วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ของขวัญวันครอบครัวที่ไม่ต้องซื้อหาในวิกฤติโควิด-19

On April 14, 2020

เทศกาลสงกรานต์ทุกปี เราจะเห็นผู้คนเดินทางกลับบ้านเกิด เพราะมีวันหยุด กลับไปเยี่ยมครอบครัว เยี่ยมญาติผู้ใหญ่ เพื่อแสดงความกตัญญู จึงถือกันว่าวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว แต่สงกรานต์ปีนี้เกิดภาวการณ์ไวรัสโควิค-19 รัฐบาลมีมาตรการ Social Distancing รวมถึงได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน สั่งปิดสถานที่เสี่ยง ให้ประชาชน เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุอยู่บ้าน

มาตรการให้ประชาชนอยู่บ้านเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดการระบาดของโรคแต่ก็ส่งผลให้เกิดปัญหาความรุนแรงในบ้านได้ โดยอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผย สถิติความรุนแรงในครอบครัว ช่วงไวรัสโควิค-19 เพิ่มขึ้น มีผู้โทรศัพท์เข้ามาสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เดือนมี.ค. 63 มีทั้งสิ้น 154 รายเพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. 63 ที่มีจำนวน 144 ราย ซึ่งสอดคล้องกับถานการณ์ปัญหาจากข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้รวบรวม พบกรณีข่าวสามี อายุ 53 ปีชวนเพื่อนมานั่งสังสรรค์ดื่มเหล้าบริเวณหน้าบ้านตั้งแต่เย็นกระทั่งดึก ภรรยา อายุ 39 ปีด้วยความเป็นห่วงเพราะรู้สึกว่าช่วงนี้เกิดโรคระบาดรุนแรง จึงเดินออกไปเรียกเข้าบ้านเกิดการทะเลาะกันและลงไม้ลงมือทำร้ายกันจนสามีเสียชีวิต หรือกรณีข่าวสามี อายุ 66 ปีอยู่กินกับภรรยา อายุ 62 ปี มาหลายสิบปี มีการทะเลาะเบาะแว้งกันมาโดยตลอด โดยล่าสุดมีการทะเลาะกันประเด็นห้ามสามีออกจากบ้าน เพราะสามีไม่ยอมใส่หน้ากากอนามัย หลังมีปากเสียงกันสามีขู่จะยิงตัวตาย และได้หนีไปอยู่บ้านลูกชายคาดว่าสามีมีภาวะความเครียด จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย

รวมถึงจากการให้คำปรึกษาของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบกรณี สามีอายุ 27 ปี ภรรยาอายุ 32 ปี ทั้งสองอยู่ด้วยกันประมาณ 9 เดือน สามีมีปัญหาความหึงหวงภรรยา ดุด่าและทำร้ายร่างกายภรรยาด้วยการตบตีถึง 9 ครั้ง  เธอตัดสินใจจะเลิกกับสามี และไม่กล้ากลับไปที่ห้องพัก เพราะกลัวสามีจะทำร้าย และต้องการกลับไปบ้านที่ต่างจังหวัด แต่ในช่วงภาวะโรคระบาดทำให้ไม่มีเงินมากพอ ที่จะใช้จ่ายในการเดินทางและประกอบกับไม่มีรถโดยสารให้เดินทางกลับบ้านได้

หลายๆกรณีสะท้อนให้เห็นว่า การปลูกฝังหญิงและชายที่ต่างกันนำมาสู่ปัญหาความรุนแรงในบ้านที่เรื้อรังและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงโรคระบาดที่ทุกคนต้องอยู่ในบ้านร่วมกัน ผู้ชายหลายคนไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ในการเข้าสังคมเพื่อนที่ต้องดื่มสังสรรค์ทั้งในบ้านและนอกบ้าน การเที่ยวกลางคืน หรือการเล่นการพนันในบ่อน ส่งผลทำให้สถิติการติดเชื้อโรคระบาดของผู้ชายมีจำนวนมากกว่าผู้หญิง เช่น กลุ่มจากสนามมวย บาร์ ผับ เป็นต้น

