วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ติดคุกเพราะจน! / โดย นายหัวดี

On October 24, 2018

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

ประเด็นหลักเกณฑ์การปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้ “กฎหมายเท่าเทียม” คุกไม่ได้มีไว้ขัง “คนจน” ที่ไม่มีเงินประกันตัว

ซึ่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “ลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม : ปัญหาการกำหนดหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวตามข้อกำหนดประธานศาลฎีกากับหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญและแนวทางในการเเก้ไข”

“ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” ที่รณรงค์ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสอง ระบุว่า ศาลต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยไม่มีความผิดในคดีอาญา หากคดียังไม่ถึงที่สุดจะกระทำต่อจำเลยเยี่ยงผู้กระทำผิดไม่ได้

แม้ข้อบังคับศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2548 กำหนดอัตราประกันตัวในวรรค 5 แต่คำถามคือ คนไม่มีเงินจะทำอย่างไร แปลว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 29 ไม่จริง ทั้งที่ตามหลักแล้วผู้ที่จะติดคุกเพราะถูกตัดสินว่ามีความผิด

“อรรถพล ใหญ่สว่าง” อดีตอัยการสูงสุด ยอมรับว่า หลักกฎหมายที่คนเสมอภาคในทางกฎหมายนั้นเป็นไปไม่ได้ ทั้งยังมีกลุ่มนายทุนที่ทำธุรกิจนายประกันและได้ประโยชน์จากการให้กู้เงินประกันจำนวนมาก จนมีข่าวลือว่าต้องมีการจัดคิวบริษัทในการจ่ายเงินประกัน

ในฝรั่งเศสไม่กำหนดทรัพย์สิน เพราะถือว่าการใช้เงินเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม แต่ให้ศาลประเมินตามกรณี หากเสี่ยงหลบหนีก็สั่งขัง หากคดีไม่กระทบสังคมมาก ผู้ขอประกันมีที่อยู่ ที่ทำงานเป็นหลักแหล่ง มีลูกต้องเลี้ยงก็ปล่อยตัว แต่ต้องรายงานตัวต่อศาลหรือตำรวจก่อนไปทำงาน

การกำหนดหลักประกันต้องทำให้เกิด “ความเสมอภาค” ถ้ามีเงินแล้วประกันตัวได้ คนมีเงินหรือรู้จักข้าราชการก็มีสิทธิ์ปล่อยตัวชั่วคราว แต่ “คนจน” หลายคนยอมรับผิดเพราะไม่มีเงินประกันตัว!


You must be logged in to post a comment Login