วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

‘ยุบ-ไม่ยุบ’ก็กระทบ

On February 13, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 13 ก.พ. 62)

อนาคตพรรคไทยรักษาชาติน่าจะยังไม่แน่นอน แม้ กกต. จะโยนเผือกร้อนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดยุบพรรคก็ตาม เพราะท่านผู้นำส่งสัญญาณแล้วว่าที่ผ่านมาแล้วอยากให้ผ่านไป อย่างไรก็ตาม หากรอดถูกศาลสั่งยุบมาได้พรรคไทยรักษาชาติก็ไม่ต่างจากเสือลำบาก เคลื่อนไหวอะไรไม่ถนัด ที่สำคัญเมื่อดูลึกลงไปถึงปฏิกิริยาคนในพรรคหลังเกิดเหตุการณ์จะเห็นความไม่เป็นปึกแผ่น แม้จะเคยเป็นปลาน้ำเดียวกันมาก่อนแต่สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของแต่ละคนมีอย่างเต็มเปี่ยม ไม่พร้อมตายหมู่ เมื่อถึงเวลาที่กติกาเปิดช่องให้แยกตัวได้คงมีหลายคนสละเรือ แต่ที่สุดแล้วหากพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ คะแนนจะสวิงไปที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคใหญ่การเลือกนายกฯในสภาหลังเลือกตั้ง

“เหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ควรมีผู้รับผิดชอบหรือไม่นั้น ผมไม่มีความคิดเห็น เพราะเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการ อะไรที่จบแล้วก็ขอให้จบกันไป อย่าให้มีปัญหาต่อไปอีกเลย” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล (12 ก.พ. 2562)

สัญญาณจากท่านผู้นำต่อกรณีเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติเป็นไปในแนวทางเดียวกับที่คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะเลิกแล้วต่อกัน ไม่มีประโยชน์ที่จะต่อความยาวสาวความยืดจากเรื่องนี้ เพราะจะเข้าตำราหยิกเล็บเจ็บเนื้อ

ทั้งนี้เพราะถ้าจะดันทุรังยุบพรรคไทยรักษาชาติให้ได้ ปลายทางไม่มีใครสนใจว่าผลจะเป็นอย่างไรเพราะพอเดาได้ แต่ระหว่างทางก่อนการยุบพรรคอาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้

แม้ล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเลือกเพลย์เซฟตัวเองโดยโยนเผือกร้อนให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดยุบพรรคไทยรักษาชาติ แต่การจบแบบเลิกแล้วต่อกันเป็นดีที่สุด

สภาพของพรรคไทยรักษาชาติตอนนี้ไม่มีพิษสงอะไรให้ต้องกลัวอีก ยิ่งดูจากปฏิกิริยาของคนในพรรคหลังเกิดปัญหาการยื่นชื่อแคนดิเดตนายกฯจะเห็นชัดว่าไม่มีความเป็นปึกแผ่น ไม่มีความเป็นหนึ่งเดียว แม้จะเคยเป็นปลาน้ำเดียวกันมาก่อน แต่สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของแต่ละคนมีอย่างเต็มเปี่ยม ไม่พร้อมตายหมู่

เมื่อถึงเวลาที่กติกาเปิดช่องให้แยกตัวได้คงมีหลายคนสละเรือ

การเอาชนักปักหลังไว้ไม่ไล่บี้ให้ตายคามือยังเป็นคุณต่อฝ่ายคุมอำนาจมากกว่า เพราะจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นได้ปลุกวิญญาณกลุ่มคนที่ไม่เอาเครือข่ายทักษิณตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง

ที่สำคัญการตื่นตัวครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จากที่เคยลงให้บางพรรคการเมืองเป็นกิจวัตรแบบใครจะพูดอะไรก็ไม่สนใจ ถึงเวลาออกไปกาให้พรรคการเมืองเดิมที่เลือกอยู่เป็นประจำ

เหตุการณ์ครั้งนี้อาจทำให้มีคนจำนวนหนึ่งตัดใจไม่มอบหนึ่งเสียงของตัวเองให้พรรคประจำ แต่หันไปเลือกพรรคที่เสนอชื่อท่านผู้นำเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ตรงกันข้ามหากที่สุดแล้วศาลตัดสินให้ยุบพรรคก็จะปลุกให้มวลชนฝั่งหนึ่งตื่นตัวมากขึ้น แทนที่คะแนนเสียงจะเป็นเบี้ยหัวแตกลงให้พรรคนั้นพรรคนี้ที่ประกาศตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่จะไปเทรวมกันที่พรรคเพื่อไทยมากขึ้น


You must be logged in to post a comment Login