วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

เปิดประวัติ 9 ครูดีเด่นรางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประจำปี 2565

On May 13, 2022

สมเด็จพระ​เจ้าพี่นางเธอ​ เจ้าฟ้า​กัลยาณิวัฒนา​ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาว่า จะเป็นตัวช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ทุกครั้งที่​โดยเสด็จสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีออกหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.)  พระองค์จึงมักเสด็จเยี่ยมโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อสอบถามถึงแนวทางการเรียนการสอนและพระราชทานกำลังใจแก่บุคลากรครูอยู่เสมอ

ทั้งยังได้เคยเสด็จเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้ ชุมชนชาวไทยภูเขา (ศศช.) บ้านพอกะทะ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ในปี 2542   และโปรดให้นายบุญธันว์ มหาวรรณ์ ประธานโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า นำคณะครู กศน.เข้าเฝ้าด้วย  รวมทั้งโรงเรียน กศน.อนๆอีกด้วย

หลังจากที่สมเด็จพระ​เจ้าพี่นางเธอ​ เจ้าฟ้า​กัลยาณิวัฒนา​ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ ในปี พศ.2551  โครงการพระเมตตาสมเด็จย่าได้ก่อตั้งโครงการครูดีเด่น “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”  ขึ้นในปี พ.ศ.2552 เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ เป็นขวัญกำลังใจให้แก่ครูที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละความสุขส่วนตัว โดยคัดเลือกครูจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หน่วยงานละ 3 รางวัล  โดยพิธีการมอบ“รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” กำหนดเป็นวันที่ 6 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ  

ในปี 2565 นี้ คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกครู 9 คนจาก 3 หน่วยงานดังกล่าวเป็นผู้ได้รับรางวัลครูเจ้าฟ้าฯ ดังนี้

ครูสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)  ได้แก่

นายนิวัฒน์  เงินงามมีสุข อายุ 46 ปี ครูผู้ช่วยศูนย์การเรียนชุมชนไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง บ้านมอโก้คี ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก  อุทิศตนสอนหนังสือ และช่วยเหลือชุมชนบนที่สูงทุรกันดาร มานานกว่า 21 ปี เป็นครูที่มีความสามารถในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง ช่วยปลูกฝังความรู้ และช่วยเหลือชุมชน ให้มีการอนุรักษ์ป่าชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน สร้างองค์ความรู้ จัดทำวีดีทัศน์ขยายผลสู่ สาธารณชน และสื่อ Social Media  ส่งเสริมการเรียนการสอนของนักเรียนชนเผ่าบนพื้นที่สูงให้สามารถแข่งขันจนชนะเลิศรางวัลการแข่งขันทักษะวิชาการ การประดิษฐ์ และงานกิจกรรมต่างๆ ใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เป็นแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์ที่เคยสอน กลับมาช่วยพัฒนาชุมชน และหมู่บ้านบนพื้นที่สูงหลายราย

นายราชัน  ติญานันต์ อายุ 49 ปี ครูอาสาสมัครศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง บ้านผาแดงบน ต.ร่มเย็น  อ.เชียงคำ  จ.พะเยา ปฏิบัติหน้าที่ในถิ่นทุรกันดารบนดอยสูงมากกว่า 23 ปี มีความสามารถในการบูรณาการเรียนรู้หนังสือ ควบคู่กับกิจกรรมพัฒนาอาชีพ  มีการจัดทำข้อมูลเรียนรู้รายบุคคล และแผนการจัดการเรียนรู้เฉพาะบุคคล (Individual Implementation Plan: IIP) เป็นผู้ริเริ่ม และประสานหน่วยงานภาคีเครือข่าย ส่งเสริมให้ชุมชนทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ทดแทนการใช้สารเคมี เพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับชุมชน เช่น การปลูกองุ่นไร้เมล็ด และการปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรือน  ส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ  รณรงค์ให้ชาวบ้านลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อรักษาแหล่งต้นน้ำให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ศิษย์ที่เคยสอนจำนวนมากกลับมาช่วยพัฒนาชุมชนบ้านเกิด เคยได้รับรางวัล ครู ศศช.ดีเด่น ประจำปี 2563 และรางวัลครูอาสาสมัคร ศศช.ดีเด่น ด้านการพัฒนาอาชีพบนพื้นที่สูง ประจำปี 2564 จากสำนักงาน กศน.จังหวัดพะเยา

