วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ใจเย็นๆ..ไม่ต้องรีบ (สตาร์ทเครื่องจอดรออีก 20 ปี)

On January 24, 2019

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

 (โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  25 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์  2562)

ในที่สุดเมื่อวันที่ 23 มกราคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 มีเนื้อหาทั้งสิ้น 4 มาตรา โดยให้ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ขณะที่ กกต. มีมติกำหนดให้วันที่ 24 มีนาคมเป็นวันเลือกตั้ง โดยจะให้วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์เป็นวันรับสมัคร ส.ส. และจะประกาศรายชื่อผู้สมัครในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ สำหรับการลงคะแนนนอกราชอาณาจักรคือวันที่ 4-16 มีนาคม และลงคะแนนนอกเขตวันที่ 17 มีนาคมที่จะถึงนี้

จับตาเลื่อนเลือกตั้ง คสช. อยู่ยาว

นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้ความเห็นในงานเสวนา “เลือกตั้ง 62? : ศาสตร์และศิลป์ของการเลือกตั้งและอภินิหารทางการเมือง” ที่คณะรัฐศาสตร์ มธ. ว่า หากวันเลือกตั้งคือวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามกรอบรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องมีอภินิหารมาก แต่หากหลุดจากวันที่ 24 มีนาคม การเลือกตั้งก็มีโอกาสจะเลื่อนยาว เพราะจะไม่ทันกรอบ 150 วันภายในวันที่ 9 พฤษภาคม หากเลื่อนเลยวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ก็จะผิดรัฐธรรมนูญ ทำให้มีคำถามว่าทำได้หรือไม่ คำตอบคือทำได้ด้วยอภินิหารทางกฎหมายและทางการเมือง โดยใช้มาตรา 44 ที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ กำหนดวันเลือกตั้งวันที่เท่าไรก็ได้ ซึ่งนักวิเคราะห์บางสำนักทั้งไทยและต่างประเทศมองในแง่ร้ายว่าอาจไม่ได้เลือกตั้งในปีนี้ด้วยซ้ำ

เราเริ่มเห็นตัวละครทางการเมืองค่อยๆโผล่มาพูดถึงการเลื่อนเลือกตั้งให้เลยวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ไปเลย แต่การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆก็จะยิ่งทำให้ คสช. อยู่ในจุดเสี่ยง เพราะจะโดนกดดันทั้งจากต่างชาติและประชาชนในประเทศ ซึ่งเดือนพฤษภาคมนี้ คสช. จะอยู่ครบ 5 ปี ถือว่าเป็นคณะรัฐประหารที่อยู่นานที่สุดหลัง 14 ตุลา

นายประจักษ์เตือนการพยายามสืบทอดอำนาจว่า มีบทเรียนการเลือกตั้งในอดีตของคณะรัฐประหารคือ

หนึ่ง การเลือกตั้งปี 2500 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้จะชนะเลือกตั้งแต่ถูกนักศึกษาประท้วง

สอง การเลือกตั้งปี 2512 ของจอมพลถนอม กิตติขจร ชนะการเลือกตั้ง แต่มีความวุ่นวายในสภา เพราะไม่มี ม.17 ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ จนในที่สุดก็ต้องรัฐประหารตัวเองและเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา

สาม การเลือกตั้งปี 2535 ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ชนะเลือกตั้ง แต่ครองอำนาจไม่ได้ เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

สี่ การเลือกตั้งปี 2550 ภายใต้ คมช. แต่พรรคที่คณะรัฐประหารไม่ชอบก็ยังชนะเป็นอันดับหนึ่ง

