วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ใบอาญาสิทธิ์?

On March 27, 2019

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 27 มี.ค. 62)

ตราบใดที่ผลคะแนนการเลือกตั้งยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ การเมืองก็มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการแจก “ใบเหลือง-ใบส้ม-ใบแดง-ใบดำ” ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้กับพรรคการเมืองที่ทำผิด ซึ่งการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา กกต. มีอำนาจให้ “ใบเหลือง” เมื่อพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งแต่ไม่สามารถระบุได้ว่าผู้สมัครคนใดกระทำผิดอย่างชัดเจน โดยจะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่

ส่วน “ใบแดง” จะให้ได้ต่อเมื่อมีข้อมูลว่าผู้สมัครคนใดกระทำการทุจริตการเลือกตั้งอย่างชัดเจน โดยจะสั่งให้มีการเลือกตั้ง พร้อมถอนสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครดังกล่าว

แต่รัฐธรรมนูญ 2560 พ.ร.ป.กกต. และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ให้อำนาจ กกต. และศาลในการตรวจสอบความโปร่งใสในการเลือกตั้ง การลงโทษคือ “ใบเหลือง” สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่แม้ไม่พบชัดเจนว่ามีผู้ใดทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม ทั้งก่อนหรือในวันเลือกตั้งและหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว

“ใบส้ม” ให้อำนาจ กกต. ดึงผู้สมัครที่ไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามออกจากการเลือกตั้งชั่วคราว หรือให้มีการเลือกตั้งใหม่ที่จะจัดขึ้นทั้งก่อนวันเลือกตั้งและก่อนประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

“ใบแดง” การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นอำนาจของศาลฎีกา ซึ่งจะเป็นกรณีหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว

“ใบดำ” เมื่อผู้ใดถูกศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง จะไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆตลอดไป เหมือนโดน “ประหารชีวิต” ทางการเมืองนั่นเอง

ดังนั้น หากผู้ใดได้รับ “ใบแดง” ก็จะได้รับ “ใบดำ” ด้วยโดยอัตโนมัติ การทำหน้าที่ของ กกต. จึงต้องบริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นธรรมอย่างแท้จริง!


You must be logged in to post a comment Login