วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

กฎแห่งกรรม

On April 2, 2021

คอลัมน์ : สำนักข่าวพระพยอม

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 2 เม.ย. 64)

เรื่องที่เคยเกิดขึ้นที่จ.อุทัยธานี ถือเป็นเรื่องอุทาหรณ์สอนใจเรื่องกฎแห่งกรรม เมื่อคนร้ายหนีคดีฉ้อโกงประชาชนกันอะไรมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี จนเหลือเวลาอีกแค่ 13 ชั่วโมง ก็จะหมดอายุความทางกฎหมาย แต่แล้วก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับได้คาบ้านพัก ต้องเรียกกันว่า นี่ คือ กฎแห่งกรรม เรื่องแบบนี้มีให้เห็นบ่อยๆ บางทีหนีไปบวชอะไรก็มี เหตุการณ์แบบนี้มันมีอุทาหรณ์สอนใจว่า อยู่ให้เป็น อยู่กับบารมีไว้ดีกว่าอยู่กับคดี 

ถ้าอยู่แบบบำเพ็ญบารมี คดีก็ไม่ก่อ ไม่เกิด ให้เป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นเวร เป็นภัย ซึ่งข่าวนี้ ทำให้คนไทยคงเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมมากขึ้น และจะไม่ปล่อยให้ชีวิตนี้ทำให้ต้องมาเป็นคนทุกข์ทนทรมานไปกับเรื่องที่ไม่ควรจะเป็นไปในทำนองที่ต้องเรียกกันว่า เราหลีกกรรมไม่ได้ ในทางหลีกอะไรต่างๆ แต่กรรมนั้นจะหมด จะถูกตัดได้ เขาบอกว่า เราจะต้องควบคุมผัสสะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่กระทบต่อไปๆนี้ จะเรียกว่า เหมือนกับไม่ก่อกรรมใหม่ อันนี้เรียกว่า ตัดกรรม 

ไม่มีกรรมใหม่ให้เกิดอีกต่อไป กรรมเก่านั้น ถ้าอุปัตถัมภกกรรม ไม่ดี อุปปีฬกกรรมก็จะตามมาบีบคั้น กลั้นแกล้ง ให้มีอันต้องเป็นไปตามต่างๆนาๆ พระโมคคัลลานะ ท่านก็เรียกว่า ถูกทุบ ถูกตี จนกระดูกหักแหลก เพราะเคยไปฆ่าพ่อแม่ อดีตชาติกรรมเก่า ถึงแม้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังมีกรรมเก่าการละลาญ แต่ว่า ท่านไม่ยึดติดในสังขารที่ถูกตี ปล่อยวางให้เป็นเรื่องของกรรม ความเจ็บปวดอาจจะมีทางร่างกาย แต่ไม่มีความเจ็บแค้น เจ็บใจ หรือเสียใจที่ถูกโจรทุบตี นี่เป็นเรื่องลึกซึ้งดีกว่า 

ลึกซึ้งว่า ถ้าเราจะสิ้นกรรม จะหมดกรรม ไม่ต่อกรรม ต่อเวรต่อไป เราต้องสลายตัวตนที่จะอยู่รับกรรม คือ ความยึดมั่น ความมีตัวตนว่า ได้รับกรรมนั้น เป็นเรื่องที่ปุถุชนทำยาก คือ ทำไม่ได้เอาด้วยซ้ำไป แต่สำหรับพระอรหันต์ ท่านสิ้นกรรม เพราะไม่มีตัวตนเป็นผู้รับกรรม มีแต่การกระทำเกิดขึ้น แล้วก็ตั้งอยู่ ดับไป จนสลายกรรมที่จะมาทรมานตนให้เจ็บแค้น เจ็บปวด เจ็บใจ หรือเสียอก เสียใจ บางคนเนี่ยเขาบอกว่า เสียอก เสียใจกับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการกระทำหรือที่เรียกว่า กรรม คือ การกระทำเนี่ย 

ถ้าหากว่า เราสลายตัวตน คือ อัตตา ไม่มีความยึดติดว่า ตนถูกกระทำ ถูกทรมานกลั่นแกล้ง จองจำ เสียอิสรภาพในทางร่างกาย แต่จิตใจไม่ทุกข์ ไม่ทรมาน นี่ก็ถือว่า เป็นการสิ้นกรรมของระบบอริยเจ้าท่านไม่ผูกเวร ผูกกรรม หรือเรียกกันว่า กรรมสนองได้แต่เฉพาะคนที่ยังยึดติดในตัวตน เลยกลายเป็นคนมีกรรมที่ว่า กรรมของกู กรรมของตนอะไรทำนองนี้ แต่พระอรหันต์ไม่เข้าไปยึดติดในตัวตน จึงไม่มีคำว่า กรรมของตน หรือกรรมของกู มีแต่การกระทำที่เกิดขึ้น และดูพฤติกรรมของการกระทำนั้นด้วยใจที่ปล่อยวาง  

จึงกลายเป็นผู้อยู่เหนือกรรม หรือสิ้นกรรมโดยสิ้นเชิงในทำนองเหล่านี้ เป็นเรื่องที่มีในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ยากที่คนธรรมดาจะเข้าถึง เข้าได้ แต่สำหรับอริยชน พระอริยบุคคลทั้งหลายในระดับสูง ท่านสลายตัวตน จึงไม่มีกรรมเป็นของตนหรือของกู ก็เลยอยู่เหนือกรรม 

เจริญพร 


You must be logged in to post a comment Login