การเมืองข้าวเหนียวมะม่วง

โครงการ “We care about you” เพื่อตอบแทน เยียวยา สร้างขวัญกำลังใจให้นักท่องเที่ยวชาวจีนและกระตุ้นการท่องเที่ยว ไฮไลท์อยู่ที่การเลี้ยง “ข้าวเหนียวมะม่วง” ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและบันทึกใน Guinness World Records เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและอาหารไทย โดยระบุว่ามีนักท่องเที่ยวจีนมาร่วมประมาณหมื่นคน แต่ภาพเพจ CSI LA ลงรูปที่ “คนวงในถ่ายมาแฉ…ใช้อย่างทิ้งขว้าง เสียดายเงินภาษีคนไทยจริงๆ” และแชร์กันเกลื่อนเน็ตทั้งข้าวเหนียวมะม่วงที่เหลือเพียบ แล้วยังมีอาหารบนโต๊ะจีน 1,250 โต๊ะที่ถูกกินอย่างทิ้งขว้าง

รายการอาหาร 10 อย่างในงานประกอบด้วย แกงเขียวหวานไก่ ผัดเห็ดรวม (เห็ดหอม เห็ดออรินจิ เห็ดชิเมจิ) ขาหมูพะโล้ใส่ไข่ ปลากะพงทอดน้ำปลา (น้ำหนักอย่างน้อยตัวละ 8 ขีด) ซี่โครงหมูอบเหล้าแดง ต้มยำกุ้งน้ำข้น (โดยกุ้งน้ำหนัก 25 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม) กะเพราไก่สับ กะหล่ำปลีผัดน้ำปลาใส่กุ้งแห้งทอด ข้าวเกรียบและถั่วลิสง และข้าวเหนียวมะม่วง

ภาพ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ที่ปรากฏเหมือนไม่แคร์ความรู้สึกของประชาชนเลย เพราะนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกรัฐบาล คสช. บอกว่า การจัดงานนี้จัดขึ้นด้วยความปรารถนาดี อยากให้มองในเจตนาที่ดี แต่ก็มีคำถามว่าเจตนาดีแต่เอาภาษีประชาชนไปละลายทิ้ง ทั้งที่นักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้นแค่ไหนก็ไม่รู้ ขณะที่มีข่าวต่างประเทศระบุว่า นักท่องเที่ยวจีนแห่เที่ยวพม่าแทนไทย สะท้อนให้เห็นข้าวเหนียวมะม่วงที่เหลือเพียบ ซึ่ง พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เป็นแม่งานรายการแจกข้าวเหนียวมะม่วงบันทึกกินเนส ออกมาแก้ต่างว่า ที่ใช้มะม่วงไป 5 ตันนั้นไม่ได้ซื้อ แต่เจ้าของสวนหลายแห่งบริจาคฟรี

ขณะที่ The MATTER‏ เปิดเผยว่า งบประมาณที่ใช้ในการจัดเลี้ยงข้าวเหนียวมะม่วงเพื่อชักชวนให้คนจีนมาเที่ยวไทยที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ใช้งบประมาณของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปประมาณ 7.48 ล้านบาท

แก้ปัญหาแบบป้อมๆ

ที่มาของโครงการข้าวเหนียวมะม่วง เพราะ พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณีเรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่ใกล้เกาะภูเก็ต ทำให้นักท่องเที่ยวจีนตายถึง 41 คนว่า “คนจีนเป็นคนนำนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา เป็นเรื่องของนักท่องเที่ยวเขา เขาทำของเขาเอง เขาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง”

ทำให้สื่อจีนเขียนบทบรรณาธิการระบุว่าคำพูดของ พล.อ.ประวิตรไม่เหมาะสม เพราะไม่ว่าผู้บริหารบริษัทนำเที่ยวจะมาจากประเทศใด แต่รัฐบาลไทยจะเลี่ยงจากความรับผิดชอบไม่ได้ ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปกว่าครึ่ง

พล.อ.ประวิตรจึงพยายามแก้ปัญหานักท่องเที่ยวจีนที่หายไป สุดท้ายก็ลงเอยแบบ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” จนถูกถากถางว่าเป็นการ “แก้ปัญหาแบบป้อมๆ” ล่าสุดคำพูดของ พล.อ.ประวิตรเป็นข่าวไปทั่วโลกกรณีผู้ก่อการร้ายบุกยิงในโรงแรมดุสิตดีทู ประเทศเคนยา โดยตอบผู้สื่อข่าวถึงสาเหตุการโจมตีครั้งนี้ว่าคงเป็นเพราะ “อาหารอร่อย” ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมายในโลกออนไลน์ทั้งไทยและเคนยา แม้จะพูดทีเล่นทีจริง แต่การก่อการร้ายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและรุนแรง จึงส่งผลกระทบทั้งตัว พล.อ.ประวิตรและประเทศไทย

