วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ฟังเสียงคนไทย…ในวันที่แกร็บกำลังจะถูกกฎหมาย

On January 22, 2021

ขณะที่กระทรวงคมนาคม ภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีศักดิ์สยาม ชิดชอบ กำลังเดินหน้าผลักดันและส่งเสริมให้สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเพื่อให้บริการรับส่งผู้โดยสารสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างถูกกฎหมาย นับเป็นความพยายามของภาครัฐในการส่งเสริมเศรษฐกิจแบ่งปันและสนับสนุนให้เกิดการประกอบอาชีพในเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเสรี บนบริบทของสังคมไทยและพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ จากผลวิจัยด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2563 โดย Google, Temasek และ Bain & Company พบว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 5.4 แสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปี โดยในปี 2563 บริการเรียกรถและสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันมีมูลค่าสูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 45% ในปี 2568 อย่างไรก็ดี จากการจัดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นที่มีต่อร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนแบบบริการทางเลือกเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมานั้น สะท้อนให้เห็นว่าหลายฝ่ายมีความกังวลว่าร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวจะส่งผลดีหรือผลกระทบต่อบริการ “เรียกรถผ่านแอปฯ” กันแน่

นายพงศ์พิชญ์ รอดมณี ผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลรับจ้างผ่านแอปฯ กล่าวว่า ผมต้องขอขอบคุณกระทรวงคมนาคมที่ได้พยายามผลักดันให้สามารถนำรถบ้านมาให้บริการรับส่งคนผ่านแอปฯ ได้อย่างถูกกฎหมาย ที่ผ่านมาผมต้องประกอบอาชีพด้วยความหวาดกลัวอยู่ตลอด เวลาที่ถูกเรียกค่าปรับแต่ละครั้งก็ทำให้เสียรายได้ไปมาก แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่งานประจำเองก็หายาก ทำให้ต้องดิ้นรนทำมาหากินและต้องยอมรับสภาพ ผมอยากวอนขอให้กระทรวงฯ ผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จ ไม่อยากให้ปิดกั้นเรื่องการประกอบอาชีพอย่างเท่าเทียม อยากให้คนทำงานหาเช้ากินค่ำมีอาชีพสุจริตเลี้ยงดูตัวเองได้ต่อไปโดยไม่เป็นภาระของสังคม

นายสุรพงษ์ สุขปูรณะ อีกหนึ่งเสียงจากผู้ที่หารายได้เสริมจากการนำรถยนต์มาให้บริการผ่านแอปฯ กล่าวว่า แม้จะดีใจที่ภาครัฐกำลังผลักดันให้บริการเรียกรถอย่างแกร็บถูกกฏหมาย แต่ก็อยากให้กำกับดูแลเรื่องนี้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยเฉพาะร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 3 ที่ระบุว่าภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดจำนวนรถยนต์รับจ้างแบบบริการทางเลือกที่จะนำมาจดทะเบียนให้บริการนั้น ประเด็นนี้ผมไม่เห็นด้วยเพราะเท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิของคนขับที่จะให้บริการ และเชื่อว่าจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอย่างแน่นอน เช่น การเกิดระบบซื้อขายในอนุญาต หรือการที่รถบ้านที่เคยให้บริการผ่านแอปฯ จำนวนไม่น้อยจะหายไปจากท้องถนน จนไม่สามารถตอบสนองการปรับจำนวนผู้ให้บริการได้ตามความต้องการ เป็นต้น

ขณะที่ ผู้โดยสารที่เรียกใช้บริการรถผ่านแอปฯ อย่าง กิตติชัย กุณะวงศ์ ให้ความเห็นว่า ในขณะที่ประชาชนกำลังรอให้เกิดการปฎิรูประบบขนส่งสาธารณะ การมีแอปฯ เรียกรถที่เข้ามาตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้โดยสารเป็นสิ่งที่คนเมืองอยากพวกผมก็อยากจะสนับสนุน ทุกวันนี้แม้จะได้รถบ้านเวลาที่เรียกผ่านแอปฯ ผมก็ไม่มีปัญหา ในมุมผู้บริโภคเราให้ความสำคัญกับการได้รถทันทีในเวลาที่ต้องการใช้มากกว่า ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรเปิดเสรีให้บริการแบบนี้ถูกกฏหมาย

