วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ปรกติที่ไม่ปรกติ

On January 25, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 25 ม.ค. 62)

แม้จะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งและกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนแล้ว แต่รัฐบาลทหาร คสช. ยังยืนยันว่าจะใช้อำนาจที่มีอยู่เต็มมือต่อไปตามปรกติ ไม่ถือว่าตัวเองเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่ความปรกตินี้จะถือว่าไม่ปรกติอย่างมากถ้ามีการใช้อำนาจหน้าที่ไปเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กับพรรคหนึ่งพรรคใด และจะเป็นความปรกติที่ไม่ปรกติเป็นอย่างยิ่งหากชื่อของ “พล.อ.ประยุทธ์” ไปโผล่อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ แค่โผล่ทีวีพูดทุกวันศุกร์ก็ดูไม่จืดแล้ว ไม่ต้องพูดถึงการใช้อำนาจในเรื่องอื่นๆ

ประเทศไทยแม้จะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมาแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเลือกตั้งชัดเจนแล้ว แต่กระบวนการบางอย่างยังสามารถเดินไปตามปรกติเหมือนไม่ใช่ช่วงที่มีการเลือกตั้ง

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลทหาร คสช. ยังคงมีอำนาจเต็มตามปรกติ ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการที่กระทำการบางอย่างไม่ได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังลงพื้นที่ตรวจงานได้ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรยังทำได้ แต่อาจมีการปรับเพื่อความเหมาะสม เช่นเดียวกับรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดออกทีวีทุกช่องคืนวันศุกร์ก็ยังออกอากาศต่อไปตามปรกติ

“ขอยืนยันว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรียังปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปรกติ แต่ต้องระมัดระวังในเรื่องการชี้นำ แนะนำตัวผู้สมัครพรรคใดพรรคหนึ่ง รวมถึงนโยบายของพรรคการเมืองด้วย”

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลทหาร คสช. ยืนยันว่ามีอำนาจเต็มเหมือนปรกติ แต่พรรคการเมืองที่จะลงสนามเลือกตั้งเห็นว่าความปรกติของรัฐบาลทหาร คสช. อาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง เพราะมีรัฐมนตรีในรัฐบาล 4 คนที่ยังไม่ลาออกจากตำแหน่งเป็นหัวหน้าและแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งประกาศชัดเจนมาตลอดว่าจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น สถานะของ 4 รัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ใช่แค่คนดู แต่เป็นคนลงแข่งขัน การที่ยังใช้อำนาจได้เต็มที่จึงอาจไม่ยุติธรรมกับผู้แข่งขันรายอื่น

พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลลดการใช้อำนาจลงให้เหมือนรัฐบาลรักษาการ ต้องไม่ริเริ่มโครงการใหม่ที่ใช้งบประมาณผูกพัน ต้องไม่โยกย้ายและแต่งตั้งข้าราชการที่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง หัวหน้า คสช. ต้องงดใช้อำนาจมาตรา 44 คสช. และรัฐบาลต้องรักษาความเป็นกลางทางการเมืองโดยเคร่งครัด ไม่ใช้อำนาจ ข้าราชการ และกลไกของรัฐ เพื่อสร้างความได้เปรียบต่อพรรคการเมืองใด

กกต. ต้องไม่ยอมให้มีการแทรกแซงการทำหน้าที่โดยเด็ดขาด และขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ามีการใช้อำนาจรัฐเพื่อเป็นคุณแก่พรรคการเมืองบางพรรคหรือไม่

เช่นเดียวกับพรรคไทยรักษาชาติที่เห็นตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องเลิกใช้อำนาจมาตรา 44 ต้องยุติการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ยุติการดำเนินนโยบายที่จะก่อให้เกิดงบประมาณผูกพันต่อเนื่องไปถึงรัฐบาลชุดต่อไป และยุติการประชุม ครม.สัญจร

สิ่งเหล่านี้แม้ไม่มีกฎหมายห้าม แต่การแสดงความสำนึกรับผิดชอบในฐานะผู้มีอำนาจซึ่งต้องไม่ใช้อำนาจรัฐสร้างความได้เปรียบในสนามเลือกตั้งทุกกรณีเป็นสิ่งที่ คสช. พึงกระทำ

ข้อเรียกร้องของ 2 พรรคการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลทหาร คสช. อาจดูว่าเรื่องมาก หยุมหยิม

แต่เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่เกินเลย เพราะถ้าการใช้อำนาจที่รัฐบาลทหาร คสช. มองว่าเป็นเรื่องปรกติไปส่งผลต่อการเลือกตั้ง อาจทำให้มีเรื่องที่ไม่ปรกติเกิดขึ้นตามมาได้


You must be logged in to post a comment Login