ก่อนหน้านี้กรณี “น้องเมย” นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เสียชีวิต พล.อ.ประวิตรก็ยืนยันว่าไม่มีการซ้อมอะไรทั้งสิ้น และปกป้อง “การซ่อม” ของกองทัพว่าเป็นเรื่องจำเป็น แล้วยังบอกว่าตนเองก็โดนซ่อมจนสลบ แต่ “…ก็ผมมันไม่ตายไง”

แม้ พล.อ.ประวิตรพยายามพูดน้อยลง โดยเฉพาะหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเสียงข้างมาก “ตีตก” กรณี “นาฬิกาเพื่อนให้ยืม” จนถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “กระบวนการยุติธรรมแบบป้อมๆ” ที่สะท้อนให้เห็นความถูกต้องชอบธรรมยุค “คนดี” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อวดอ้างมาตลอดว่าเป็นรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส และไม่โกง แต่กลับถูกตั้งคำถามมากมายเรื่องการตรวจสอบคนใกล้ชิดและพวกพ้อง ซึ่งประชาชนไม่สามารถแตะต้องได้

ตีปี๊บผลงานแบบตู่ๆ

ขณะที่รัฐบาล คสช. เตรียมแถลงผลงานปีที่ 4 ระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2560-12 กันยายน 2561 โดยจัดทำเป็นรูปเล่มจำนวน 421 หน้า เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และจะจัดทำเป็นฉบับย่อแจกจ่ายให้ประชาชน หน้าปกเป็นรูปนายกรัฐมนตรีกับชาวบ้านทุกวัย รวมทั้งรูปผลงาน โดยเนื้อหาเป็นการดำเนินงาน 6 ด้านคือ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ความมั่นคง สังคม เศรษฐกิจ การต่างประเทศ และกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

ก่อนหน้านี้ทั้งนักวิชาการและฝ่ายการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ผลงานรัฐบาล คสช. ว่าล้มเหลวแทบทุกด้าน โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ค (27 ธันวาคม) ระบุ “5 ความล้มเหลวกับ 4 ปีกว่าของรัฐบาลที่ประชาชนไม่ได้เลือก” คือ 1.ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและมีแนวโน้มที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางการคลังของประเทศในระยะยาว รัฐทุ่มเทงบประมาณอย่างไม่เหมาะสมเป็นเงินจำนวนมหาศาล ทำให้เกิดภาวะงบประมาณขาดดุลเพิ่มสูงขึ้นมาก เป็นการใช้เงินเกินตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

2.ล้มเหลวในการปฏิรูปการเมืองในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ถอยหลัง ทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองนับแต่รัฐประหารเป็นต้นมา ทั้งยังใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แม้จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว ทำให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจพิเศษเหนือองค์กรอื่นๆตามรัฐธรรมนูญ

3.ล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อคนในรัฐบาลถูกกล่าวหาเรื่องทุจริต เช่น กรณีอุทยานราชภักดิ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ตั้งบริษัทในค่ายทหาร แม้แต่กรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร กลับปกป้องพวกพ้องอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ผู้ร้องเรียนกลับถูกเรียกไปปรับทัศนคติหรือถูกดำเนินคดี

4.ล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ปิดกั้น จำกัดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพทั้งประชาชนและสื่อมวลชน ใช้กฎหมายและคำสั่งที่ออกเพื่อเป็นเครื่องมือในทางการเมือง และ 5.ล้มเหลวในภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. และมีพฤติการณ์ส่อว่าเสพติดอำนาจ วางกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป

9 ข้อดับวิกฤตฝุ่น

ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สะท้อนผลงานของรัฐบาล คสช. ซึ่งปัญหามลพิษทางอากาศเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เป็นข่าวใหญ่หลังจากมีการระบุว่าคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครรั้งอันดับ 8 เมืองที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่มากที่สุดในโลก โดยมีค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพของอากาศ (AQI) อยู่ที่ 183 จัดอยู่ในระดับสีแดง (Unhealthy) ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อปัญหาด้านสุขภาพ จากการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษยังพบว่ากรุงเทพฯและปริมณฑลหลายพื้นที่มีปัญหาคุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

รัฐบาลแถลงการณ์ 9 ข้อดับวิกฤตฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นเดียวกับกรมควบคุมมลพิษได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยยกระดับความเข้มข้นของมาตรการตามความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง เช่น เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจจับรถควันดำ ชะลอการก่อสร้างรถไฟฟ้าและคืนพื้นผิวจราจร เพิ่มปฏิบัติการฝนหลวง ฉีดพ่นน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล

นอกจากนี้ยังเสนอห้ามข้าราชการนำรถยนต์ส่วนตัวมาทำงานหากค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในเขตกรุงเทพฯเกิน 90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรติดต่อกัน 3 วัน

สตาร์ทเครื่องยนต์รอนาย?

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์แสดงความไม่พอใจกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิรัฐบาล โดยเฉพาะโลกออนไลน์ถากถางให้ “สวดมนต์ไล่ฝุ่น” โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้เราต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ ไม่ใช่ติติงกันไปเรื่อยว่ารัฐบาลไม่ให้ความสนใจ ทั้งที่คนจะตายกันอยู่แล้ว ทุกคนต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่กับธรรมชาติอย่างไร เราไม่สามารถแก้ธรรมชาติได้จึงต้องแก้คนของเรา ซึ่งหากบอกให้ตนแก้จริงๆ ถามว่าโรงงานทำหรือยัง ลดการใช้น้ำมันดีเซลมาใช้อี 20 ทำหรือยัง ทุกคนไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง รัฐบาลก็ไม่สามารถแก้ได้ทุกเรื่อง

นายกรัฐมนตรียังได้กำชับในที่ประชุม ครม. ขอให้ส่วนราชการไม่ติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้หากไม่จำเป็น เพราะเป็นการสร้างมลภาวะ และเรียกร้องทุกภาคส่วนว่าจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง แต่ปรากฏว่าวันประชุม ครม. วันอังคารที่ 22 มกราคม ยังพบผู้ติดตามคณะรัฐมนตรีซึ่งนั่งรอภายในรถสตาร์ทเครื่องยนต์รอไว้เหมือนเช่นทุกครั้ง

“ทักษิณ”โชว์วิสัยทัศน์แก้ฝุ่นพิษ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์แก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นแบบเฉพาะหน้าและตำหนิติเตียนประชาชนว่าไม่ให้ความร่วมมือ มองปัญหาใกล้ตัวและเฉพาะหน้า อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่จัดรายการ Good Monday ตอนที่ 2 (21 มกราคม) ได้กล่าวถึงปัญหาฝุ่นพิษขนาดเล็ก 2.5 ไมครอนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจคือภาพพจน์และการท่องเที่ยว เหมือนหลายประเทศหลายเมืองที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นเมืองมลพิษสูง โดยยกตัวอย่างการแก้ไข เช่น ปักกิ่งที่เมืองเป็นแอ่ง เมื่อมีมลภาวะแล้วจะอยู่นาน ก็หาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรบ้าง สาเหตุหนึ่งคือจากรถติด รถเยอะ และเครื่องยนต์ดีเซล รวมถึงเคยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่รอบปักกิ่ง แต่ภายหลังยกเลิกไปใช้พลังงานที่สะอาด โรงงานอุตสาหกรรมรอบปักกิ่งก็ย้ายหมด

