วันพฤหัสที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ศาลรัฐธรรมนูญกับสภาวะวิกฤติทางการเมือง (2549-2562)

On February 15, 2019

เว็บไซต์ประชาไทรายงาน”ศาลรัฐธรรมนูญกับสภาวะวิกฤติทางการเมือง (2549-2562)” ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองตลอดระยะเวลากว่า 13 ปีที่ผ่าน สถาบันตุลาการถือเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นซึ่งมีบทบาทสำคัญท่ามกลางความขัดแย้งนั้น ทั้งยังมีส่วนในการสร้างจุดเปลี่ยนต่างๆ ในการเมืองไทย และยังคงดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมา
วิกฤตศาลรธน
ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ ได้โพสต์เฟสบุ๊ค ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในสภาวะวิกฤติทางการเมือง หลังจากมีข่าวว่าคณะกรรมการการเลือกได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยธีระ ยกกรณีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงวิกฤติทางการเมืองทั้งหมด 8 กรณี นับจากการล้มการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 จนถึงการสั่งให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการของยิ่งลักษณ์ ชินวิตร สิ้นสุดลง

ประชาไท รวบรวมคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 8 กรณี มานำเสนอใหม่อีกครั้ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
ศาลรธน.
1.ล้มการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 2 เมษายน 2549

8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ โดยมีคำวินิจฉัย 9/2549 ให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นผู้ส่งเรื่องให้พิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้งและการหันคูหามิชอบ โดยมีมติ 8 ต่อ 6 และสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่

ผู้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาคือ บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานพีเน็ต

2.วินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘สมัคร’ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกรณีชิมไปบ่นไป โดยมีคำคำวินิจฉัย 12-13/2551ให้สมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร ‘ชิมไปบ่นไป’ โดยมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0ิิ คดีนี้ผู้ร้องคือเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และวุฒิสมาชิกรวม 29 คน

3.ยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีผลให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน-มัชฌิมาธิปไตย-ชาติไทย โดยมีคำวินิจฉัย 18-20/2551 ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี กรณียงยุทธ ติยะไพรัช ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมติให้ยุบพรรคพลังประชาชน มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 และ ยุบพรรคชาติไทย มีมติ 8 ต่อ 1

4.ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์

29 พฤศจิกายน 2553 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 15/2553 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีเงินบริจาค 258 ล้านจากบริษัททีพีไอโพลีน เนื่องจากกระบวนการยืนคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีมติ 4 ต่อ 2 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ร้องคือ นายทะเบียนพรรคการเมือง

9 ธันวาคม 2553

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 16/2553 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีเงินบริจาค 258 ล้านจากบ.ทีพีไอโพลน เนื่องจากข้ามขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติ โดยมีมติ 4 ต่อ 3 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยผู้ร้องคืออัยการสูงสุด

5.ยับยั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา

13 กรกฎาคม 2555 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรทำประชามติ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 18-22/2555 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ “ควร” ทำประชามติ

กรณีนี้มีผู้ร้อง 5 ราย คือ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์, นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทรและคณะ

20 พฤศจิกายน 2556 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ไม่ชอบ

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ15-18/2556 การดําเนินการ พิจารณา และลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กรณีแก้ไขที่มาวุฒิสมาชิก เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญมีเนื้อความที่เป็นสาระสําคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นการกระทําเพื่อให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ผู้ร้องที่ 1 ขอให้ยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง เห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขจึงให้ยกคําร้อง

8 มกราคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญชี้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.190 ไม่ชอบด้วยกระบวนการ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 1/2557การพิจารณาและลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญและการที่ผู้ถูกร้องร่วมกันแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 ผิดมาตรา 68 วรรคหนึ่ง

6.วินิจฉัยให้สามารถเลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปได้

24 มกราคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้เลื่อนการเลือกตั้งได้ โดยเป็นอำนาจที่ กกต. และ ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 2/2557 สามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ตามที่ กกต. เสนอ ครม. และอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต. และ ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

7.ล้มการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. โมฆะ เพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในวันเดียว คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 5/2557พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทน 2556 เฉพาะในส่วนที่กําหนดให้มีการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่สามารถจัดการให้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

8.วินิจฉัยให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี

7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 9/2557 ความเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการของยิ่งลักษณ์ ชินวิตร สิ้นสุดลง กรณีศาลปกครองสูงสุดสั่งให้การโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นไปโดยมิชอบ ผู้ร้องคือ ไพบูลย์ นิติตะวัน วุฒิสมาชิก

9.ยุบพรรคไทยรักษาชาติ

14 กุภาพันธ์ 2557 ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดำเนินการพิจารณาว่า จะรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 หรือไม่ในเวลา 13.30 น.

หมายเหตุ: ทั้งนี้อีกหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในวันที่ 3 สิงหาคม 2554 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้ทักษิณ ซินวัตร พ้นผิดด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2544 กรณีแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ โดยระหว่างการพิจารณาคดี ทักษิณให้การว่า ไม่ได้จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ แต่ผู้ช่วยหรือเลขานุการของตนเองเป็นผู้ดำเนินการแทน หากมีความผิดพลาดในการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่ไม่ถูกต้องก็เป็นเพียงความบกพร่องของตนเอง โดยไม่ได้มีเจตนาทุจริตแต่อย่างใด สาเหตุเกิดขึ้นจากการ ‘บกพร่องโดยสุจริต’ ของตน ไม่ควรต้องถูกลงโทษตามรัฐธรรมนูญ


You must be logged in to post a comment Login