วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

บทเรียน

On November 11, 2020

คอลัมน์ : สำนักข่าวพระพยอม

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 11 พ.ย. 63)

เมื่อเร็วๆนี้เกิดกระแสวิจารณ์บนโลกออนไลน์ กรณีคุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ นักแสดงจิตอาสาชื่อดัง เรื่องการรับบริจาคเงินช่วยน้ำท่วม ปี พ.ศ.2562 จำนวน422ล้านบาท ที่มีประเด็นคำถามจากประชาชนว่าเป็นการเรี่ยไรเงินที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ ซึ่งอาจเข้าข่ายยักยอกทรัพย์ฉ้อโกงรวมถึงเป็นการกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์โดยคุณบิณฑ์ ชี้แจงว่า ตนเองเรี่ยไรเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือน้ำท่วมมาตั้งแต่น้ำท่วมพิษณุโลก ซึ่งได้เงินประมาณ1ล้านบาท

ซึ่งเราก็ได้มอบให้กับชาวบ้าน ก็จบแต่เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเงินบริจาคจะมีเข้ามาสูงถึง422ล้านบาทเพราะตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพียงแค่เชิญชวนคนมาบริจาค โดยเป็นการทำที่บริสุทธิ์ใจ และไม่มีเจตนาที่จะกระทำผิด ซึ่งเรามีเอกสาร และหลักฐานทุกอย่างเกือบ50ลังใหญ่ ซึ่งใครอยากจะตรวจสอบไปที่บริษัทผม เพื่อตรวจสอบเรื่องเงินบริจาคได้

คุณบิณฑ์ ออกมาชี้แจงหลังนายบุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ ปลัดอำเภอแม่ริม ได้นำเอกสารหลักฐานเข้าพบ พ.ต.ท.ขจร เรือนคำ สารวัตรสอบสวน เพื่อให้ปากคำคดีนายฌอน บูรณะหิรัญ ไลฟ์โค้ชชื่อดัง เปิดรับบริจาคช่วยเหลือจิตอาสาดับไฟป่าดอยสุเทพ โดยไม่ได้รับอนุญาต เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน ผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คอมพิวเตอร์ เพื่อประกอบสำนวนคดีดังกล่าวเพิ่มเติม

นายบุญญฤทธิ์ บอกว่า กรณีนายบิณฑ์ เปิดรับบริจาคหรือเรี่ยไรช่วยเหลือประชาชนประสบอุทกภัย และผู้ที่เดือดร้อนจากปัญหาทางสังคม มีลักษณะคล้ายกับคดีฌอน เบื้องต้นตรวจสอบไม่พบว่ามีการขอบริจาคหรือเรี่ยไรอย่างใด เท่าที่ติดตามพบว่ามีผู้บริจาครวมกว่า422ล้านบาท ซึ่งนายบิณฑ์และคณะนำเงินบริจาคไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี คนละ5,000บาทมาก่อน

แต่มีผู้ร้องเรียนขอให้มีการตรวจสอบเงินบริจาคดังกล่าว โดยไปแจ้งความไว้ที่ สภ.เมืองอุบลราชธานี เป็นหลักฐานแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ประสานงานเพื่อขอข้อมูลเรื่องดังกล่าวด้วยทั้งนี้ นายบุญญฤทธิ์ บอกว่า หากเทียบคดีบิณฑ์กับฌอนไม่แตกต่างกัน เพราะเปิดรับบริจาคโดยไม่ได้รับอนุญาต เข้าข่ายยักยอกหรือฉ้อโกงมหาชน และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่สร้างมูลค่าความเสียหายมากกว่า เนื่องจากมีผู้บริจาคจำนวนมาก

ที่สำคัญ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้คดีนายฌอน เป็นแนวทางปฏิบัติกับคดีนายบิณฑ์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันงานนี้ต้องเรียกว่า กลายเป็นความผิดขึ้นมา เรื่องเล็กน้อยที่เกิดลากเอาว่า ขอดูบัญชี ขอทำอะไรต่างๆ เรื่องของเรื่องเขาเรียกกันว่า น้ำผึ้งหยดเดียวก็ได้ เรื่องมันเกิดไม่ได้มากมาย แต่ว่า ขยายมันใหญ่ มีโทษ มีทัณฑ์ มีความผิดกันขึ้นมา กลายเป็นเรื่องให้บอกกันรู้ว่า ต่อแต่นี้ใครจะทำอะไรต้องนึกถึงกฎหมายบ้านเมือง

มิฉะนั้นแล้วจะต้องมีพวกที่มีความตั้งใจทำดี ซึ่งทำดีก็ต้องให้ถูกดี พอดี ไม่อย่างนั้นดีซ่าน ดีแตก หรือว่า ความดีเป็นพิษ หรือมีบางคนบอกว่า ปิดทองหลังพระ ทำบุญได้โทษ ทำดียุคนี้มันไม่ใช่เหมือนก่อน มีย้อนเกล็ด บางคนผิดนิดก็มีการขยายผล ไปๆมาๆ ผลดีงามที่ทำไว้ ช่วยเหลือเจือจางเกิดมีการตั้งข้อสงสัยว่า ทำดีได้ดีมีจริงไหม ทำชั่วได้ดีมีถมไปอะไรทำนองนี้ เรียกว่า เกิดความรู้สึกสงสัยความดีขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้รู้เถอะ ความดี ไม่ได้แปลว่า ต้องได้ผลดีหรอก มันดีตั้งแต่ที่คิดจะทำ พอลงมือทำก็ยิ่งดี ทำเสร็จนิสัยดีก็ติดตามตัวไป เพราะฉะนั้น ไม่ต้องสงสัยว่า ทำดี ไม่ได้ดี ทำดี ได้ดี มันจริงหรือเปล่า ของดีๆอย่างนี้ อย่าไปสร้างความสับสน อย่าไปทำให้ความดีต้องถูกตีตราว่า ดีไม่แน่นอน ดีให้ผลเลวร้ายกลายเป็นคดี ก็ต้องดูกฎหมายบ้านเมืองให้ดีๆ จะทำอะไร ขั้นตอนเขาว่า ยังไง ต้องได้รับอนุญาต เราก็ไปขออนุญาต จะได้ไม่เป็นปัญหาแบบคุณบิณฑ์ต่อไป ต้องเรียกกันว่า เป็นบทเรียนก็แล้วกัน

 

เจริญพร


You must be logged in to post a comment Login