ส่วนปัญหารถยนต์ก็มีนโยบายว่า ภายใน 5-6 ปีข้างหน้าในปักกิ่งต้องเป็นรถไฟฟ้าเท่านั้น โดยเอาวิกฤตมาส่งเสริมอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าจริงจัง เรื่องแบตเตอรี่ เรื่องที่ชาร์จ รวมถึงเทคโนโลยีที่สามารถทำเหมือนพาวเวอร์แบงก์ เอารถไปจอดเข้าห้องน้ำ กินน้ำ แล้วกลับมาวิ่งต่อได้เลยโดยไม่ต้องเสียบปลั๊ก

ศูนย์กลางผลิตรถไฟฟ้าเพื่อส่งออก

ส่วนไทยหนึ่งในปัญหาคือรถดีเซลกับรถที่ไม่ได้มาตรฐาน ปัญหารถมาก รถติด ต้องแก้ไขรถติดอย่างจริงจังพร้อมกับส่งเสริมอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า ซึ่งหลายบริษัทเตรียมการไปแล้ว เป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟฟ้าเพื่อส่งออก ถ้าไม่มีแผนที่ชัดเจนก็ย้ายหนีหมด

อย่างสิงคโปร์ดีใจมากที่ DYSON คือบริษัทเครื่องเป่าผมและเก่งเรื่องไฟฟ้า เรื่องพลังลม ไปตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์ ประเทศไทยต้องพยายามจูงใจให้บริษัทต่างๆเปลี่ยนมาผลิตรถไฟฟ้าให้ได้เพื่อลดมลภาวะ และไม่ต้องนำเข้าน้ำมันมากมาย ต้องมีแผน และไม่ทำให้คนมีรถเครื่องยนต์ธรรมดาวันนี้ต้องเดือดร้อน ถ้าซื้อรถไฟฟ้าก็อาจซื้อได้ในราคาถูกกว่า หรือมีแรงจูงใจทางภาษี ในที่สุดมลภาวะจากรถยนต์ก็จะหายไป ส่วนโรงเรียนอาชีวะทั้งหลายควรฝึกให้เป็นนายหุ่นยนต์ให้หมดเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการส่งออก

ส่วนการเผาชีวมวลทั้งหลายช่วงเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ แทนที่จะเผาตอข้าวก็ให้ขังน้ำให้เน่าเหมือนเวียดนาม จุลินทรีย์ในดินก็จะไม่เสียหาย กลายเป็นปุ๋ยและทำให้ผลผลิตในปีต่อไปมากขึ้น การเผาเป็นการทำลายจุลินทรีย์ในดิน ทำให้ต่อไปผลผลิตอาจตกต่ำ และต้องใช้ปุ๋ย ใช้ยาฆ่าแมลงมาก

ดูไบมีฝุ่นเป็นอันดับ 10 ของโลก เกิดจากพายุทะเลทราย ก็ขยันปลูกต้นไม้มากๆ ซึ่งต้นไม้ก็มาจากเมืองไทยแทบทั้งนั้น เดี๋ยวนี้ที่ดูไบเขียวชอุ่ม เมื่อก่อนไม่มีฝน แต่ตอนนี้มีฝนเรื่อยๆ เพราะความชุ่มชื้นจากต้นไม้ แต่กรุงเทพฯปลูกตึกจนทิ้งต้นไม้หมด ต่อไปต้องไปเพิ่มทาวเวอร์เพื่อขจัดมลพิษเหมือนที่ฮ่องกง

