- ต้องไม่ไปเป็นทุกข์แทนรัฐบาลPosted 4 hours ago
- จุดติดไม่ง่ายPosted 3 days ago
- อย่าลงโทษมนุษย์มากเลยPosted 4 days ago
- สงสารสัตว์โลกที่ก่อสงครามPosted 5 days ago
- มนุสสเปโตPosted 6 days ago
- ผู้ใหญ่ไม่รังแกเด็กPosted 1 week ago
- ควรเลือกวิธีอื่นที่ดีกว่านี้Posted 1 week ago
- ทำสติให้มั่นคงPosted 2 weeks ago
- บทเรียนPosted 2 weeks ago
- หลบฉาก – เก็บแต้มPosted 2 weeks ago
โชว์รถไฟชนกัน
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 5 – 12 กรกฎาคม 2562 )
สมัยที่ธุรกิจบันเทิงยังไม่เฟื่องฟู ประชาชนมีกิจกรรมเพียงไม่กี่อย่างให้พักผ่อนหย่อนใจ หนึ่งในนั้นคือการแสดงรถไฟชนกัน ซึ่งแต่ละครั้งสามารถดึงดูดผู้คนหลายหมื่นคนจากทั่วสารทิศติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 40 ปี
วิกฤตเศรษฐกิจถดถอยในปี 1893 ส่งผลให้บริษัทเดินรถไฟหลายแห่งในอเมริกาล้มละลายจนต้องเลิกกิจการ ทำให้บริษัทเดินรถไฟมิสซูรี-แคนซัส-เทกซัส หรือที่นิยมเรียกสั้นๆว่า “เคที” รู้สึกวิตกกังวลว่าอาจถึงคิวของเขาวันใดวันหนึ่ง แม้ว่าผลประกอบการในปี 1895 บริษัทจะมีรายได้จากการขายตั๋วโดยสารมากถึง 1.2 ล้านดอลลาร์ และรายได้จากการขนส่งสินค้า 3 ล้านดอลลาร์ แต่ผู้บริหารก็ยังคงไม่มั่นใจว่าจะรักษายอดขายเอาไว้ได้ตลอดไป
ปี 1896 วิลเลี่ยม ครัช ผู้จัดการฝ่ายดูแลผู้โดยสาร ได้รับมอบหมายให้หาหนทางกระตุ้นยอดขาย วิลเลี่ยมเห็นว่าบริษัทมีหัวรถจักรปลดระวางจำนวนหนึ่งจึงปรึกษากับทีมวิศวกรว่าหากเขานำหัวรถจักรพวกนี้มาวิ่งชนกันจะเกิดอันตรายมากน้อยแค่ไหน เพราะไหนๆบริษัทก็จะทำลายมันทิ้งอยู่แล้ว เอามาทำประโยชน์ครั้งสุดท้ายเพื่อกระตุ้นยอดขายตั๋วดีกว่า
ดูฟรีไม่เสียสตางค์
ไอเดียของวิลเลี่ยมไม่ใช่ของใหม่ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปี 1895 เอ.เอล. สตรีเตอร์ พนักงานขายอุปกรณ์สร้างทางรถไฟ จัดการแสดงรถไฟชนกันในรัฐโอไฮโอมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่มีคนกล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่มากนัก อีกทั้งไม่ได้จัดโชว์อย่างเป็นกิจจะลักษณะเหมือนกับที่วิลเลี่ยมกำลังจะทำ
วิลเลี่ยมคาดหวังว่าจะมีผู้ชมเดินทางมาชมรถไฟชนกันอย่างน้อย 20,000 คน ดังนั้น จะจัดโชว์แบบขอไปทีไม่ได้ จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชม วิลเลี่ยมสั่งสร้างทางรถไฟเฉพาะกิจระยะทาง 3 ไมล์ ขึ้นบนพื้นที่โล่งระหว่างเนินเขา 3 เนินในเมืองวาโค รัฐเทกซัส ขุดบ่อน้ำ 2 บ่อ ต่อท่อเข้ามาที่ลานสำหรับชมการแสดง
วิลเลี่ยมสร้างเต็นท์จำหน่ายอาหาร จุดขายน้ำมะนาวคั้นสดสิบกว่าจุด และเรือนจำชั่วคราว เผื่อว่าจะมีคนร้ายประเภทลักขโมย ล้วงกระเป๋า แอบแฝงเข้ามาในงาน จ้างตำรวจ 200 นายคอยเดินตรวจตรารักษาความปลอดภัย แถมด้วยการแสดงของคณะ Midway Plaisance คณะแสดงละครที่มีชื่อเสียงของเมืองชิคาโก
ผู้ชมเสียเพียงค่าเดินทางด้วยรถไฟไป-กลับราคา 2 ดอลลาร์ ราคาเดียวเท่ากันหมดไม่ว่าจะเดินทางมาจากที่แห่งไหนในรัฐเทกซัส เวลา 10.00 น. วันที่ 15 กันยายน 1896 มีคนเดินทางมารอชมรถไฟชนกันไม่น้อยกว่า 10,000 คน พวกเขาจับจองจุดชมบนยอดเนิน ขณะที่การแสดงรถไฟชนกันจะมีขึ้นในเวลา 16.00 น.
