วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“ปริญญา”ฝากส.ส.-ส.ว.โหวตนายกฯโดยปราศจากการครอบงำ

On June 5, 2019

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว “Prinya Thaewanarumitkul” ถึงการลาออกจากการเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า ส.ส. มี #อิสระจากมติพรรค และ ส.ว. มี #อิสระจากผู้เลือกตนเองหรือไม่ ในการลงมติ #เลือกนายกรัฐมนตรี

ความเป็นผู้แทนปวงชนนั้นมาก่อนพรรคที่สังกัด เพราะประโยชน์ของปวงชนนั้นต้องมาก่อนประโยชน์ของพรรค รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จึงได้นำ #หลักอิสระอาณัติของผู้แทนปวงชน หรือ Free Mandate ที่หายไปตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 กลับมาบัญญัติไว้ และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 -แม้จะมีปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องระบบเลือกตั้ง ส.ส. และอำนาจ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล- ก็ได้รับรองหลักอิสระอาณัติของผู้แทนปวงชนไว้ในมาตรา 114 โดยมีถ้อยคำดังนี้

“มาตรา 114 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”

ตามหลักอิสระอาณัตินี้ ถ้าเป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชน ส.ส. จะเป็นอิสระในการทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนในสภา แม้กระทั่งมติพรรคที่ตนสังกัด หาก ส.ส. เห็นว่ามิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชน รัฐธรรมนูญมาตรา 114 ก็คุ้มครองให้ ส.ส. มีเสรีภาพในการลงมติที่แตกต่างไปจากมติพรรคได้

ในประเทศเยอรมนีนั้น หลัก Free Mandate นี้เข้มข้นมากถึงขนาดศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้มติพรรคที่กำหนดให้ ส.ส. ต้องยกมืออย่างหนึ่งอย่างใดเป็นโมฆะมาแล้ว ซึ่งประเทศไทยของเรายังไม่ได้ไปไกลถึงขนาดนั้น

แน่นอนว่าวินัยพรรคเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องไม่สำคัญไปกว่าปวงชน เพราะประโยชน์ปวงชนต้องมาก่อนประโยชน์ของพรรค แต่ถ้าหากอ้างประโยชน์ปวงชนในการไม่ทำตามมติพรรค แต่ความจริงแล้วการไม่ทำตามมติพรรคมาจากแรงจูงใจอื่น เช่น เพราะมีผลประโยชน์ตอบแทน รัฐธรรมนูญมาตรา 114 นอกจากจะไม่คุ้มครองแล้ว ยังเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย

และสำหรับ ส.ว. ชุดแรกที่มี 250 คน แม้ว่าจะมาจาก คสช. เลือก แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 114 ก็ถือว่า ส.ว. เป็นผู้แทนปวงชน และกำหนดให้ต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชน โดยเป็นอิสระจากอาณัติมอบหมาย และ #ความครอบงำใดๆเช่นกัน กล่าวให้ชัดเจนขึ้นคือ ส.ว. แม้ว่าจะมาจาก คสช. เลือก แต่ก็มีอิสระจาก คสช. ในการลงมติในสภา

ขอให้ ส.ส. และ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีกันโดยคำนึงถึง #ความเป็นผู้แทนปวงชน ที่มาก่อนประโยชน์ส่วนตน ประโยชน์พรรค และความครอบงำใดๆ ตามมาตรา 114 นี้ครับ


You must be logged in to post a comment Login