ไทยจะรับมืออย่างไร

อดีตนายกฯทักษิณพูดถึงหนังสือปี 1970 ของนักอนาคตศาสตร์ “อัลวิน ท็อฟฟ์เลอร์” ชื่อ Future Shock : The Third Wave ที่ให้คำจำกัดความ Future Shock คือการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในระยะเวลาอันสั้น เปลี่ยนเร็วเพราะเทคโนโลยีพัฒนาเร็ว โดยเตือนคำว่า The Third Wave คลื่นลูกแรกคือยุคเกษตรกรรม ยุคที่ผู้คนมีน้ำจิตน้ำใจต่อกัน สิ่งแวดล้อมดี สะอาด และสุขภาพพลานามัยดี คลื่นลูกที่ 2 ยุคอุตสาหกรรม ผู้คนละโมบ มือใครยาวสาวได้สาวเอา อยากจะแข่งกันผลิตจำนวนมากๆเพื่อให้รวย เป็นยุคที่ทำลายสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมที่ดีงามทั้งหลายก็เสียหายไป สุขภาพพลานามัยก็แย่ลง เพราะทุกคนต้องรีบทำงานจนไม่มีเวลาดูแลตัวเอง คลื่นลูกที่ 3 เป็นคลื่นของเทคโนโลยีด้านสังคมข่าวสาร ข้อมูลข่าวสาร และเทเลคอมมูนิเคชั่นทั้งหลาย

อดีตนายกฯทักษิณมองว่า ยุคต่อไปใครทำมาหากินด้านสุขภาพจะมาถูกทาง เพราะคนเริ่มห่วงสุขภาพ มีเงินก็กลัวตายกลัวป่วย เทคโนโลยีจะทำให้คนอายุถึง 120 ปี แต่จะอยู่อย่างไรให้มีคุณภาพ ให้ทุกคนดูว่าอนาคตโลกจะไปทางไหน แล้วประเทศไทยจะรับมืออย่างไร

คนอคติยังซูฮก “ทักษิณ”

วิสัยทัศน์ของอดีตนายกฯทักษิณเห็นชัดเจนว่ามองอย่างเป็นระบบในการแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นทั้งปัจจุบันและอนาคต แม้แต่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัวกรณีอดีตนายกฯทักษิณให้ความเห็นถึงปัญหาวิกฤตฝุ่นและวิกฤตพลังงานว่า

“นี่ขนาดฟังแบบคนที่มีอคติต่อทักษิณแล้วนะ ยังทึ่งเลย แกจับประเด็นเรื่องฝุ่นละออง PM2.5 ได้ดีมากๆ ทั้งเรื่องสาเหตุและแนวทางแก้ไข รวมไปถึงวิสัยทัศน์ในอนาคตด้วย เรียกว่าดีกว่าลุงตู่ ลุงป้อม หรือนายบีให้สัมภาษณ์มากมายนัก สรุปสั้นๆว่า แกออกตัวว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่เห็นว่าปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ส่งผลกระทบมากต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว และสาเหตุหลักมาจากปัญหาเรื่องรถ ซึ่งไม่อ้อมค้อมเลยที่จะฟันธงว่าเป็นเครื่องยนต์ดีเซล โดยเสนอให้ส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้าหรือ EV อย่างจริงจังเหมือนในประเทศจีน เพื่อเลิกใช้เครื่องยนต์ดีเซลและรถเก่าๆได้แล้ว ซึ่งถ้าไม่รีบตัดสินใจให้บริษัทผลิตรถยนต์ในไทยเปลี่ยนมาผลิตรถ EV ต่อไปเขาก็จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นกันหมดด้วยนะ แต่ถ้าเราจะเป็นฐานการผลิตรถ EV บ้างเราก็จะสามารถส่งออกไปขายได้

ที่เหลือลองไปฟังดูนะครับ มีอีกหลายประเด็นน่าสนใจเลย อย่างเช่นเรื่องการส่งเสริมให้ชาวนาใช้วิธีการหมักตอซังข้าวในนาแทนการเผาตอซังทิ้งแล้วเกิดฝุ่นละออง

“อนุสรณ์” เตือนรัฐบาลทหารฝุ่นพิษเสียหายถึง 5,500 ล้าน

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงปัญหามลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ ปัญหาขยะล้นเมืองและขยะมีพิษ รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆของกรุงเทพฯและปริมณฑลว่า จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆหากไม่ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและไม่มีมาตรการเชิงรุกทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งอาจกระทบทางเศรษฐกิจมากถึง 5,500 ล้านบาทจากการท่องเที่ยวที่ลดลง โดยการพัฒนาประเทศต้องเน้นการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศ ลดการรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และการใช้สารเคมีโดยกำหนดค่ามาตรฐานให้ชัดเจน จัดเก็บภาษีผู้ก่อมลพิษทางอากาศเพื่อนำรายได้มาปกป้องสิ่งแวดล้อม สร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น สร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น ปลูกต้นไม้ประเภทที่ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศได้

