วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

ใครตั้ง FIABCI ในประเทศไทย

On October 20, 2020

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 23 -30 ต.ค. 2563)

สหพันธ์อสังหาริมทรัพย์สากล หรือ FIABCI เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไร และมีบทบาทสร้างสรรค์ต่อวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยอย่างไรบ้าง

FIABCI เป็นชื่อย่อตามภาษาฝรั่งเศส หรือแปลเป็นอังกฤษว่า International Real Estate Federation ซึ่งเป็นสหพันธ์อสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสมาชิกถึง 70 ประเทศทั่วโลก ที่สำคัญเป็นศูนย์รวมของนักอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท เช่น นักพัฒนาที่ดิน นายหน้า ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ผู้บริหารทรัพย์สิน หรือนักวิชาชีพอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ที่รวมกันเป็นสหพันธ์หรือสมาคมที่มีขนาดใหญ่และมีกิจกรรมต่อเนื่องเชื่อมต่อในระดับโลก ในประเทศไทยก็มี FIABCI-Thai โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นนายกสมาคมอยู่ในขณะนี้

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 FIABCI-Thai ได้จัดงานกาล่าดินเนอร์ FIABCI-Thai Prix D’Excellence Awards 2020 ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ รัชดา โดยมีนายจำเริญ โพธิยอด รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานมอบรางวัล ร่วมกับ ดร.โสภณ พรโชคชัย นายกสมาคม FIABCI-Thai และมีโครงการอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภททั้งในกรุงเทพฯและทั่วประเทศได้รับรางวัลมากมายราว 30 รางวัล

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ FIABCI ที่เกิดขึ้นมาราว 70 ปีก่อนนั้น เข้ามาในประเทศไทยอย่างไร อันที่จริง FIABCI เข้ามาตั้งแต่ 40 ปีก่อนแล้ว โดยมีหลักฐานอย่างหนึ่งก็คือ นายสุขุม ถิระวัฒน์ อดีตนายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับที่ดินเคหะและการก่อสร้าง ที่ก่อตั้งตั้งแต่ก่อนปี 2520 เป็นบุคคลหนึ่งที่ก่อตั้ง FIABCI ไทยเป็นคนแรก เพราะท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ Medal of Honor ในนามของ FIABCI-Thai ในปี 2526 <1> ในวัย 72 ปี หรือราว 37 ปีก่อนหน้านี้ นายสุขุมปัจจุบันวายชนม์ไปแล้ว ซึ่งถ้ายังมีชีวิตอยู่วันนี้ก็จะมีอายุถึง 109 ปีเลยทีเดียว และคนไทยอีกคนหนึ่งที่ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรตินี้ก็คือ ดร.โสภณ ที่ได้รับในปี 2549

อย่างไรก็ตาม FIABCI-Thai ได้ขาดหายไประยะหนึ่ง ผู้ร่วมก่อตั้งท่านหนึ่งให้ความเห็นว่าสมาคมนี้เป็นสมาคมใหญ่มาก ไปประชุมแต่ละทีมีคนไปนับพันคน ทำให้การจะไปเชื่อมต่อกับใครคงจะไม่ได้รายละเอียดอะไรมากนัก ประกอบกับช่วงนั้นมีสมาคม ASEAN Association of Planning and Housing (AAPH) ซึ่งเชื่อมต่อนักพัฒนาที่ดินในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ยิ่งกว่านั้นการไปประชุมนานาชาติทั่วประเทศในยุคนั้นคงเสียค่าใช้จ่ายกันมากพอสมควร กิจกรรมของ FIABCI จึงขาดตอนไป

ในปี 2547 มีความพยายามในการจัดตั้ง FIABCI-Thai ขึ้นมาอีก คราวนั้น ดร.โสภณ และนายประยูร ดำรงชิตานนท์ ได้ร่วมกันก่อตั้ง และได้ไปประชุม FIABCI โลกร่วมกันที่นครฮูสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย ดร.โสภณเป็นผู้ขึ้นไปรับธงแต่งตั้ง FIABCI-Thai และในปีนั้นก็ได้มีการก่อตั้ง FIABCI-Thai ขึ้นมาใหม่ โดยเรียนเชิญ รศ.มานพ พงศทัต เป็นนายกสมาคม และยังมีนางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าข้ามชาติรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งเข้าร่วมด้วย แต่สมาชิกก็ยังมีน้อย และไม่ค่อยมีกิจกรรมต่างๆมากนัก

