วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ประเทศไทยได้เวลาเปลี่ยนที่มาของผู้พิพากษา

On November 19, 2022

บทความพิเศษ โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

วิธีการง่ายๆในการเปลี่ยนประเทศไทยวิธีหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนที่มาของผู้พิพากษาในการปฏิรูประบบศาลของไทย ซึ่งทำได้ง่าย ไม่ยากเลย ไม่ต้องใช้เวลานานมากนัก โดยเริ่มต้นที่การเลือกตั้งผู้พิพากษา!

ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ได้เคยแสดงปาฐกถา <1> ว่าการปฏิรูประบบศาลไทยทำได้ยาก และคงต้องใช้เวลานานมาก แต่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เห็นต่างว่าการแก้ไขระบบศาลไทยทำได้ไม่ยาก เพียงจัดให้มีการเลือกตั้งผู้พิพากษาเช่นในสหรัฐอเมริกา

ผู้พิพากษาในสหรัฐอเมริกามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งเป็นระบบที่แตกต่างไป และเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ดร.โสภณได้พบกับผู้รู้ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแขกของ ดร.โสภณ ได้แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับระบบศาลและผู้พิพากษาในสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้พิพากษาในสหรัฐอเมริกามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาในแต่ละมลรัฐ และยังมีศาลในแต่ละเขต (County) ศาลเทศบาล ศาลคดีเด็กและเยาวชน ศาลครอบครัว ฯลฯ โดยมีการหาเสียงเลือกตั้ง ห้วงระยะเวลาการเลือกตั้งก็ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ผู้ว่าการรัฐ แม้แต่เจ้าหน้าที่ประเมินภาษี หัวหน้าการศึกษาของแต่ละรัฐ ก็ล้วนมาจากการเลือกตั้ง ส่วนข้าราชการประจำเป็นแค่ “มือไม้” ของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีระดับประเทศ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา และศาลอื่นๆ ที่มีขอบเขตอำนาจศาลในการพิจารณาเรื่องระดับประเทศ มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีโดยคำแนะนำและคำยินยอมของสภาสูง ซึ่งก็คือมาจากผู้ที่ประชาชนเลือกมาเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีศาลพิเศษที่แต่งตั้งโดยรัฐสภา เช่น ศาลล้มละลาย ศาลอุทธรณ์สูงสุดที่พึงอุทธรณ์ได้สําหรับคดีต่างๆตามประมวลกฎหมายทหาร ศาลภาษีสหรัฐ และศาลอุทธรณ์สําหรับทหารผ่านศึก เป็นต้น <2>

ในสหรัฐอเมริกา ผู้พิพากษาต้องมาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ อาจยกเว้นศาลปกครองที่พิจารณาคดีระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชนซึ่งจะมาจากการแต่งตั้ง โดยอำนาจของประธานาธิบดีเป็นคนแต่งตั้งตั้งแต่ระดับศาลฎีกาลงมา ในระดับจังหวัดของบางมลรัฐ ผู้พิพากษาอาจมาจากการแต่งตั้งโดยหัวหน้าผู้พิพากษาที่ประธานาธิบดีแต่งตั้งอีกที อย่างในมลรัฐแคลิฟอร์เนียมีการรับสมัครผู้พิพากษาผ่านสำนักงานผู้ว่าการรัฐ <3> เมื่อได้รับเลือกตั้งจากประชาชนแล้ว ผู้ว่าการรัฐซึ่งประชาชนเป็นคนเลือกก็จะเป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษา ไม่ต้องไปรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ศาลหลักของประเทศเป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษา

การมีการเลือกตั้งผู้พิพากษาเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่น เข้าใจปัญหาต่างๆดีกว่าผู้พิพากษาจากส่วนกลางที่ไม่ยึดโยงประชาชนและไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง การเลือกตั้งผู้พิพากษาจึงเหมือนการให้อำนาจ เคารพภูมิปัญญาท้องถิ่น และให้ความสำคัญแก่ท้องถิ่น ผู้นำ ผู้มีอิทธิพลทางความคิดในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ที่สำคัญเราไม่ต้องสร้างบ้านพักข้าราชการศาลอย่างที่มีข่าวครหาในกรณีหมู่บ้าน “ป่าแหว่ง” <4> ที่เชียงใหม่