ยกระดับมาตรฐานรถยนต์ปล่อยมลพิษลดลง ยกระดับมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 สนับสนุนรถไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด ปรับลดค่าโดยสารขนส่งระบบรางให้ถูกลงและให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงการใช้บริการ และทบทวนการใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมือง รวมถึงแก้ไขผังเมืองพื้นที่ EEC ที่ทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลและปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบมาบตาพุดในอนาคต

“จาตุรนต์” ประกาศตัดงบกลาโหมเปลี่ยนนโยบายคลังและงบประมาณ

การแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นแบบโทษปี่โทษกลองยิ่งทำให้เห็นชัดเจนว่าทำไมการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่กลุ่มทุนที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจกลับรวยขึ้นๆ ขนาดโครงการขนาดใหญ่มูลค่านับแสนล้านยังประเคนให้โดยไม่ต้องประมูล ส่วนประชาชนและเกษตรกรส่วนใหญ่กลับยากจนลง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ค Chaturon Chaisang เสนอ “เปลี่ยนนโยบายการคลังและงบประมาณ” หลังมีข่าวว่ากองทัพจะซื้อรถถังจากจีนอีก 14 คัน เป็นเงิน 2,300 ล้านบาท รวมทั้งหมด 5 ปีหลังรัฐประหารกองทัพไทยซื้ออาวุธจากจีนไปแล้วทั้งสิ้นเกือบ 50,000 ล้านบาท ไม่รวมเรือดำน้ำอีก 2 ลำ ที่ใช้งบปี 2562 ประมาณ 27,000 ล้านบาท

ขณะที่เศรษฐกิจประเทศกำลังตกต่ำ ประชาชนทุกระดับรู้สึกถึงความเดือดร้อนทั่วกันหมด ที่สำคัญในรอบหลายปีที่ผ่านมางบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ ขาดดุลเพิ่มสูงขึ้น และยังใช้วิธีอนุมัติงบประมาณที่มีผลผูกพันไปในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าถึง 1,178,275 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ ครม. เพิ่งเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท

ย้อนดูงบประมาณกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องโดดเด่นเป็นพิเศษ ในรอบหลายปี (ปีงบประมาณ 2558-2562) จะพบว่างบประมาณกระทรวงกลาโหมที่สูงอยู่แล้วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปี 2562 คือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 3%

นอกจากนี้ยังมีการตั้งงบประมาณผูกพันสำหรับการซื้ออาวุธเป็นจำนวนมากราว 43,860 ล้านบาท มีการผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปี 2561-2565 และปีต่อๆไปรวม 1,229,937.1 ล้านล้านบาท และพบว่ามีการกระจุกตัวใน 3 กระทรวงใหญ่

งบประมาณสำหรับรายจ่ายประจำ เงินเดือน และค่าจ้างสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปีงบประมาณ 2562 นี้มีสัดส่วนสูงเป็นประวัติการณ์คือ 35% ของงบประมาณโดยรวม

แต่งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการลดลงอย่างต่อเนื่อง คือปี 2560 ติดลบ 0.6% ปี 2561 ติดลบ 1.2% และปี 2562 ติดลบ 4%

การใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐใน 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เป็นหนี้สะสมราว 6.5 ล้านล้านบาท จากการสร้างภาระผูกพันทำให้หนี้สาธารณะ 42% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน เพิ่มเป็น 47.30% ในปี 2564

นโยบายการคลังและงบประมาณหลายปีที่ผ่านมามีลักษณะหลงทิศผิดทางและเป็นผลเสียทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะลักษณะการทิ้งทวนเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเพื่อฐานของรัฐบาลคือกองทัพกับข้าราชการและการหาเสียงต่อประชาชนโดยตรง