ผู้ชมมากเกินคาด
ผู้คนหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย ทำให้วิลเลี่ยมสั่งเลื่อนเวลาการแสดงออกไปอีกหน่อย เมื่อถึงกำหนดการเดิมเวลา 16.00 น. มีผู้ชมเข้ามามากกว่า 40,000 คน ทำให้เมืองเฉพาะกิจที่วิลเลี่ยมสร้างขึ้นมากลายเป็นเมืองใหญ่อันดับที่สองของรัฐเทกซัส
หัวรถจักรน้ำหนัก 35 ตัน หมายเลข 999 ถูกทาสีเขียวคาดแดงจอดรถอยู่ที่ปลายรางรถไฟด้านหนึ่ง ขณะที่ปลายรางรถไฟฝั่งตรงข้ามเป็นหัวรถจักรหมายเลข 1001 ถูกทาด้วยสีแดงคาดเขียว หัวรถจักรทั้งสองพ่วงขบวนรถตู้เปล่า 6 ขบวน เพื่อสร้างบรรยากาศการปะทะให้น่าตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น
เวลา 17.10 น. วิลเลี่ยมขึ้นขี่ม้าขาว โบกหมวกให้สัญญาณว่าการแสดงรถไฟชนกันเริ่มได้ หัวรถจักรทั้ง 2 ขบวน เคลื่อนตัวเข้าหากัน หลังจากรถไฟวิ่งมาได้ระยะ 30 หลา พนักงานควบคุมหัวรถจักรทั้งสองขบวนก็กระโดดลง ปล่อยให้รถไฟเข้าปะทะกันที่ความเร็ว 50 ไมล์ต่อชั่วโมง
เสียงหัวรถจักรปะทะกันดังกึกก้อง เกิดการระเบิดของหม้อต้มทำให้เศษเหล็กขนาดต่างๆปลิวว่อนไปทั่วทุกทิศทาง มีผู้เคราะห์ร้าย 2 รายเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ และ เจ.ซี. ดีน ช่างภาพที่บริษัทว่าจ้างมาบันทึกเหตุการณ์ ถูกเศษเหล็กทิ่มเข้าที่ดวงตาข้างหนึ่งจนบอดสนิท และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยอีกหลายสิบคน
เตือนแล้วไม่ฟัง
ก่อนเปิดการแสดงวิลเลี่ยมได้ปรึกษากับทีมวิศวกรแล้ว พวกเขามีความเห็นตรงกันว่าไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ชม นอกจากวิศวกรเพียงคนเดียวในที่ประชุมที่คัดค้าน โดยให้เหตุผลว่าการปะทะกันของหัวรถจักรอาจทำให้หม้อต้มระเบิดได้ แต่เขาก็ต้องพ่ายแพ้กับมติของคนส่วนใหญ่
เหตุร้ายที่เกิดขึ้นส่งผลให้วิลเลี่ยมถูกไล่ออกโดยทันที แต่หลังจากที่ประเมินผลได้ผลเสียจากการจัดการแสดงรถไฟชนกันปรากฏว่ามีผลด้านบวกมากกว่า หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวข่าวเหตุการณ์ ประชาชนรู้จักบริษัทเดินรถไฟเคทีมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะใช้บริการมากขึ้น วิลเลี่ยมจึงถูกเรียกตัวกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมอีกครั้ง
บริษัทเจรจาจ่ายเงินชดเชยให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต ส่วนช่างภาพ เจ.ซี. ดีน ได้รับเงินชดเชย 10,000 ดอลลาร์ และตั๋วขึ้นรถไฟฟรีตลอดชีวิต ขณะที่บริษัทเดินรถไฟเคทีขยายเส้นทางเดินรถ สร้างรายได้มากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ในปี 1931
