วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

งานวิจัยเมืองผู้ดีแนะคุมบุหรี่ไฟฟ้าสกัดนักสูบเยาวชน

On October 13, 2022

เดอะ การ์เดี้ยน สื่อใหญ่ของอังกฤษรายงานข่าวผลการศึกษา ซึ่งทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน (King’s College London) ได้ทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้ากว่า 400 ฉบับที่เคยได้รับการตีพิมพ์ ระบุว่าผู้สูบบุหรี่ที่เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนจะลดการได้รับสารพิษก่อมะเร็ง โรคปอด และโรคหลอดเลือดหัวใจลดลงอย่างมาก แต่ยังคงระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงเสี้ยวเดียวเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่ จึงไม่แนะนำให้ผู้ที่ไม่เคยไม่สูบบุหรี่เริ่มใช้ทั้งบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมเน้นให้สร้างสมดุลระหว่างการสกัดนักสูบเยาวชนกับการให้ทางเลือกผู้สูบบุหรี่

การศึกษาฉบับนี้ เป็นงานวิจัยอิสระที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักพัฒนาสุขภาพและความเหลื่อมล้ำแห่งกรมอนามัยและสังคมสงเคราะห์ นับเป็นการทบทวนความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ครอบคลุมที่สุดในปัจจุบัน ผู้วิจัยอ้างอิงถึงผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์กว่า 400 ฉบับจากทั่วโลก ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับสัญญาณอันตรายหรือระดับสารพิษในร่างกายภายหลังการสูบการบุหรี่และใช้บุหรี่ไฟฟ้าในระยะสั้นหรือระยะกลางของการสูบบุหรี่หรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับนิโคติน สารจำเพาะที่บ่งชี้การเกิดมะเร็ง รายงานพบว่าระดับสารพิษ เช่น ไนโตรซามีน (Nitrosamines) คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายอื่นๆ ในร่างกายของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้นใกล้เคียงหรือต่ำกว่าผู้สูบบุหรี่ ในขณะที่ในร่างกายของผู้ที่ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์นิโคตินใดๆ มีระดับของสารเหล่านี้ต่ำที่สุด

ทีมวิจัยเห็นว่าจำเป็นต้องทำการศึกษาต่อถึงผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาวหลังการใช้ผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องไปอีกหลายปี

ปัจจุบัน ผู้สูบบุหรี่ในอังกฤษมีจำนวนที่ลดลงในขณะที่จำนวนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้นเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มในกลุ่มเยาวชนนั้นไม่ได้เป็นแบบนั้น จากผลรายงาน การสูบบุหรี่ในกลุ่มคนอายุ 11-18 ปีอยู่ที่ 6.3% ในปี 2019 และ 6% ในปี 2022 ขณะที่การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 4.8% เป็น 8.6% ในปีก่อน อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในกลุ่มคนอายุ 16-18 ปี แต่การใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable Vapes) นั้นเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 7.8%

ทีมนักวิจัยจึงได้เรียกร้องให้มีกฎหมายควบคุมที่ดีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานขายจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่เด็ก และให้มีระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเพื่อจัดการการใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งที่เพิ่มขึ้นสูงในเยาวชน โดยกล่าวว่า “การโฆษณา บรรจุภัณฑ์ และการทำการตลาดผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งกับกลุ่มเยาวชน ควรถูกสอบสวน และต้องมีมาตรการที่เหมาะสมกว่านี้เพื่อลดการดึงดูดเยาวชน”

“เราควรทำให้มั่นใจว่าผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใหญ่จะได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม ซึ่งรวมไปถึงการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงของบุหรี่ไฟฟ้าและวิธีที่จะใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ และขณะเดียวกันก็ควรให้ความรู้แก่เยาวชนที่จะไม่สูบบุหรี่และป้องกันไม่ให้พวกเขาเริ่มสูบบุหรี่ และยังต้องบังคับใช้กฎควบคุมอายุในการซื้อขายรวมถึงการโฆษณาอีกด้วย” เขากล่าว “หากเราสามารถหาความสมดุลในเรื่องนี้ได้ บุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนประวัติศาสตร์การสูบบุหรี่ของประเทศอังกฤษเลยทีเดียว”


You must be logged in to post a comment Login