นายจาตุรนต์ประกาศว่าหากพรรคไทยรักษาชาติเป็นรัฐบาลจะเปลี่ยนนโยบายการคลังและงบประมาณใหม่ จะลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการป้องกันประเทศและสภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ ขยายโอกาสในภาคส่วนต่างๆ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

“ไม่ใช่พรรคการเมืองหรือนักการเมืองล้ำเส้นกองทัพ แต่เป็นภาระหน้าที่โดยชอบในระบอบประชาธิปไตยที่ปฏิบัติกันอยู่ทั่วไปในอารยประเทศ”

จอดรออีก 20 ปี ใจเย็นๆ..ไม่ต้องรีบ

วิกฤตฝุ่นที่รุนแรงไปทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล ท่ามกลางวิกฤตบ้านเมืองกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ฝุ่นพิษใต้ท็อปบู๊ตเผด็จการรัฐประหาร ไม่ได้ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศในทางที่ดีขึ้นเลย ตรงข้ามกลับทำให้การเมืองและเศรษฐกิจยิ่งถอยหลัง เพราะผู้มีอำนาจพยายามทำให้ประชาชนเชื่อว่า “ระบอบประชาธิปไตยอย่างอารยประเทศที่มาจากประชาชนและเป็นของประชาชน” ไม่สามารถทำให้ประเทศมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ได้เท่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”

กลุ่มการเมืองและประชาชนจำนวนไม่น้อยจึงสนับสนุน “ลุงฉุน” ให้สืบทอดอำนาจต่อ ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม แม้แต่การรัฐประหารซ้ำซาก อย่างที่ผู้นำกองทัพประกาศชัดเจนว่ารับประกันว่าจะไม่มีการรัฐประหารอีก แต่ก็ทำ

“ประเทศกูมี” จึงจะจมปลักใน “วงจรอุบาทว์” ต่อไป ตราบใดที่กองทัพยังเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองที่แยกไม่ได้กับความมั่นคงของประเทศ การเลือกตั้งครั้งนี้หลายพรรคการเมืองได้ประกาศชัดเจนว่าต่อต้านการรัฐประหารและต่อต้าน “ลุงฉุน” ในการสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่เพียงแค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญและไม่เอา “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เท่านั้น แต่ประกาศจะขอ “ปฏิรูปกองทัพ” เพื่อตัด “วงจรอุบาทว์” ให้สิ้นซาก

การสำรวจความคิดเห็นประชาชนของทุกโพล ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง และมีความคาดหวังว่าหลังการเลือกตั้งความเป็นอยู่น่าจะดีขึ้น การมีประชาธิปไตยที่เป็นอารยะเศรษฐกิจจะดีขึ้น เพราะประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะพูด จะเรียกร้อง จะตรวจสอบ และสิทธิความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ด้วยอำนาจของตนคือ “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ผ่านการเลือกตั้ง

ขณะที่การเลือกตั้งครั้งนี้ฝ่ายประชาธิปไตยประกาศว่า..แพ้ไม่ได้ ฝ่ายอำนาจนิยมก็กรอกหูประชาชนให้เชื่อว่าหากให้นักเลือกตั้งกลับมามีอำนาจเต็มรูปแบบอีกครั้ง ประเทศจะกลับสู่ความวุ่นวายเดิมๆ สู้มอบอำนาจให้ “คนดี” ที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบบริหารประเทศด้วยอภินิหารทางกฎหมายจะดีกว่า

การเมืองไทยจึงไม่ต่างอะไรกับรถยนต์ที่สตาร์ทเครื่องยนต์พ่นไอเสีย จอดแช่ในกะลายักษ์ และปล่อยควันพิษเสียเอง

ใจเย็นๆ..ยังมีเวลาอีกตั้ง 20 ปี ..จะรีบไปไหน!!??


You must be logged in to post a comment Login