หลังจากการก่อตั้งและเชิญ รศ.มานพมาเป็นนายกสมาคมแล้ว ดร.โสภณก็เคยเสนอให้ตำแหน่งนายกสมาคม FIABCI-Thai นี้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ เพื่อให้สมาคมที่เกี่ยวข้องกับวงการอสังหาริมทรัพย์ได้มีส่วนร่วมในการนำสมาคม ให้สมาคมเป็นของทุกภาคส่วน ดร.โสภณเองก็ปล่อยให้ รศ.มานพและนายประยูรเป็นผู้บริหารสมาคมไป อย่างไรก็ตาม สมาคมก็ยังมีสมาชิกจำนวนจำกัด และไม่อาจจ่ายค่าสมาชิกแก่ FIABCI โลกต่อไป

ในปี 2560 FIABCI โลก ติดต่อให้ ดร.โสภณกลับมาฟื้นฟู FIABCI-Thai ขึ้นมาใหม่ โดยไปรับธงแต่งตั้ง ณ ประเทศอันดอร์รา <3> ซึ่งมีการจัดประชุม FIABCI World Congress หลังจากนั้นมา ดร.โสภณก็ส่งทั้งเทียบเชิญ/อีเมล์เชิญสมาชิกเก่าให้มาร่วมเป็นสมาชิกของ FIABCI-Thai ใหม่นี้ และ FIABCI-Thai ก็ได้มีกิจกรรมต่างๆเรื่อยมาอย่างสม่ำเสมอ เช่น พาคณะไปประชุม สัมมนา ดูงานในต่างประเทศเป็นระยะๆ เพื่อให้ FIABCI-Thai เป็นเสมือนหน้าต่างโลกสำหรับนักพัฒนาที่ดินและนักวิชาชีพด้านอสังหาริมทรัพย์ที่สนใจจะขยายการดำเนินงานในต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการไปต่างประเทศนั้นเป็นการกระจายความเสี่ยง เป็นการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ และถือเป็นการสร้างแบรนด์สำหรับการเป็นบริษัทข้ามชาติในอนาคต

กิจกรรมสำคัญประการหนึ่งก็คือ การจัดงานประกวด FIABCI-Thai Prix D’Excellence Awards ซึ่งจัดขึ้นมาเป็นปีที่ 2 แล้ว และในปี 2564 จะจัดเป็นปีที่ 3 โดย FIABCI-Thai จัดประกวดโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ทุกประเภท ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาคารมรดกทางศิลปวัฒนธรรม แผนแม่บทการพัฒนาโครงการ โครงการสาธารณูปโภคภาครัฐ อาคารเฉพาะเจาะจง โครงการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้น ที่สำคัญก็คือ โครงการที่ผ่านการประกวดเหล่านี้จะสามารถเข้าไปประกวดโครงการในระดับโลกเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

ในขณะที่ประเทศในยุโรปและอเมริกาไม่สามารถจัดกิจกรรมต่างๆได้ แต่ FIABCI-Thai ก็ยังสามารถจัดงานกาล่าดินเนอร์เพื่อประกาศเกียรติคุณโครงการที่ชนะเลิศการประกวด FIABCI-Thai Prix D’Excellence Awards 2020 ทั้ง 30 รางวัลได้ โดยมีมาตรการดูแลอย่างดี เช่น การตรวจอุณหภูมิ การฉีดละอองฆ่าเชื้อ และอื่นๆ การที่ประเทศไทยเป็นประเทศเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่สามารถจัดงานกาล่าดินเนอร์นี้ได้ก็เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประเทศอื่นต่อการเข้ามาประกอบธุรกิจหรือท่องเที่ยวในประเทศไทยได้

ความดีของการดำรงอยู่ของ FIABCI-Thai ในวันนี้คงต้องยกให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน และต่อไปนี้ FIABCI จะพยายามเชื่อมต่อไทยและเทศด้านอสังหาริมทรัพย์ให้กว้างขวางที่สุดเพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วน

 

อ้างอิง

<1> FIABCI Medal of Honor. https://fiabci.org/en/medal

<2> ภาพข่าวการร่วมงาน FIABCI World Congress, Houston. https://www.area.co.th/thai/corporate/co_previews.php?strquey=co_activ43.htm

<3> ดร.โสภณได้รับแต่งตั้งประธาน FIABCI ประเทศไทย. AREA แถลง ฉบับที่ 216/2560: วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2560. https://bit.ly/2regQka


You must be logged in to post a comment Login