วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

การตรวจสมรรถภาพร่างกาย

On March 29, 2019

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : นายยลวรณัฏฐ์ จีรัชตกรณ์ งานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  29 มีนาคม – 5 เมษายน   2562)

สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง บางคนจะทราบถึงสุขภาพตนเองก็ต่อเมื่อมีความเจ็บป่วยเกิดขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และประสิทธิภาพการทำงานลดลง

หลายๆคนคิดว่าการตรวจเช็กสุขภาพประจำปีเพียงปีละครั้งก็เพียงพอในการดูแลตรวจเช็กประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายแล้ว แต่ไม่เป็นจริงเสมอไป ลองคิดดูนะครับ หากออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย หรือทำงานเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่น เดินขึ้นบันไดเพียงไม่กี่ขั้น ก็มีอาการเหนื่อยหอบแล้วทั้งๆที่ผลการตรวจเช็กสุขภาพประจำปีอยู่ในเกณฑ์ปรกติ เหตุการณ์เหล่านี้พบได้บ่อย ทั้งนี้ เนื่องจากการตรวจสุขภาพโดยทั่วไปที่ประกอบด้วยการเจาะเลือด เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นการตรวจเช็กร่างกายในขณะพักเท่านั้น ไม่ได้ตรวจในขณะที่ร่างกายมีการออกกำลังกายอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ได้บ่งบอกถึงการที่ร่างกายมีสมรรถภาพร่างกายที่ดีมากน้อยแต่อย่างใด วันนี้เราจึงขอพาท่านไปรู้จักกับความหมายของ “สมรรถภาพร่างกาย” (Physical Fitness) ที่ถูกต้อง ไปติดตามกันครับ

สมรรถภาพร่างกายคืออะไร

สมรรถภาพร่างกาย หรือความฟิต หมายถึง ความสามารถของบุคคลในอันที่จะใช้ระบบต่างๆกระทำกิจกรรมใดๆอันเกี่ยวกับการแสดงออกซึ่งความสามารถทางด้านร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือได้หนักหน่วงเป็นเวลาติดต่อกันโดยไม่แสดงอาการเหน็ดเหนื่อยให้ปรากฏ และสามารถฟื้นตัวกลับสู่สภาพปรกติได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ผู้ที่มีสมรรถภาพร่างกายที่ดีมักจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง จิตใจร่าเริงแจ่มใส บุคลิกดี ความมั่นใจตัวเองสูง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

การตรวจเช็กสมรรถภาพร่างกายมีดังนี้

1.การซักประวัติ และตรวจร่างกาย เช่น วัดชีพจร ความดันโลหิต รวมถึงการซักประวัติของโรคที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบสมรรถภาพ ซึ่งเป็นการประเมินเบื้องต้น หรือข้อควรระวังในการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย

2.วัดปริมาณไขมันในร่างกาย เป็นการวัดค่าเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย โดยใช้เครื่องมือเฉพาะในการวัดความหนาชั้นไขมันใต้ผิวหนังในจุดต่างๆของร่างกาย

3.การวัดสมรรถภาพของระบบทางเดินหายใจ เป็นการวัดประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจ โดยผู้ที่มีสมรรถภาพของปอดดี จะทำให้มีความทนทานในการทำงาน ไม่เหนื่อยเร็ว ขณะเดียวกันถ้ามีสมรรถภาพของปอดลดลงก็อาจบ่งบอกถึงการขาดการออกกำลังกาย

4.การวัดความอ่อนตัวของร่างกาย เป็นการวัดสมรรถภาพของข้อต่อต่างๆ รวมทั้งเอ็นและกล้ามเนื้อรอบๆข้อ ผู้ที่มีความอ่อนตัวของข้อต่อน้อยจะมีโอกาสบาดเจ็บจากการทำงานหรือออกกำลังกายมากกว่าผู้ที่มีสมรรถภาพความอ่อนตัวดี ดังนั้น ในการตรวจหากพบว่าร่างกายมีความอ่อนตัวหรือการยืดเหยียดของข้อต่อน้อย การปฏิบัติตนตามคำแนะนำเบื้องต้นจะช่วยป้องกันและลดการบาดเจ็บของร่างกาย และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและออกกำลังกายได้ดีขึ้น

5.การวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เป็นการวัดแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น กำลังของกล้ามเนื้อแขน ขา เป็นต้น

6.ตรวจสมรรถภาพของระบบหัวใจและการไหลเวียนเลือด เป็นการวัดอัตราการใช้ออกซิเจนขณะออกกำลังกาย ซึ่งจะบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพของหัวใจที่สามารถทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน

ดังนั้น เพื่อให้การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพและตรงกับที่เราต้องการ เราควรทราบถึงระดับสมรรถภาพร่างกายของเราก่อน เพื่อที่จะได้ออกแบบวิธีการและแนวทางในการพัฒนาระบบต่างๆได้อย่างถูกต้องต่อไปครับ


You must be logged in to post a comment Login