วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

ทำบุญให้ประโยชน์สุข

On March 10, 2021

คอลัมน์ : สำนักข่าวพระพยอม

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 10 มี.ค. 64)

และต้องเรียกว่า กระเซ็นกระสาย กระเจิงกระจาย กับข่าวคราว เรื่องราวเกี่ยวกับการรับจ้างใส่บาตร หรือให้คนอื่นใส่แทน คราวนี้มาถึงร้านสังฆภัณฑ์ ก็ได้รับการให้ถวายสังฆทานแทน เรื่องนี้ทางพระครูปลัดกวีวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส ในฐานะรองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีการจ้างให้ร้านสังฆภัณฑ์ใส่บาตรแทน ว่า ถามว่าจ้างคนอื่นให้ใส่บาตรนั้นได้บุญหรือไม่ ก็ตอบเลยว่าได้บุญแน่นอน  

เพียงแต่ขอให้เป็นไปตามทานสมบัติ 3 ประการ  คือ 1.เขตสมบัติ (บุญเขต) ถึงพร้อมด้วยปฏิคาหก หรือผู้รับทาน เป็นผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ประกอบด้วยคุณธรรม 2.ไทยธรรมสมบัติ (ไทยธรรม) ถึงพร้อมด้วยสิ่งที่ให้เป็นของบริสุทธิ์ ได้มาโดยชอบธรรม และเหมาะสมเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ และ 3.จิตตสมบัติ (เจตนา) ถึงพร้อมด้วยความตั้งใจ คิดจะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้รับแท้จริง มีเจตนาบริสุทธิ์ทั้ง 3 กาล คือ ก่อนให้ใจยินดี ขณะให้จิตผ่องใส ให้แล้วเบิกบานใจ หากทำได้เช่นนี้ให้ท่านที่ได้สร้างบุญมั่นใจได้ว่าได้รับบุญอย่างแน่นอน 

รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ บอกว่า แต่หากถามว่าระหว่างการทำบุญด้วยตนเองกับให้ผู้อื่นทำบุญให้นั้น อะไรมีอานิสงส์มากกว่ากัน เรื่องนี้ก็มีให้เห็นมาอย่างยาวนาน ขอยกเอาตัวอย่างในสมัยพุทธกาล เช่น พระเจ้าปายาสิ เป็นพระราชา ฝากคนใช้ใส่บาตรกับพระภิกษุ พระเจ้าปายาสิเกิดกุศลจิตคิดจะให้ แต่ไม่เคารพในทาน สักว่าให้ และฝากคนอื่น ก็ได้ผลของกุศล แต่เกิดในสวรรค์ชั้นที่ 1 คือ จาตุมหาราชิกา  

ส่วนคนใช้ที่ถวายด้วยมือของตน ซึ่งพระเจ้าปายาสิฝากให้ถวายพระ ได้เกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่สูงกว่า เพราะความเคารพในทาน จิตละเอียดกว่า และให้ด้วยมือของตน แต่ทั้งสองก็เกิดกุศลจิตทั้งคู่ ดังนั้นการที่เกิดประเด็นการสนใจเรื่องนี้มาในสังคมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้ชาวพุทธยุค New Normal จะได้ทำการศึกษาหาความรู้เรื่องใกล้ตัวในพระพุทธศาสนา เพราะการใส่บาตรทุกวันนั้นย่อมได้รับอานิสงส์ 5 ประการตามพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ  

1.เป็นที่รักของผู้คนทั้งหลาย 2.คนดีมีปัญญาย่อมชอบคบค้าสมาคมด้วย 3.มีชื่อเสียงที่ดีงาม 4.เป็นผู้ไม่ห่างไกลธรรม และ 5.เมื่อตายแล้วย่อมเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ นอกจากนั้นประโยชน์ของการใส่บาตรทางอ้อมก็ยังเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของเราเอาไว้  และประการสำคัญยังเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะพระสงฆ์สามเณรต้องอยู่ด้วยการบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ถ้าไม่มีใครใส่บาตรก็ไม่มีอาหาร เมื่อไม่มีอาหารย่อมไม่อาจดำรงชีพอยู่ได้ แล้วพุทธศาสนาก็อาจจะเสื่อมถอยลงได้ 

ต้องเรียกว่า รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ จากวัดราชาธิวาส ยอมรับว่า ได้บุญ แต่ถ้าทำเองได้มากกว่าอะไรทำนองนั้น และคงจะกล่าวขานกันไปอีกนาน เพราะวิวัฒนาการการทำบุญเปลี่ยนแปลงไปมากในแง่ของการรับ การขายสังฆทาน โดยเจ้าของเป็นผู้จ่าย แต่คนขายเป็นผู้ใส่ ผู้ถวาย เรื่องนี้ก็เป็นอย่างที่เคยบอก ได้พูดเสมอว่า สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ บอกว่า ทำบุญใส่บาตรด้วยตัวเองดี ได้บุญมากกว่า ได้อนิสงค์ 

ส่วนการให้คนอื่นทำแทนก็ได้บุญเหมือนกัน อันนี้เรื่องของเรื่องมันก็อยู่ที่ว่า ทำไมไม่ทำเอง ก็มีข้ออ้างเช่นว่า งานรัดตัว อยู่ต่างประเทศ และที่สำคัญก็คือ มีลักษณะพิเศษว่า นอนตื่นสาย ติดสุข ติดนอน อันนี้ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากพระมหาไพรวัลย์มาแล้ว ก็มีปัญหาอยู่ต่อไปอีกว่า ยังไม่จบจากการที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ จะต้องมีข้อคิด สะกิดใจให้ทำแบบนี้ แบบนั้นอยู่ร่ำไปในวงการพุทธศาสนาไม่จบ 

เขาบอกว่า คนทำบุญจบก็คือ การยกขึ้นอธิษฐานว่า 50 หรือ 100 บาท ซึ่งยกมือขึ้นจบ คือ หมายความว่า อธิษฐานใจซะ ต้องการอะไร แต่เนื้อหาของคำว่า จบ หมายความว่า เงินทองก้อนนี้ ชิ้นนี้ มันจบแล้ว แปลงมาเป็นบุญแล้ว เลยกลายเป็นเรื่องว่า ถ้าไม่ได้จบให้ดี ไม่ได้ตั้งใจให้ดี ตั้งใจให้ดีว่า เราตั้งใจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และให้พระพุทธศาสนาได้รับความอุปถัมภ์จากเรา คือ ได้ข้าว ได้น้ำหล่อเลี้ยงร่างกายชีวิตของพระสงฆ์ให้ดำรงอยู่ได้ 

ไม่ล้มหายมรณภาพ เพราะว่า มีปัจจัย 4 คอยหล่อเลี้ยงอยู่ มีอาหาร มีจีวร มีกุฏี มียารักษาโรคเหล่านี้ เราเรียกกันว่า ปัจจัย 4 เป็นเครื่องอาศัยของภิกษุสามเณร ก็หวังว่า เรื่องทำบุญคงจะเป็นเรื่องที่ให้ประโยชน์สุข และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันไป ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องเสียหาย ต้องสรุปเหมือนเดิม คือ ทำดีกว่าไม่ทำ ถ้าไม่ได้ให้เขาไปแทนก็ไม่ได้ทำเลย ทำเสียเถอะ ยังไงขอให้มั่นใจว่า ทำดีกว่าไม่ได้ทำ ส่วนบุญจะได้น้อย ได้มาก ได้ทำไว้ก่อนดีกว่าแน่นอน 

เจริญพร 


You must be logged in to post a comment Login