วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว-ทองคำปรับลดลง

On April 23, 2019

SCB CIO Office วิเคราะห์การลงทุน ประจำสัปดาห์ วันที่ 22-26 เมษายน 2562 หัวข้อ “ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นหลังตัวเลขเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวนักลงทุนคาดหวังต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมทั้งติดตามการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ยุโรป และไทย ขณะที่ราคาทองคำปรับลดลงหลังนักลงทุนลดการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15-19 เม.ย. 2562) ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึง ยอดค้าปลีกที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี ด้านตลาดหุ้นจีน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% โดย GDP ของจีนในไตรมาส 1/2562 ขยายตัว 6.4% มากกว่าที่นักลงทุนในตลาดคาดที่ 6.3% และการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบของธนาคารกลางจีน (PBOC) นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากความคาดหวังเชิงบวกในประเด็นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ มีกำหนดการจะเดินทางไปเยือนจีนในวันที่ 29 เม.ย. และเจ้าหน้าที่จีนจะเดินทางไปสหรัฐฯ ในสัปดาห์หลังจากนั้น ขณะที่มีรายงานว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ และปธน.สี จิ้ง ผิง อาจลงนามข้อตกลงทางการค้าร่วมกันในช่วงปลายเดือน พ.ค. นี้ ด้านราคาทองคำ ปรับลดลงมากกว่า 1% โดยได้รับแรงกดดันจากเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ ที่แข็งค่าเมื่อเทียบเงินสกุลหลัก ประกอบกับ นักลงทุนเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ส่งผลให้มีแรงขายในทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวก โดยได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง ขณะที่หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นจากความคาดหวังเชิงบวกเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวก เนื่องจาก ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 และได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการของบริษัทกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ออกมาดีกว่าคาด

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปรับเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และได้ปัจจัยบวกจากความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น

ตลาดหุ้นจีน ปิดบวก โดย GDP ของจีน ในไตรมาส 1/2562 ขยายตัว 6.4% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 6.3% การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบของธนาคารกลางจีน (PBOC) ความคาดหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และมีแรงซื้อหุ้นกลุ่มการเงิน หลังบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มประกันเปิดเผยแนวโน้มผลกำไรในไตรมาส 1/2562 น่าจะออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด

ตลาดหุ้นไทย ปรับเพิ่มขึ้นตามตลาดหุ้นต่างประเทศ และหุ้นกลุ่มพลังงานปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ ขณะที่นักลงทุนรอติดตามผลประกอบการในไตรมาส 1/2562 ของหุ้นกลุ่มธนาคาร

ตลาดน้ำมัน ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่า การที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่าน และความไม่สงบในลิเบียจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกลดลง และได้แรงหนุนจากสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ และจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง
ตลาดทองคำ ปิดลบ โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ สหรัฐฯ นักลงทุนเข้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง และขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังตลาดหุ้นทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

• การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ในวันที่ 24-25 เม.ย. นี้ เราคาดว่า BoJ มีแนวโน้มคงนโยบายการเงินตามเดิม อย่างไรก็ตาม BoJ อาจปรับลดคาดการณ์ GDP และอัตราเงินเฟ้อปีนี้ลงจากเดิม เนื่องจาก การประชุมครั้งก่อน BOJ มีมุมมองเชิงลบต่อภาคการส่งออกและภาคการผลิต นอกจากนี้ BoJ อาจกล่าวถึง การขยายกรอบเป้าหมายการเคลื่อนไหวของ Bond Yield อายุ 10 ปี ของญี่ปุ่น ให้สามารถเคลื่อนไหวในกรอบที่กว้างขึ้นกว่าเดิม เนื่องจาก Bond Yield ของญี่ปุ่นที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของภาคธนาคาร

• นักวิเคราะห์คาดว่า GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1/2562 จะขยายตัว 1.8% QoQ, ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาส 4/2561 ซึ่งขยายตัว 2.2% QoQ, ต่อปี เนื่องจากการบริโภคและลงทุนชะลอตัว ทั้งนี้ เราคาดว่า GDP มีแนวโน้มจะขยายตัวมากกว่าคาด เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เดือน มี.ค.ปรับตัวดีขึ้นมาก

• นักลงทุนรอติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1 ของสหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนมากในสัปดาห์นี้ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไมโครซอฟท์ โคคา-โคลา โบอิ้ง เอ็กซอนโมบิล และ สตาร์บัค

ส่วนในสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก 1) ความคาดหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เตรียมเดินทางไปเยือนจีนในวันที่ 29 เม.ย. นี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่จีนจะเดินทางไปสหรัฐฯ ในสัปดาห์ถัดไป ซึ่งทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้ ประธานาธิบดีทรัมป์ และปธน.สี จิ้น ผิง ลงนามข้อตกลงดังกล่าวในช่วงปลายเดือน พ.ค. และ 2) การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจากธนาคารกลางต่างๆ อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายอาจผันผวน ตามการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/2562 โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ มากกว่า 150 บริษัท จะมีการรายงานผลประกอบการในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอติดตาม การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในประเด็นการค้าและเกาหลีเหนืออีกด้วย

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ GDP ไตรมาส 1/2562 ยอดขายบ้านมือสอง และยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐฯ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น และตัวเลขส่งออกของไทย
เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/2562 ของสหรัฐฯ ยุโรป และไทย การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น รวมทั้ง การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น


You must be logged in to post a comment Login