วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

อิสลามปฏิรูปการแต่งงานของชาวอาหรับ

On October 18, 2019

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 18-25  ตุลาคม 2562)

ครอบครัวเป็นพื้นฐานของสังคม ถ้าครอบครัวมั่นคง สังคมก็เข้มแข็ง แต่ถ้าครอบครัวแตกสลาย สังคมย่อมพังทลายในที่สุด ด้วยเหตุนี้ทุกวัฒนธรรมจึงมีกฎเกณฑ์ในการเริ่มต้นสร้างครอบครัวด้วยการแต่งงาน และวางกฎเกณฑ์ที่เป็นข้อห้ามบางอย่างไว้ในการแต่งงาน

ในลัทธิพราหมณ์ก่อนหน้าสมัยพุทธกาลมนุษย์ถูกแบ่งออกเป็น 4 วรรณะ การแต่งงานข้ามวรรณะเป็นสิ่งต้องห้าม หากมีการฝ่าฝืน ลูกที่เกิดจากการแต่งงานข้ามวรรณะถือเป็นคนจัณฑาลที่สังคมไม่ยอมรับและถูกเหยียดหยามว่าเป็นสิ่งสกปรก แม้แต่เงาของคนจัณฑาลหากโดนบ่อน้ำผู้คนก็ถือว่าบ่อน้ำนั้นสกปรก

ชาวยิวก็มีกฎห้ามชาวยิวแต่งงานกับคนที่ถูกเรียกว่า “คนต่างชาติ” ซึ่งหมายถึงคนต่างศรัทธาหรือต่างศาสนา แต่ต่อมาเมื่อชาวยิวเริ่มรู้สึกว่าเผ่าพันธุ์ของตนเป็นชนชาติที่เหนือกว่าชนชาติอื่น คนต่างชาติจึงหมายถึงคนที่ไม่ได้มีเชื้อสายยิว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาเผ่าพันธุ์ของตนเองไว้ให้บริสุทธิ์

ในอิสลามก็มีข้อจำกัดบางอย่างในการแต่งงานเช่นกัน

เมื่อนบีมุฮัมมัดอพยพออกจากเมืองมักก๊ะฮฺมายังเมืองมะดีนะฮฺ ท่านจำเป็นต้องสร้างสังคมใหม่ที่วางพื้นฐานอยู่บนความศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว และคนที่อพยพมากับท่านด้วยนั้นส่วนใหญ่แล้วมีครอบครัวด้วยกันทั้งสิ้น แต่สามีภรรยาในบางครอบครัวมีความศรัทธาต่างกัน นั่นคือฝ่ายหนึ่งยังเคารพกราบไหว้เทวรูป และอีกฝ่ายหนึ่งศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวและถือว่าการกราบไหว้รูปปั้นเป็นบาปใหญ่

เพื่อมิให้ความเชื่อที่ต่างกันเป็นเหตุหนึ่งที่สร้างความร้าวฉานและทำให้ครอบครัวเกิดความแตกแยก ท่านนบีได้รับบัญชาจากพระเจ้าว่าครอบครัวของมุสลิมจะต้องประกอบด้วยสามีและภรรยาที่มีความศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวกัน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประสงค์ที่จะกราบไหว้เทวรูปอื่นๆก็ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยากับคู่ครองที่มีความศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวได้ หากอยู่ร่วมกันไปถือเป็นการผิดประเวณี

ดังนั้น ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่เคยเคารพกราบไหว้เทวรูปในมักก๊ะฮฺสมัครใจที่จะศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวและต้องการจะใช้ชีวิตครอบครัวกับคู่ครองมุสลิม ทั้งสองฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันต่อไปได้โดยไม่ต้องมีพิธีการแต่งงานใหม่ แต่ถ้าไม่สมัครใจที่จะศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวก็ต้องแยกทางกันไป

marriage of arabs

ดังนั้น ในอิสลามความศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญประการแรกในการแต่งงานเพื่อเริ่มต้นครอบครัว ไม่ใช่วรรณะ เชื้อสาย และเผ่าพันธุ์

ความจริงแล้วอิสลามส่งเสริมการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์เชื้อสายเสียด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นการลดความรู้สึกทะนงในเชื้อสายและการเหยียดผิวชังพันธุ์ นอกจากนั้นลูกที่ออกมาจากการแต่งงานข้ามเชื้อสายยังมีลักษณะเด่นอีกด้วย ผิดกับการแต่งงานในเชื้อสายใกล้ชิดที่ลูกออกมามักมีลักษณะด้อย

เงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีการปฏิรูปโดยนบีมุฮัมมัดคือ ทรัพย์สินที่ผู้ชายมอบให้ฝ่ายหญิงเพื่อการแต่งงาน ทรัพย์สินนี้เรียกว่า “มะฮัรฺ” (อ่านว่ามะฮัด) ซึ่งอาจเป็นเงิน ทองคำ หรือสิ่งใดก็ได้ที่เจ้าสาวมีสิทธิ์เรียกร้องต้องการ แต่นบีมุฮัมมัดแนะนำว่ามะฮัรฺที่ดีที่สุดคือมะฮัรฺที่ผู้ชายสามารถหามาได้โดยสะดวก เพื่อทำให้การแต่งงานเป็นเรื่องง่าย และการผิดประเวณีเป็นเรื่องยาก

ในยุคก่อนหน้าอิสลามมะฮัรฺจะตกเป็นของพ่อหรือหัวหน้าเผ่าที่เป็นผู้ปกครองดูแลผู้หญิง และผู้หญิงไม่ได้รับสิทธิ์ในเรื่องนี้ แต่นบีมุฮัมมัดได้กำหนดว่ามะฮัรฺเป็นสิทธิ์ของผู้หญิง ในตอนทำพิธีมะฮัรฺนี้ตกเป็นของเจ้าสาวครึ่งหนึ่งก่อน จนกว่าสองฝ่ายจะอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยาแล้วมะฮัรฺทั้งหมดจะเป็นของผู้หญิง หากทำพิธีแล้วทั้งสองฝ่ายไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ มะฮัรฺครึ่งหนึ่งจากที่ตกลงกันไว้จะคืนให้แก่ผู้ชายที่เป็นเจ้าบ่าวแต่ยังไม่ได้เป็นสามีของหญิงที่ตัวเองแต่งงานด้วย

นบีมุฮัมมัดแต่งงานเมื่ออายุ 25 ปี ในขณะที่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นศาสนทูตประกาศศาสนา ท่านแต่งงานกับนางเคาะดีญะฮฺ เศรษฐินีม่ายวัย 40 ปี แม้ท่านจะฐานะด้อยกว่าเจ้าสาวของท่าน แต่ท่านได้ให้มะฮัรฺแก่นางเคาะดีญะฮฺเป็นเหรียญเงินดิรฺฮัม 500 เหรียญ


You must be logged in to post a comment Login