- กลืนเลือดไม่ให้เสียใจPosted 1 day ago
- ระลึกถึงพ่อหลวง ร.9Posted 2 days ago
- 5 ธ.ค.วัดสวนแก้วแตกแน่Posted 3 days ago
- จะกลับมาแบบไหนPosted 4 days ago
- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 4 days ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 4 days ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 4 days ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 4 days ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 5 days ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 1 week ago
ล่าขุมทรัพย์ขั้วโลกเหนือ
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 22-29 พฤศจิกายน 2562)
รัสเซียส่งทีมสำรวจไปยังขั้วโลกเหนือเพื่อตามล่าหาขุมทรัพย์ที่ฝังอยู่ใต้หิมะนานเกือบร้อยปี เป็นขุมทรัพย์ที่ตีราคาเป็นตัวเงินไม่ได้เพราะมันไม่มีมูลค่า เนื่องจากเป็นเพียงแค่เสบียงอาหารของนักสำรวจรุ่นก่อนเท่านั้น
ปี 1886 ขณะที่บารอน เอดูอาร์ด ฟอน ทอลล์ นักธรณีวิทยาชาวเยอรมัน สำรวจเกาะนิวไซบีเรียนไอแลนด์ เขามองไปที่ทิศเหนือ พุ่งสายตาไปยังท้องทะเลอันเวิ้งว้างของมหาสมุทรอาร์กติก เขามั่นใจว่าได้เห็นเกาะลึกลับกลางมหาสมุทร มันจะเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกเสียจากจะเป็นเกาะปิศาจ “แซนนิคอฟแลนด์” ที่ปรากฏอยู่ในตำนาน
เอดูอาร์ดคิดในใจว่าเขาคงนอนตายตาไม่หลับหากยังไม่ได้ย่างเท้าลงบนแผ่นดินในตำนานแห่งนี้ เขาโน้มน้าวรัฐบาลรัสเซียเพื่อขอเงินทุนสนับสนุนการค้นหาแซนนิคอฟแลนด์ จนกระทั่งประสบความสำเร็จในปี 1900 สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซียยอมออกเงินทุนและจัดหาลูกทีมสำรวจให้
ไม่ถึงสักที
ระหว่างเดินทางเรือซาร์ยาประสบปัญหามากมาย ตั้งแต่การนำร่องสับสน ถ่านหินที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงมีไม่เพียงพอ กระแสลมแปรปรวน คลื่นสูงจนน้ำทะเลสาดเข้าในตัวเรือ เผชิญพายุหิมะ ขาดแคลนอาหารสำหรับสุนัขลากเลื่อน ลูกเรือเป็นโรคขาดสารอาหาร แพทย์ประจำทีมสำรวจเสียชีวิต มีความขัดแย้งระหว่างเอดูอาร์ดกับกัปตันเดินเรือ และที่เลวร้ายที่สุดคือเรือติดอยู่ในธารน้ำแข็ง
แต่ถึงกระนั้นเอดูอาร์ดและทีมนักวิทยาสตร์ก็ไม่ยอมเสียโอกาสที่จะหาอะไรทำให้เป็นประโยชน์ พวกเขาออกสำรวจขั้วโลกเหนือและเกาะแก่งที่ยังไม่เคยมีใครมาสำรวจ เก็บตัวอย่างฟอสซิลและพันธุ์พืช ในช่วงเวลานี้ทีมสำรวจได้ฝังเสบียงอาหารไว้ใต้หิมะเพื่อให้ความเย็นเก็บถนอมรักษาอาหารไม่ให้บูดเน่า
ดูเหมือนว่าพวกเขายังอยู่ห่างจากแซนนิคอฟแลนด์อีกไกลโข หลังจากเวลาผ่านไป 19 เดือน เอดูอาร์ดก็ได้รับโทรเลขจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซียบอกให้รีบเร่งมือได้แล้ว และขอให้เดินทางกลับทันทีที่หมดฤดูร้อน
เดือนพฤษภาคม 1902 สถานการณ์แย่ลงไปอีกเมื่อเรือซาร์ยาถูกล็อกท่ามกลางธารน้ำแข็ง ไม่สามารถขยับไปไหนได้ เอดูอาร์ดและคนนำทางพร้อมกับลูกเรือ 2 คน นำสุนัขลากเลื่อนเดินทางฝ่าหิมะไปยังตอนเหนือของเกาะเบนเน็ตด้วยความหวังว่าจะได้พบเส้นทางที่ใช้เดินทางต่อไปยังแซนนิคอฟแลนด์ได้