เราคงเคยเห็นกรณีผู้พิพากษาที่แสนใจดีและเข้าใจประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เช่น นายแฟรงค์ คาพริโอ หัวหน้าผู้พิพากษาของศาลระดับท้องถิ่นเมืองพรอวิเดนซ์ ที่ทำหน้าที่พิพากษาบนบัลลังก์มานานกว่า 30 ปีแล้ว ก็ได้รับการแต่งตั้งโดยเทศบาลเมืองพรอวิเดนซ์ที่มาจากการเลือกตั้ง <5> หรือผู้พิพากษาอีกรายหนึ่งชื่อนางแอมเบอร์ วูลฟ์ <6> ที่มีชื่อกระฉ่อนในทางมีเมตตานั้น เธอก็เป็นผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน <7> ไม่ใช่ถูกแต่งตั้งมาจากส่วนกลางแต่อย่างใด ทั้งนี้ ระบบศาลที่มาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้งโดยฝ่ายบริหารมีปรากฏอยู่ใน National Survey of Court Organization United States <8>

การให้ศาลจราจร เด็กและเยาวชน ครอบครัว ฯลฯ มาจากการเลือกตั้งทำให้เกิดการปฏิรูประบบศาลและกระบวนการยุติธรรมได้เป็นอย่างดี และได้ผู้พิพากษาที่ดี ถ้าได้ผู้พิพากษาที่ไม่ดี ประชาชนก็เลือกใหม่ได้ ต่างจากระบบการแต่งตั้งที่ขาดการตรวจสอบอย่างแท้จริง

มาดูในประเทศอื่นๆบ้าง

1. สิงคโปร์ ประธานาธิบดีซึ่งเป็นประมุขในรัฐพิธีเป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง (อย่าหาว่าสิงคโปร์เป็นเผด็จการนะครับ เพราะไม่เคยมีข่าวครหาว่า “ซื้อเสียง” แต่อย่างไร) และผู้พิพากษาเหล่านี้ยังอาจถูกถอดถอนโดยการเสนอของนายกรัฐมนตรีได้เช่นกัน (http://bit.ly/2c0MRpc)

2. มาเลเซีย หลังการปรึกษากับที่ประชุมสุลต่านแต่ละรัฐ นายกฯก็เป็นผู้เสนอชื่อประธานศาลฎีกาเพื่อให้พระราชาธิบดีลงพระปรมาภิไธย และนายกฯยังเป็นผู้เสนอให้ถอดถอนได้โดยมีการตั้งคณะตุลาการขึ้นสอบสวน (http://bit.ly/2cKyL8v) แค่ 2 ประเทศนี้ก็เห็นชัดว่าอำนาจฝ่ายบริหารซึ่งมาจากประชาชนสำคัญที่สุด ไม่ใช่ให้ผู้พิพากษาที่เป็นแค่ข้าราชการประจำที่ทำงานด้านกฎหมายมา “ขี่คอ”

3. ฟิลิปปินส์ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่ารัฐสภามีอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอนผู้พิพากษาในศาลระดับต่างๆ (http://bit.ly/25BTJ1Q) ทั้งนี้เพราะถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ผู้พิพากษาเป็นข้าราชการประจำแขนงหนึ่งที่สามารถถูกประชาชนถอดถอนได้นั่นเอง

4. อินโดนีเซีย คณะกรรมการตุลาการเป็นผู้เสนอชื่อประธานศาลฎีกาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบก่อนนำส่งประธานาธิบดี (ที่ประชาชนเลือกตั้งมาโดยตรง) เพื่อประกาศแต่งตั้งต่อไป (http://bit.ly/2crkiSp) ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าการปกครองของอินโดนีเซียในปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยโดยแท้

5. เวียดนาม ทีนี้มาดูประเทศสังคมนิยมซึ่งระบบกฎหมายต่างจากไทย โดยผู้พิพากษาซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงต้องเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ แต่รูปแบบการแต่งตั้งผู้พิพากษาก็คล้ายกับประเทศอื่นที่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และที่สำคัญต้องให้ประธานาธิบดีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในฝ่ายบริหารเป็นผู้แต่งตั้ง ไม่ใช่มาตีเสมอกับฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหารควบคุมไม่ได้ หรือพยายามควบคุมฝ่ายบริหารเสียเอง (http://bit.ly/2cMQfW8)