ซึ่งจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้หญิงอาชีพแม่บ้าน ติดโรคจากบุคคลในครอบครัว ความสัมพันธ์ดังกล่าวส่งผลกระทบกับผู้หญิงทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจเมื่อถูกใช้ความรุนแรงในบ้าน ผู้หญิงหลายคนไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้ หลายคนไม่กล้าออกมาจากบ้านหรือเข้ามาขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทั้งโรงพยาบาล สถานีตำรวจในการดำเนินคดี เพราะความกังวลต่อความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส ปัญหาการเดินทาง รวมถึงหลายคนประสบปัญหาการตกงาน ไม่มีรายได้

สถานการณ์ความรุนแรงในบ้านไม่ใช่เกิดเฉพาะในครอบครัวที่มีภาวะความเปราะบางอยู่แล้วแต่อาจเกิดขึ้นในครอบครัวที่มีภาวะปกติ เพราะมีความเครียด ความกดดัน จากสภาวะเศรษฐกิจมากระตุ้น  ในสถานการณ์นี้หากได้คิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและมองหาโอกาส  ท่ามกลางความยากลำบากนี้  ก็จะพบว่า  เรายังสามารถมอบของขวัญอันมีค่าให้แก่ครอบครัวได้  โดยไม่ต้องใช้เงินทองในการซื้อหา  หรือการออกไปดิ้นรนเพื่อให้ได้มา ลองคิดถึงวิธีการเหล่านี้ดู

1. ช่วยแบ่งเบาภาระงานในบ้าน  โดยยึด “การเห็นอกเห็นใจกัน” ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการลดปัญหาความรุนแรงในบ้านได้  ยิ่งช่วงนี้มีการปิดโรงเรียนและสถานเลี้ยงเด็ก ครอบครัวจึงต้องนำบุตรหลานมาดูแลเองทำให้ผู้หญิงต้องรับภาระเพิ่มขึ้นจากงานประจำวัน เช่น ภาระงานในบ้าน ซักผ้า ถูบ้าน ทำกับข้าว งานดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงงานที่ต้องทำแบบ Work from home ของขวัญชิ้นนี้หากค่อยๆลองทำดู  จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าอย่างชัดเจน

2. หลายคนมีความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งการสูบบุหรี่ ยาเสพติด เล่นการพนันและดื่มเหล้าเป็นประจำ โดยเฉพาะการดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดปัญหาความรุนแรงในบ้าน หากใช้โอกาสนี้ในการลดละเลิกอบายมุข นอกจากดีต่อสุขภาพ ลดโอกาสและความเสี่ยงในการติดเชื้อ  ต่อตัวเองและอาจนำมาสู่ลูกเมียแล้ว  ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย  เพื่อสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

3. การใช้ภาษาพูดและภาษากายที่แสดงออกถึงความรัก  ความมีสติ  การให้กำลังใจกันและกัน  รู้จักขอโทษ  ขออภัย  ลดอารมณ์ฉุนเฉียวหงุดหงิด   ใช้เป็นโอกาสในการทบทวนอดีตที่ผ่านมาและปรับจูนให้เกิดความสมดุลในครอบครัว   เพื่อให้เราก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้

ทั้งสามข้อที่กล่าวมานั้น จะเห็นว่าไม่มีข้อใดเลยที่ใช้เงินทอง  หรือความยากลำบากในการดิ้นรนให้ได้มา  เพียงแค่เราปรับใจ  ลดกำแพงที่ขวางกั้นลง  เรียนรู้กันและกันให้มากขึ้นอีก  นั่นคือของขวัญอันล้ำค่าที่สามารถมอบให้ครอบครัวได้ท่ามกลางวิกฤตไวรัสโควิด-19 และให้เชื่อมั่นว่าเราก็ทำได้


You must be logged in to post a comment Login