อยู่ก็ตาย ไปก็ไม่รอด
เอดูอาร์ดสำรวจเกาะเบนเน็ตนานกว่า 3 เดือน แต่ไม่มีวี่แววว่าจะพบเส้นทางไปยังแซนนิคอฟแลนด์ เสบียงร่อยหรอจนต้องล่าหมีขั้วโลกมาเป็นอาหาร เอดูอาร์ดตัดสินใจกลับมาที่เรือซาร์ยาเพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับแผ่นดินใหญ่ตามที่สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซียต้องการ แต่เรือซาร์ยายังคงถูกล็อกอยู่ในธารน้ำแข็ง ไม่สามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนตัวไปไหนได้
เดือนตุลาคมสถานการณ์ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง เอดูอาร์ดเล็งเห็นว่าสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซียไม่สามารถส่งทีมกู้ภัยมาช่วยเหลือได้ แต่จะรอจนกว่าสภาพอากาศเอื้ออำนวยก็อาจมีชีวิตรอดไม่ถึงวันนั้น เอดูอาร์ดตัดสินใจพาลูกทีมเดินทางลงทางใต้ของเกาะพร้อมกับเรือคายัค ยอมเสี่ยงตายพายเรือเล็กฝ่าธารน้ำแข็งมุ่งหน้าสู่เกาะนิวไซบีเรียนไอแลนด์ และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้รับข่าวสารจากทีมสำรวจ
แม้ว่าการค้นหาแซนนิคอฟแลนด์ของเอดูอาร์ดจะล้มเหลว แต่อย่างน้อยความพยายามครั้งนั้นสร้างชื่อเสียงและแรงบันดาลใจให้กับนักสำรวจรุ่นหลัง สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซียยังคงมอบเงินทุนสนับสนุนให้กับทีมสำรวจเพื่อค้นหาแซนนิคอฟแลนด์จนถึงทศวรรษ 1930
เปิดแผนที่ขุมทรัพย์
ปี 1959 เอ็มมิลิน ภรรยาม่ายของเอดูอาร์ด ตัดสินใจนำไดอารีบันทึกการเดินทางสำรวจของอดีตสามีออกตีพิมพ์เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักสำรวจขั้วโลกเหนือรุ่นใหม่ ตอนหนึ่งในบันทึกการเดินทางบรรยายว่า ช่วงต้นการเดินทางเอดูอาร์ดได้ฝังเสบียงอาหารไว้ใต้พื้นหิมะบนคาบสมุทรไทมีร์เมื่อเดือนกันยายน 1900
บันทึกของเอดูอาร์ดบรรยายตำแหน่งที่ฝังเสบียงว่า ได้ขุดชั้นหิมะและน้ำแข็งบนจุดที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 5 เมตร เพื่อฝังเสบียงอาหารประกอบด้วย ซุปกะหล่ำปลี 48 กระป๋อง ขนมปังกรอบแข็งไรย์ 15 ปอนด์บรรจุในกล่องดีบุก ข้าวโอ๊ต 15 ปอนด์บรรจุในกล่องดีบุก น้ำตาล 4 ปอนด์ ช็อกโกแลต 10 ปอนด์ ใบชา 7 แผ่นใหญ่ และใบชา 1 แท่ง บรรจุรวมกันในกล่องปิดผนึกแน่นหนา
แม้ว่าเอดูอาร์ดปักไม้กางเขนทำเครื่องหมายเหนือหลุมฝังเสบียงอาหาร แต่การบรรยายตำแหน่งค่อนข้างคลุมเครือ การค้นหาตำแหน่งฝังเสบียงจึงแทบเป็นไปไม่ได้ ประกอบกับคาบสมุทรไทมีร์มีหิมะปกคลุมเกือบทั้งปี การค้นหาหลุมฝังเสบียงจึงยากพอๆกับการค้นหาแซนนิคอฟแลนด์
การค้นพบที่ยิ่งใหญ่
ปี 1973 ดมิทรี ชปาโร นักสำรวจสมัครเล่น จัดตั้งทีมสำรวจขั้วโลกเหนือโดยใช้สกีหิมะ เขาได้รับเงินทุนสนับสนุนจากหนังสือพิมพ์ Young Communist League (YCL) ทีมสำรวจประกอบด้วยสมาชิกสมาคมวิทยาศาสตร์และกีฬา