6. จีน ก็คล้ายกัน โดยประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาต่างๆได้รับการคัดเลือก/แต่งตั้งโดยสภาประชาชนจีน (http://bit.ly/2cMYu4e) โดยเฉพาะศาลฎีกาก็มีผู้พิพากษามากถึง 340 คน (http://bit.ly/2cMZzJl)

7. ญี่ปุ่น มาดูประเทศประชาธิปไตยในเอเชียบ้าง อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล สรุปว่า “จักรพรรดิแต่งตั้งประธานศาลสูงสุดจากการเสนอชื่อของรัฐสภา (จักรพรรดิลงนามอย่างเดียว ไม่มีดุลพินิจ) ผู้พิพากษาศาลสูงที่เหลือให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง” (http://bit.ly/2ct2R2W) นายไชยยศ วรนันท์ศิริ เพิ่มเติมว่า “มีการทบทวนการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาโดยประชาชน ด้วยวิธีการลงคะแนนพร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไป การทบทวนนี้จะมีไปทุกระยะเวลา 10 ปี” (http://bit.ly/2cetIw5) นอกจากนี้ยังมีการเลือกตั้งผู้พิพากษา (ไม่ใช่ศาลฎีกา) อีกด้วย (http://bit.ly/2cNAe0R)

8. เกาหลี ซึ่งก็เป็นประเทศประชาธิปไตย ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 104 (1) ว่า ประธานศาลฎีกาได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี (จากการเลือกตั้ง) โดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา (http://bit.ly/2ceu3z6) ทุกประเทศข้างต้นเขาให้ความสำคัญกับผู้แทนประชาชนที่มาบริหารประเทศ ไม่ได้ใส่ร้ายว่าจะเข้ามาโกงสถานเดียว

9. ศรีลังกา หันมาดูเอเชียใต้บ้าง นายกฯเป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาตามที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ไม่ใช่รับราชการมาจนแก่แล้วมีอำนาจอธิปไตยส่วนตัว คนอื่นแตะต้องไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นผู้พิพากษาศาลฎีกายังอาจถูกถอดถอนโดยรัฐสภาซึ่งถือว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชนโดยตรง (http://bit.ly/2ckYhDa)

10. อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ มีระบบศาลฎีกาที่มีการแต่งตั้งโดยระบบสถาบันของตนเอง (Supreme Court of India’s Collegium System) แต่ก็มีความพยายามตั้งคณะกรรมการสรรหาข้าราชการตุลาการซึ่งยังไม่สำเร็จ ผู้ว่าการรัฐก็มีส่วนร่วมพิจารณาแต่งตั้งผู้พิพากษาในแต่ละรัฐด้วย (http://bit.ly/2csYwN1) และที่น่าสนใจยิ่งก็คือ การมีศาลหมู่บ้านหรือศาลประชาชนที่ประกอบด้วยผู้พิพากษา นักกฎหมาย และนักสังคมสงเคราะห์ (http://bit.ly/2ciV2ZQ)

11. ตะวันออกกลาง ลองหันมาดูประเทศมุสลิมบ้าง ในกรณีอิหร่านอำนาจในการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาขึ้นอยู่กับผู้นำทางศาสนา (Faqih) (http://bit.ly/2cKK8NW) ในซาอุดีอาระเบียขึ้นอยู่กับกษัตริย์ (http://bit.ly/2ce65oP) ส่วนอียิปต์ซึ่งใช้ทั้งหลักกฎหมายอิสลามและยุโรปให้ประธานาธิบดีเป็นคนแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกา (http://bit.ly/2cKL5FT) ในทั้ง 3 ประเทศมุสลิมนี้ ต่างก็ให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการแต่งตั้ง จะเห็นได้ชัดเจนว่าอำนาจฝ่ายบริหารเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนประเทศ ไม่ใช่อำนาจตุลาการ

