตะวันตก ชุมชนเมืองใหม่มาลัยทอง แขวงทรายกองดิน ชุมชนทองกิตติ แขวงบางชัน ชุมชนโรงช้าง และชุมชนภูมิใจ แขวงทรายกองดินใต้ การดำเนินการพัฒนาชุมชนต้นแบบสุขภาวะนั้น จำเป็นที่จะต้องพัฒนา และบูรณาการความร่วมมือขององค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อให้เป็นเกิดความร่วมมือในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ดร.ประกาศิต กล่าวต่อว่า การสร้างสุขภาวะชุมชนเป็นการทำงานบนฐานคิดของการใช้ชุมชนเป็นฐานการพัฒนาที่สำคัญคือ ใช้ประโยชน์จากข้อมูล ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของชุมชนอย่างตรงจุด ใช้ปัญหาของชุมชนมาเป็นเป้าหมายการพัฒนาและแก้ปัญหา ส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการจัดการตนเอง ทำความรู้จัก ค้นหา และระดมทุนทางสังคม ทรัพยากร ร่วมเรียนรู้ สร้างงาน กิจกรรม และระบบบริการ ที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรม และสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขภาวะชุมชน การสร้างสุขภาวะชุมชนของ 6 ชุมชนในกรุงเทพมหานครที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน

นายพันธ์ศักดิ์ เจริญสุข ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา กล่าวว่า ทางเขตคลองสามวาเข้าร่วม และมีบทบาทขับเคลื่อนชุมชนสุขภาวะ 1. สนับสนุนด้านการจัดการสภาพแวดล้อมในชุมชน เช่น การจัดการขยะในชุมชน สร้างพื้นที่สีเขียวของชุมชน สนับสนุนด้านองค์ความรู้ รวมถึงบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เพื่อพัฒนา และการจัดการนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนแบบมีส่วนร่วม 2. สนับสนุนด้านความปลอดภัยในชุมชน เช่น ไฟส่องสว่าง การสัญจร 3. สนับสนุนศักยภาพในการเรียนรู้ และพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กและเยาวชน เช่น จัดตั้งศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการของเด็กและเยาวชน 4. สนับสนุนกิจกรรมการรวมกลุ่มทางสังคม เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มดูแลสุขภาพ กลุ่มผู้สูงอายุ 5. สนับสนุนให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับสำนักงานเขตคลองสามวา เช่น การสื่อสารและการรับรู้ข้อมูล การนำเสนอข้อมูลปัญหา และแผนการพัฒนาชุมชน แบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาตามนโยบายของสำนักงานเขต และ กทม.

นางสาวสุมล ยางสูง ผู้อำนวยการภาคกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และตะวันออก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า ร่วมหนุนเสริมต่อยอดการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กของชุมชนในเขตคลองสามวา สนับสนุนการขยายพื้นที่ทำงานกับชุมชนบ้านมั่นคงในเขตคลองสามวา พัฒนาด้านที่อยู่อาศัยและกายภาพชุมชนให้มีความมั่นคง สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามนโยบายของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีอยู่ที่อาศัยที่ยั่งยืนต่อไป

นางเตือนใจ เกษมศรี ผู้แทนชุมชนภูมิใจ แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา 1 ใน 6 ชุมชน กล่าวว่า ชุมชนภูมิใจเป็นชุมชนที่มาจากการรวมตัวกันของหลายชุมชนในพื้นที่สาธารณะริมคลอง ที่ถูกไล่รื้อ คือ ชุมชนคลองเป้ง เขตวัฒนา ชุมชนลาดบัวขาว เขตสะพานสูง ชุมชนอยู่เย็น เขตลาดพร้าว  ชุมชนแบนตาโพ เขตคลองสามวา และชุมชนใต้ทางด่วนดินแดง เขตดินแดง ชาวชุมชนชุดแรกเข้ามาสร้างบ้านพักชั่วคราวในพื้นที่ใหม่ และเข้ามาพัฒนาที่ดิน ทำแปลงที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2561 จำนวน 37 ครัวเรือน และปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอย้ายเข้ามาอยู่อีกจำนวน 96 ครัวเรือน จึงจำเป็นต้องดูแลชุมชนชนอย่างเป็นระบบ จากความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน พัฒนาระบบบริการสาธารณะเกิดความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของชุมชน เชื่อมประสาน สร้างความร่วมมือ ร่วมกับ กทม. หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชนต่อไป


You must be logged in to post a comment Login