เดือนกรกฎาคม 1973 เฮลิคอปเตอร์นำทีมสำรวจมาส่งที่คาบสมุทรไทมีร์ ทีมสำรวจได้รับมอบหมายให้บรรจุการค้นหาหลุมฝังเสบียงอาหารของเอดูอาร์ดเป็นหนึ่งในภารกิจ เวลาผ่านไปหลายชั่วโมงทีมสำรวจพบกองหินที่มีตะไคร่ปกคลุมหนาและมีท่อนไม้ปักอยู่กลางกองหิน แต่ความมืดเข้ามาเยือนเสียก่อน
เช้าวันรุ่งขึ้นทีมสำรวจกลับมาที่กองหินอีกครั้ง ใช้แท่งดินสอถูไปมาบนท่อนไม้จนปรากฏตัวอักษร “Zarya Cache : 1900” เป็นที่แน่ชัดว่ามันคือตำแหน่งที่เอดูอาร์ดฝังเสบียงอาหาร พวกเขาช่วยกันโกยก้อนหินออกและใช้พลั่วขุดลงไปจนกระทั่งพลั่วกระทบกับวัตถุบางอย่างที่เป็นโลหะ
ดมิทรีนำกล่องบรรจุข้าวโอ๊ตและกล่องบรรจุขนมปังกรอบแข็งไรย์ส่งกลับไปมอสโก สถาบันวิจัยบรรจุภัณฑ์ทดสอบคุณภาพอาหารพบว่ายังสามารถใช้บริโภคได้แม้จะถูกฝังอยู่นานถึง 73 ปีแล้วก็ตาม หมายถึงต่อไปนี้สามารถใช้ประโยชน์ของพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปีเก็บรักษาอาหารให้กับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังดินแดนที่ห่างไกลโดยไม่จำเป็นต้องขนเสบียงจำนวนมากไปด้วย
ปี 1974 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารแห่งรัสเซียให้เงินทุนทีมสำรวจเดินทางกลับไปยังหลุมฝังเสบียงของเอดูอาร์ดอีกครั้ง คราวนี้ให้นำซุปกะหล่ำปลีกระป๋องขึ้นมาจากหลุม 34 กระป๋อง ที่เหลืออีก 14 กระป๋อง ให้แยกฝังเป็น 3 หลุม ปักป้ายเหนือหลุม 1980, 2000 และ 2050 หมายความว่าให้ขุดขึ้นมาในปีต่างๆตามป้าย
จากการค้นพบครั้งนี้ได้มีการต่อยอดทดลองนำอาหารประเภทต่างๆไปฝังในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งเป็นเวลานาน เช่นพบว่าความหนาวเย็นทำให้ใบชาแห้งกรอบมีรอยแตก ส่งผลให้มีรสชาติดีขึ้น เหล้าวอดก้ามีความนุ่มนวลกว่าเดิมและมีรสชาติดีขึ้น และยังพบว่าเมล็ดพันธุ์พืชสามารถนำกลับมาเพาะปลูกได้
การวิจัยอาหารที่ถูกเก็บรักษาในสภาวะอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งเป็นเวลานาน จุดประสงค์ไม่ได้ต้องการรู้ว่าอาหารยังคงมีรสชาติเหมือนเดิมหรือไม่ แต่ต้องการรู้ว่ามีรสชาติเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เนื่องจากพื้นที่ 65% ของประเทศรัสเซียมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง การค้นพบครั้งนี้จะช่วยให้ชาวรัสเซียสามารถเก็บถนอมอาหารได้เป็นเวลายาวนานโดยวิธีธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีโดยไม่จำเป็น
1.บารอน เอดูอาร์ด ฟอน ทอลล์
2.เรือซาร์ยาติดอยู่ในธารน้ำแข็ง
3.เอดูอาร์ดและทีมสำรวจขั้วโลกเหนือ
4.กระดาษห่อช็อกโกแลต
5.กล่องบรรจุซุปกะหล่ำปลีกระป๋องถูกดึงขึ้นจากหลุม
6.นักสำรวจเก็บตัวอย่างซุปกะหล่ำปลีกระป๋องเมื่อปี 1980
7.ซุปกะหล่ำปลีกระป๋องของเอดูอาร์ด
8.ซุปกะหล่ำปลีกระป๋องถูกแยกฝัง 3 กล่อง
9.นักวิทยาศาสตร์ทดลองฝังอาหารเลียนแบบวิธีของเอดูอาร์ด
10.เมล็ดพันธุ์พืชยังคงสามารถนำมาเพาะปลูกได้หลังจากถูกฝังนานหลายปี
You must be logged in to post a comment Login