วิลเลี่ยมจัดการแสดงรถไฟชนกันเพียงครั้งเดียวแต่ก็เป็นที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด เพราะความยิ่งใหญ่ที่มีจำนวนผู้เข้าชมมากถึง 40,000 คน ขณะที่ยังมีคนจัดการแสดงรถไฟชนกันคนอื่นที่จัดการแสดงติดต่อกันไม่น้อยกว่า 70 ครั้งเป็นระยะเวลาเกือบ 40 ปี
เพื่อความสะใจ
วันที่ 9 กันยายน 1896 หรือก่อนหน้าวิลเลี่ยมจัดการแสดงรถไฟชนกันเพียงสัปดาห์เดียว โจ คอนโนลลี เจ้าหน้าที่โรงละครแห่งหนึ่ง ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กว่าอยากเห็นรถไฟชนกัน และคิดว่ามีคนแบบเขามากมาย จากการที่เขาทำงานเกี่ยวกับธุรกิจบันเทิงทำให้โจต้องการเปิดการแสดงรถไฟชนกัน
โจจับมือกับ เจ. เอช. แบนครอฟต์ เพื่อนวิศวกรรถไฟ สร้างฉากเหตุการณ์รถไฟชนกัน เขาเสนอเงินจำนวน 3,000 ดอลลาร์ บวกกับส่วนแบ่งค่าบัตรเข้าชมให้กับผู้ว่าการเมืองดิมอยน์ รัฐไอโอวา เพื่อขออนุญาตจัดการแสดง
มีคนสนใจซื้อบัตรราคา 50 เซ็นต์ สำหรับที่นั่งบนอัฒจันทร์จำนวน 5,000 คน และอีกหลายพันคนซื้อตั๋วเกาะรั้วชมด้านนอก ความสำเร็จในการแสดงครั้งแรกทำให้โจจัดการแสดงอย่างต่อเนื่องเดินสายไปเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ เมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย เมืองเทมปา รัฐฟลอริดา เมืองซอลต์เลกซิตี รัฐยูทาห์
โจติดตั้งระเบิดไว้ที่หัวรถจักรและใส่ถังน้ำมันในตู้รถพ่วงเพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชม เขามักจะเขียนชื่อนักการเมืองฝั่งตรงกันข้ามไว้บนหัวรถจักรเพื่อให้ผู้ชมเชียร์ว่าหัวรถจักรที่มีชื่อนักการเมืองฝั่งที่ไม่ชอบได้รับความเสียหายมากกว่า
ช่วงระหว่างปี 1896-1935 โจจัดการแสดงรถไฟชนกันไม่ต่ำกว่า 70 ครั้ง ทำลายหัวรถจักรไป 146 หัว หลังจากนั้นการแสดงรถไฟชนกันก็ไม่เป็นที่นิยม จะมีให้เห็นเฉพาะฉากในภาพยนตร์บางเรื่องเท่านั้น ส่วนการนำรถไฟมาชนกันให้คนเสี่ยงตายมายืนดูแบบสดๆไม่มีให้เห็นอีกต่อไป
1.วิลเลี่ยม ครัช
2.ตั๋วเดินทางชมรถไฟชนกัน
3.คณะละคร Midway Plaisance
4.ฝูงชนกรูกันเก็บเศษชิ้นส่วนเป็นที่ระลึก
5.รถไฟ 2 ขบวนประจันหน้าก่อนการแสดง
6.เสี้ยววินาทีก่อนที่รถไฟจะปะทะกัน
7.แรงปะทะทำให้หม้อต้มระเบิด เศษโลหะปลิวว่อน
8. ฝูงชนกับเศษซากหัวรถจักร
You must be logged in to post a comment Login