วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

คาดตกงาน 1,500 คน หลัง กสทช.เปิดคืนช่องทีวีดิจิทัล

On May 10, 2019

ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ จากผู้ประกอบการรายต่างๆ ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการแจ้งความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตแล้ว 3 ช่อง โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อวานนี้ (9 พ.ค.) 1 ช่อง และมีตัวแทนมายื่นกับตนในวันนี้อีก 2 ช่อง ซึ่งต้องรอหลังเวลา 16.30 น.จะสรุปได้ว่าคืนใบอนุญาตทั้งหมดเท่าไร

“ผมรับปากทุกช่องแล้ว อยากให้แถลงข่าวหลังเวลา 15.30 น.เป็นต้นไป เพราะออกข่าวตอนนี้อาจจะกระทบกับพนักงานที่ทำงานอยู่ น่าจะแถลงพร้อมกันทีเดียวว่าเขามาคืนใบอนุญาตอย่างไรบ้าง ถ้าเขาคืนช่อง เราได้พูดคุยในประเด็นเงินชดเชยต่างๆ ที่จะให้พนักงาน ขอให้ดีกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด อย่าไปดึงเขา ในเมื่อทางรัฐบาลช่วยแล้ว เราอธิบายอย่างนี้เวลาคนมาคุยกับเราคืนช่อง ถ้าพนักงานมีการตกงาน ตามกฎหมายแรงงาน ในเมื่อได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล อย่าไปดึงเงินเขา น่าจะให้เขาดีกว่ากฎหมายแรงงาน จะได้สบายใจขึ้น และทำให้การทำงานสะดวกรวดเร็วมาก” นายฐากรกล่าว

นายฐากรกล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น น่าจะมีผู้ประกอบการคืนใบอนุญาตมากกว่า 5 ช่อง ซึ่งหลายช่องกำลังจะตามมา เนื่องจากทุกคนมองว่าผลประกอบการไม่ดี บางช่อง 4 ปีที่ผ่านมาขาดทุนนับหมื่นล้านบาท ในอนาคตข้างหน้าหากเทคโนโลยี 5G เข้ามาอีกก็ไม่รู้จะอยู่อย่างไร บางช่องบอกว่าโฆษณาต่างๆ ไปลงอยู่ OTT ร้อยละ 90 ซึ่งผู้ประกอบการที่ยื่นหนังสือมาแล้ว จะต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติมภายใน 60 วัน ก่อนเสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการ กสทช. ซึ่งตามหลักเกณฑ์นั้นเมื่อมายื่นแสดงความจำนงแล้ว กระบวนการเยียวยาต่างๆ จะเป็นหน้าที่ของ กสทช. ทั้งนี้ ยังมี 1-2 ช่อง นัดหมายเข้ามาในช่วงเวลา 14.00 น.ของวันนี้

ส่วนที่นายฉาย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้เข้าพบเมื่อช่วงเช้านั้น นายฐากร กล่าวว่า มาในฐานะตัวแทนจากช่องเนชั่นทีวี, ช่องนาว 26 (สปริง 26) และช่องสปริงนิวส์ หมายเลข 19 มาถามเรื่องอื่นทั่วไป ตนก็ให้คำแนะนำว่าถ้ามีใครมาคืนใบอนุญาต อยากจะให้คำนึงถึงเรื่องพนักงานที่จะต้องตกงาน ซึ่งตนได้พูดกับทุกช่อง เพราะจะมีพนักงานมากกว่า 300-400 ชีวิตที่ต้องตกงาน ซึ่งอยากจะให้ชดเชยมากกว่ากฎหมายแรงงานที่ให้ไปด้วยซ้ำ เราบอกว่าอยากจะให้ดูแลพนักงานเหล่านั้นให้ดี ในเมื่อรัฐช่วยเหลือในส่วนนี้แล้ว ส่วนผลกระทบต่อแรงงาน แต่ละสถานีมีพนักงานอย่างน้อย 300 คน 5 ช่องประมาณ 1,500 คน ซึ่งรัฐออกมาตรา 44 ผู้ประกอบการได้เงินชดเชยกลับไปบ้าง ก็อยากจะให้นำเงินไปส่วนนี้ชดเชยกับแรงงานที่ต้องไปหางานอื่น


You must be logged in to post a comment Login