ฟากคนขับรถแท็กซี่อย่าง กมลาสน์ กุลบันลือพิชญ์ เผยถึงประเด็นที่มีคนขับแท็กซี่บางส่วนไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวว่า ผู้ประกอบการแท็กซี่บางกลุ่มอาจจะไม่เห็นด้วย กลัวว่าถ้ารถบ้านถูกกฎหมายแล้วจะไปแย่งงานเขา แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง การให้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ก็เอื้อประโยชน์ให้คนขับแท็กซี่ด้วยเช่นกัน ทำให้เราหาลูกค้าได้ทั้งบนถนนและผ่านแอปฯ จากที่เคยต้องวิ่งรถรอผู้โดยสารไปเรื่อยๆ อย่างเดียว แต่วันนี้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงแท็กซี่ได้ผ่านแอปฯ ได้ด้วย แท็กซี่เองก็มีรายได้มากขึ้น ถือว่าวิน-วินกันทั้งสองฝ่าย

ฟากคนขับรถแท็กซี่อย่าง กมลาสน์ กุลบันลือพิชญ์ เผยถึงประเด็นที่มีคนขับแท็กซี่บางส่วนไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวว่า ผู้ประกอบการแท็กซี่บางกลุ่มอาจจะไม่เห็นด้วย กลัวว่าถ้ารถบ้านถูกกฎหมายแล้วจะไปแย่งงานเขา แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง การให้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ก็เอื้อประโยชน์ให้คนขับแท็กซี่ด้วยเช่นกัน ทำให้เราหาลูกค้าได้ทั้งบนถนนและผ่านแอปฯ จากที่เคยต้องวิ่งรถรอผู้โดยสารไปเรื่อยๆ อย่างเดียว แต่วันนี้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงแท็กซี่ได้ผ่านแอปฯ ได้ด้วย แท็กซี่เองก็มีรายได้มากขึ้น ถือว่าวิน-วินกันทั้งสองฝ่าย

ด้านนักวิชาการอย่าง ผศ ดร สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงทรรศนะว่า ในการผลักดันและส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ภาครัฐจะทำงานหรือกำหนดตัวบทกฎหมายในรูปแบบเดิมไม่ได้ การกำหนดโควต้าการจดทะเบียนเพื่อเป็นคนขับเป็นระบบที่สวนทางและขัดแย้งกับแนวคิดของการแข่งขันอย่างเสรี และอาจเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ ที่อาจตามมาในอนาคตเหมือนในบางประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการกำหนดโควต้าจนคนขับกว่าครึ่งในระบบถูกตัดช่องทางทำมาหากินและออกมาประท้วงส่งผลต่อปัญหาราคาค่าโดยสารเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากความไม่สมดุลของระบบอุปสงค์และอุปทาน สุดท้ายรัฐบาลต้องประกาศขยายโควต้า หรือในอินโดนีเซีย ศาลสูงสุดได้ตัดสินให้การกำหนดโควต้าผิดหลักการออกกฎหมาย เพราะปิดกั้นการแข่งขันอย่างเสรี ท้ายที่สุดรัฐบาลจึงต้องละเว้นการบังคับใช้โควต้า เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนความยุ่งยากและเสียเวลาให้กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนผู้ใช้บริการซึ่งอาจได้รับผลกระทบมากที่สุด

ต่อประเด็นนี้ ดร.เก่งการ เหล่าวิโรจน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท แกร็บ ประเทศไทย ผู้ให้บริการแอปเรียกรถอย่าง Grab กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กระทรวงคมนาคมเร่งผลักดันเรื่องนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถสร้างรายได้จากการนำรถส่วนบุคคลมาให้บริการรับจ้างสาธารณะผ่านแอปฯ ได้อย่างถูกต้อง ที่ผ่านมาแกร็บเองได้สนับสนุนนโยบายและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับภาครัฐ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนและนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากประสบการณ์การให้บริการทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดหวังให้ร่างกฎกระทรวงฯ นี้เป็นประโยชน์และสร้างความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราได้เห็นบทเรียนจากตลาดอื่นๆ ในต่างประเทศมาแล้ว และไม่อยากเห็นความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง ทางออกที่ดีที่สุดคือการเดินหน้าต่อโดยพิจารณาถึงผลประโยชน์ร่วมกันของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ

หลังจากที่ได้มีการทำประชาพิจารณ์ถึงร่างกฏกระทรวงดังกล่าวไปแล้ว ถึงตอนนี้คงเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมในการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าผลักดันกฏกระทรวงดังกล่าวไปในทิศทางใด โดยภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาควิชาการนั้นต่างก็หวังที่จะได้เห็นการพัฒนาด้านเทคโนโลยี การคมนาคมและเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเสรีไม่ปิดกั้น ด้วยความเข้าใจและแรงสนับสนุนจากภาครัฐบาล


You must be logged in to post a comment Login