วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567

‘ปวดตามข้อ’ อาการที่ไม่ควรมองข้าม

On March 22, 2019

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : นพ.สุรราชย์ ธำรงลักษณ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  22-29 มีนาคม  2562)

คนส่วนใหญ่มักจะละเลยอาการปวดที่เกิดตามข้อต่างๆของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า หรือข้อสะโพก และมักคิดว่าเป็นเพียงอาการปวดที่เกิดขึ้นตามอายุที่สูงขึ้นหรือบาดเจ็บจากการใช้งาน การกินยาบรรเทาอาการปวดและพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมและท่าทางต่างๆที่ทำให้อาการปวดข้อกำเริบจึงเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งอาการปวดข้ออาจหายไปได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปอาการปวดข้อก็กลายเป็นปวดเรื้อรังที่มีความรุนแรงมากขึ้น และอาจเป็นอาการนำของโรคร้ายบางชนิด

ปวดตามข้อ คือหนึ่งในลักษณะอาการที่บ่งบอกได้หลายโรคด้วยกัน ได้แก่ โรคเกาต์ โรครูมาตอยด์ โรคข้อเสื่อม และโรคเอสแอลอี ซึ่งแต่ละโรคมีลักษณะอาการปวดตามข้อที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันออกไป เช่น โรคเกาต์ มักเกิดอาการบวมแดงร้อนข้อแบบเฉียบพลัน แม้ว่าจะอยู่เฉยๆ ไม่มีประวัติอุบัติเหตุ ไม่ได้รับการกระทบกระแทกรุนแรงใดๆ มีอาการปวดข้อเดียว ไม่เกิดขึ้นพร้อมๆกันหลายข้อ ข้อที่พบว่าเป็นโรคเกาต์ได้บ่อยที่สุด ได้แก่ ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า โรคข้อเสื่อม ระยะเริ่มต้นจะมีอาการปวดสัมพันธ์กับการใช้งาน ระยะปานกลาง เมื่อกระดูกอ่อนเริ่มสึกกร่อน ข้ออาจมีการอักเสบร่วมกับข้อเริ่มโค้งงอ เหยียดงอไม่สุด ระยะรุนแรง เมื่อกระดูกอ่อนสึกกร่อนมากขึ้น ข้อเริ่มหลวมไม่มั่นคง ข้อหนาตัวขึ้น จากกระดูกงอกหนา ข้อโก่งงอ ผิดรูปชัดเจน เวลาเดินต้องกางขากว้างขึ้น กล้ามเนื้อรอบข้อลีบเล็กลง ขณะลุกขึ้นจากท่านั่งจะมีอาการปวดที่รุนแรง โรคเอสแอลอี เป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการเกิดขึ้นกับหลายอวัยวะหรือหลายระบบของร่างกาย บางรายอาการเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆกัน บางรายมีการแสดงออกเพียงอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งทีละระบบ มักมีอาการทางข้อและกล้ามเนื้อเป็นอาการนำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดข้อ มักเป็นข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อไหล่ ข้อเข่า หรือข้อเท้า บางครั้งมีบวมแดงร้อนร่วมด้วยคล้ายผู้ป่วยรูมาตอยด์ และบางรายอาจรุนแรงถึงชีวิต

อาการปวดข้อมักเกิดมากที่สุดช่วงตื่นนอน อาจมีอาการอยู่ 1-2 ชั่วโมง หรือทั้งวันก็ได้ มีอาการปวด บวม และเคลื่อนไหวข้อลำบาก ตำแหน่งของข้อที่มีอาการปวดมากที่สุดมักจะเป็นที่ข้อมือและข้อนิ้วมือ แต่มีโอกาสปวดข้อไหนก็ได้ ลักษณะอาการปวดข้อช่วงเช้านี้เป็นลักษณะสำคัญของโรครูมาตอยด์ นอกจากอาการทางข้อแล้ว ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำๆ ตาแห้ง ปากแห้งผิดปรกติ พบก้อนใต้ผิวหนังบริเวณข้อศอกและข้อนิ้วมือ

สาเหตุของโรครูมาตอยด์เกิดขึ้นจากความผิดปรกติของระบบภูมิต้านทานอย่างหนึ่ง โดยภูมิต้านทานของผู้ป่วยมีการทำลายและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อและกระดูกรอบข้อ บางรายรุนแรงจนพิการจากการที่กระดูกถูกทำลายผิดรูป จากความก้าวหน้าทางการแพทย์ในระยะหลังทำให้เกิดความเข้าใจถึงตัวแปรต่างๆในกระบวนการอักเสบมากขึ้น จนมีการค้นพบตัวยาใหม่ๆที่จะยับยั้งกระบวนการอักเสบ และลดการทำลายของข้อ ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้เร็วจะสามารถยับยั้งการทำลายของเนื้อเยื่อและกระดูกรอบข้อได้ โรครูมาตอยด์พบได้ประมาณร้อยละ 0.5-1.0 ของประชากรในประเทศไทย

โรครูมาตอยด์ในระยะเริ่มต้นอาจจะมีความลำบากในการวินิจฉัย เนื่องจากการดำเนินของโรคมักเป็นไปอย่างช้าๆ จำเป็นต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคเป็นผู้วินิจฉัย

การวินิจฉัยจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและการตรวจร่างกายทางข้อที่พบว่ามีลักษณะร้อน บวมแดง และปวด การเจาะเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการจะแสดงให้เห็นถึงภาวะซีด ตรวจพบ Rheumatoid Factor ค่า Anti CCP IgG ขึ้นสูง และค่าการอักเสบในเลือดที่สูงขึ้น (ESR) ค่า ESR ที่สูงขึ้นมักจะสัมพันธ์กับจำนวนข้อที่อักเสบ นอกจากนี้การถ่ายภาพรังสี-เอกซเรย์หรือการทำ MRI สามารถบอกถึงความรุนแรงของโรคได้ด้วย โดยดูจากความรุนแรงของข้อที่ถูกทำลายไป

อย่างไรก็ดี ในผู้ป่วยโรคนี้โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาการน้อยกว่า 6 เดือน การวินิจฉัยมักจะอาศัยอาการนำที่สำคัญ การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการมารวมกันในการวินิจฉัยโรคโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค

การรักษาโรคมีอยู่ 4 วิธีด้วยกันคือ 1.การใช้ยา ปัจจุบันมียามากมายที่ใช้ในการควบคุมและรักษาโรครูมาตอยด์ให้ได้ผลดี ยาเหล่านี้ได้แก่ยารักษาโรครูมาตอยด์โดยเฉพาะ ยาที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคสารชีวภาพ และยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ 2.การพักผ่อนและการบริหารร่างกาย 3.การป้องกันไม่ให้ข้อถูกทำลายมาก 4.การผ่าตัด จะมีบทบาทในการรักษาโรครูมาตอยด์ในกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากแล้ว

หากร่างกายเริ่มแสดงอาการปวดตามข้อควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและเข้ารับการรักษาโดยเร็ว ก่อนที่จะปวดเรื้อรังจนส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน


You must be logged in to post a comment Login