12. รัสเซีย มาดูประเทศสังคมนิยมบ้าง ผู้พิพากษาศาลฎีกาของรัสเซียมีจำนวนมากถึง 115 คน มาจากการเสนอชื่อของประธานาธิบดี (ที่มาจากการเลือกตั้ง) เพื่อให้วุฒิสภา (ที่มาจากการเลือกตั้ง) เป็นผู้อนุมัติ (http://bit.ly/2cMVLIi) นี่ก็เป็นการให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้แต่งตั้งฝ่ายตุลาการ ศาลในระดับล่างๆลงมาก็แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีหรือผู้บริหารแต่ละท้องที่ ในบางกรณียังมีการเลือกตั้งผู้พิพากษาศาลแขวงอีกด้วย

13. อังกฤษ ต้นตำรับประชาธิปไตย คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้สรรหาผู้พิพากษาศาลฎีกา และนำเสนอต่อ Lord Chancellor (รัฐมนตรียุติธรรมในอังกฤษที่มีหน้าที่เป็นอธิบดีศาลสูงสุดและเป็นประธานสภาขุนนาง) โดยรัฐมนตรีอาจอนุมัติ หรือไม่อนุมัติ หรือสั่งให้ไปสรรหาใหม่ และนายกฯจะเป็นผู้นำชื่อผู้ได้รับเลือกทูลเกล้าฯให้พระราชินีอังกฤษลงพระปรมาภิไธย (http://bit.ly/2cKSx3U)

จะเห็นได้ว่าในประเทศทั่วโลกไม่ว่าระบอบไหน ภูมิภาคใด ก็ล้วนแต่ให้อำนาจฝ่ายบริหารเข้มแข็งเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่บ่อนทำลายฝ่ายบริหาร เพราะมีอำนาจที่มองไม่เห็น (พรรคข้าราชการ) คอยจะเป็นใหญ่แทนประชาชน ในสากลโลกข้าราชการประจำมีไว้เพื่อเป็น “มือไม้” ให้กับข้าราชการการเมือง ประเทศประชาธิปไตยที่แท้จริงเขาถือว่ายิ่งเลือกตั้งมากทุกระดับ ยิ่งได้คนที่ต้องใจประชาชน ไม่ได้มาสร้างภาพกล่าวหานักการเมืองว่าเลวสารพัดเพื่อตัวเองจะได้ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แม้แต่ผู้พิพากษายังต้องมาจากการเลือกตั้ง และสามารถถูกถอดถอนได้โดยตัวแทนของประชาชน

ประเทศไทยจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อได้เวลาเปลี่ยนที่มาของผู้พิพากษาให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผูกพันกับประชาชนจริงๆ

ป้ายหาเสียงเลือกตั้งผู้พิพากษาและตำแหน่งอื่นๆในสหรัฐอเมริกา

ที่มา: https://www.amarillopioneer.com/blog/2017/12/22/legal-signs-how-candidates-can-keep-yard-signs-legal

อ้างอิง

<1> ธงชัย วินิจจะกูล : นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม | ปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 https://www.youtube.com/watch?v=jsGUuiiG9SM

<2> โปรดอ่านรายละเอียดได้ที่ https://bit.ly/3J1JNW4

<3> Instructions for Completing Judicial Appointment Applications. https://www.gov.ca.gov/instructions-for-completing-judicial-appointment-applications

<4> “หมู่บ้านป่าแหว่ง” : สุดท้ายก็ให้ข้าราชการอยู่อย่างสิ้นเปลือง. AREA แถลง ฉบับที่ 147/2563 : วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2563. https://bit.ly/2wBO3uc

<5> เปิดใจ “แฟรงค์ คาพริโอ” ผู้พิพากษาใจดีแห่ง “พรอวิเดนซ์” https://www.voathai.com/a/judge-justice-caught-in-providence-article-voa-thai/5299291.html

<6> 2 คลิปดังกระฉ่อนของผู้พิพากษาสาวจาก Kentucky คนนี้เด็ดเดี่ยวและมีหัวใจแสนซาบซึ้ง! https://bit.ly/2UaNX58

<7> General Election for Kentucky 30th District Court 2nd Division. Incumbent Amber B. Wolf won election in the general election for Kentucky 30th District Court 2nd Division on November 6, 2018. https://ballotpedia.org/Amber_B._Wolf

<8> https://babel.hathitrust.org/cgi/pt?id=uc1.b4178250&view=1up&seq=42


You must be logged in to post a comment Login