นางอาอัยเสาะ  ดาจูดา อายุ 42 ปี ครูชำนาญการพิเศษศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ต.เบตง  อ.เบตง  จ.ยะลา อุทิศตนสอนหนังสือให้กับผู้เรียน กศน.ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มานานกว่า 19 ปี เป็นครูผู้พัฒนานวัตกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยรูปแบบโมเดลเบตงฮูลู และสามารถขยายผลการสอนไปยังพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้สู่โครงการฝึกทักษะอาชีพ เรื่อง กาแฟโบราณเบตง สู่ กศน. Premium ภายใต้แบรนด์ ONIE เป็นต้นแบบของการสร้างแบรนด์สินค้าของชุมชนระดับประเทศ เป็นครูต้นแบบการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถขับเคลื่อนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาสู่ชุมชนอย่างเป็นที่ประจักษ์จนได้รับรางวัลครูดีเด่น “คนดีศรีเสมา จชต.” ด้านการส่งเสริมการศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี 2564 จาก ศปบ.จชต. กระทรวงศึกษาธิการ  ปัจจุบันลูกศิษย์ที่เคยสอนยังกลับมาเป็นผู้นำและช่วยพัฒนาชุมชนบ้านเกิดเป็นจำนวนมาก และได้รับรางวัลหนึ่งแสนครูดีปี 2554 จากคุรุสภา

ครูสังกัดหน่วยงาน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ได้แก่

พันตำรวจตรีพัฒณศักดิ์  พัฒนพงศ์ศา อายุ 50 ปี ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมาก ต.ศาลาลัย  อ.สามร้อยยอด  จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นครูสอนหนังสือให้กับนักเรียนผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลมานานกว่า 27 ปี สามารถพัฒนางานเกษตร และปศุสัตว์ของโรงเรียนให้เพียงพอต่อการประกอบอาหารกลางวันให้นักเรียนทั้งโรงเรียน และสามารถขยายผลไปสู่ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผู้ส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนในการงานอาชีพ เช่น การส่งเสริมงานเกษตรครบวงจร จนถึงการจัดทำบัญชีครัวเรือน และส่งเสริมอาชีพเพิ่มเติม เช่น การแปรรูปกาแฟ การแปรรูปกล้วย ริเริ่มโครงการกาแฟคั่วโอ่ง เป็นนวัตกรรมการคั่วกาแฟที่ได้มาตรฐาน มีการควบคุมคุณภาพ และประหยัดต้นทุนดำเนินงานโดยนักเรียน และสามารถขยายผลไปสู่งานอาชีพของชุมชน ศิษย์ที่ครูเคยสอนปัจจุบันสำเร็จการศึกษากลับมาร่วมพัฒนาภูมิลำเนาที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารจำนวนมาก

ดาบตำรวจสมบัติ  แก้วสะอาด อายุ 40 ปี ครูผู้สอนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่ ต.ปิล๊อก  อ.ทองผาภูมิ  จ.กาญจนบุรี อุทิศตนสอนหนังสือให้นักเรียนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลของจังหวัดกาญจนบุรี มากว่า 13 ปี  สามารถสอนงานด้านการเกษตร และปศุสัตว์ให้กับนักเรียน และสามารถขยายผลสู่ชุมชนอย่างเป็นที่ประจักษ์ สามารถในการจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ให้กับนักเรียน ชั้น ป.4–6 ส่งผลให้คะแนนการทดสอบระดับชาติ O–NET ปี 2563 วิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้น ป.6 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงเรียนในระดับประเทศ  เป็นผู้ประสานหน่วยงานภายนอก และเครือข่ายในการร่วมพัฒนาโรงเรียน และชุมชน  เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง เพื่อจัดหา และมอบพันธุ์พืช ไม้ผล พันธุ์สัตว์ ให้กับชาวบ้านในชุมชนจนเป็นที่รักยิ่งของชาวบ้านในชุมชน เคยได้รับรางวัล ข้าราชการตำรวจที่ประพฤติปฏิบัติดีเยี่ยมตามประมวลจริยธรรม และจรรยาบรรณของตํารวจ ประจำปี 2562 และ 2563 จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ดาบตำรวจหญิงกาญจนา  เขาแดง อายุ 44 ปี ครูผู้สอนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมหาราช 1ต.เขาแดง  อ.สะบ้าย้อย  จ.สงขลา อุทิศตนสอนหนังสือในพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคใต้มานานกว่า 21 ปี สามารถสอนงานด้านส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียน จนได้รับการยกย่องให้เป็นโรงเรียนส่งเสริมสหกรณ์ดีเด่นต่อเนื่องกว่า 10 ปี และการขยายผลงานด้านสหกรณ์ และการออมทรัพย์ ไปสู่ชุมชนอย่างที่ประจักษ์ พัฒนาโรงเรียนให้เป็นศูนย์บริการความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงมีฐานการเรียนรู้ 8 ด้านให้ชุมชนสามารถมาศึกษาเรียนรู้ เคยได้รับรางวัลครูดีเด่น ประจำปี 2564 จากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 ปัจจุบันลูกศิษย์สำเร็จการศึกษากลับมาเป็นครู  ตำรวจ และข้าราชการ ในภูมิลำเนาจำนวนมาก

ครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก่

นายเสกสรร  ศรีแสวง อายุ 50 ปี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านห้วยหมีศรีสวัสดิ์  ต.เมืองแปง  อ.ปาย  จ.แม่ฮ่องสอน สอนหนังสือในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลบนดอยสูง มากว่า 21 ปี เป็นครูผู้มีความสามารถในการริเริ่มนวัตกรรม STEM มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน และพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียน และชุมชนอย่างเป็นที่ประจักษ์  เป็นครูจิตอาสาช่วยสอนวิชาการ และทักษะอาชีพให้แก่หน่วยงานต่างๆ ในอำเภอปาย​ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จนนักเรียนได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติจากการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมระดับเขตพื้นที่ ระดับจังหวัด  และระดับประเทศ เป็นประจำทุกปี    อย่างเป็นที่ประจักษ์ มีความสามารถในการประสานหน่วยงาน และเครือข่ายภายนอกเข้ามาพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และอาคารต่างๆ ภายในโรงเรียน ได้รับการยกย่อง และได้รับรางวัลระดับประเทศจำนวนมาก

นางกัลยา  แปดนัด อายุ 38 ปี ครูชำนาญการ โรงเรียนบ้านขอบด้ง  ต.ม่อนปิ่น  อ.ฝาง  จ.เชียงใหม่ เป็นครูผู้เสียสละสอนหนังสือ ให้กับผู้ด้อยโอกาส บนพื้นที่สูงภาคเหนือมานานกว่า 16 ปี  เป็นครูผู้ริเริ่มพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นหัตถกรรมชนเผ่าหญ้าอิบุแคที่เป็นพืชท้องถิ่นให้กับนักเรียน สร้างนวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอน โดยใช้โครงงานหญ้าอิบุแคเป็นฐาน (Project – Based Learning) บูรณาการร่วมกับครูทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา  เป็นผู้สอนและแนะนำให้นักเรียนค้นคว้าหาข้อมูลการออกแบบผลิตภัณฑ์ สินค้าเครื่องประดับจากผู้ออกแบบระดับโลกทางอินเตอร์เน็ตเพื่อนำมาประยุกต์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์หญ้าอิบุแคให้ตรงความต้องการของตลาดสมัยใหม่ และเป็นผู้พัฒนางานการขายสู่ร้านค้าขายของที่ระลึก และช่องทางการขายออนไลน์ สร้างรายได้เป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียน และชุมชน นักเรียนที่ครูสอนสามารถประกวดชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญทอง การแข่งขันโครงงานอาชีพนักเรียนชั้น ป.4 – ป.6 งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับเขตพื้นที่ ระดับภาค และระดับชาติ จำนวนมากจาก สพฐ.ตั้งแต่ปี 2557 – 2562 สามารถสร้างแบรนด์ของสินค้า (เส้นศิลป์) จากโรงเรียนสู่ชุมชน (Social Enterprise) และร่วมออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต่อยอดสู่สินค้ามูลค่าเพิ่มให้กับหญ้าอิบุแค

นางสาวปิยะรัตน์  เสนีย์ชัย อายุ 45 ปี ครูชำนาญการ โรงเรียนนิคมพัฒนา 10  ต.มาโมง  อ.สุคิริน  จ.นราธิวาส อุทิศตนสอนหนังสืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มากว่า 20 ปี เป็นครูสอนศิลปะที่สามารถสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนศิลปะให้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ศิลปะบำบัดพัฒนาสมาธิ (Art Therapy, Development, Concentration)  และการจัดการเรียนรู้แบบสร้างสมาธิเสริมความรู้สู่ปัญญา (Concentration of Knowledge to Wisdom) สามารถสอน และพัฒนาจนนักเรียนชนะเลิศการแข่งขันประกวดศิลปะระดับภูมิภาค และระดับชาติจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นวิทยากรจิตอาสาด้านการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้ถ่ายทอดงานศิลปะให้กับชุมชน สามารถต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพ เช่น การทำผ้ามัดย้อม งานย้อมสีผ้าบาติก และดอกไม้ประดิษฐ์   เป็นแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์ศึกษาต่อ และกลับมาเป็นครูสอนศิลปะ ในพื้นที่ทุรกันดารจำนวนมาก

ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลทั้ง 9 คนจะได้รับโล่รางวัลครูเจ้าฟ้าฯ  ใบประกาศนียบัตร และเงินรางวัลคนละ 30,000.-บาท แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้มอบเงินรางวัลแก่ครูที่ได้รับรางวัลก่อน และจะมีการมอบโล่รางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติให้กับครูเจ้าฟ้าฯ ในภายหลังจากที่สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว

พิธีมอบรางวัลครูเจ้าฟ้า ครั้งที่ 11  ประจำปี 2562

ครูเจ้าฟ้า ฯ ทั้ง 9 คนได้ทํางานด้วยความเสียสละ ไม่เพียงแค่ปฏิบัติหน้าที่สอนหนังสือ แต่ยังได้ให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารให้มีการดํารงชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยให้ชุมชนมีการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน และยังเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์หลายคนกลับมาช่วยพัฒนาบ้านเกิดเมื่อจบการศึกษาแล้วอีกด้วย ซึ่งสมควรได้รับการเผยแพร่คุณงามความดีและยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นแม่พิมพ์และแบบอย่างการทําความดีในสังคมต่อไป


You must be logged in to post a comment Login