วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567

เปิดชุดความรู้ “ความจริงไขมันทรานส์”

On July 25, 2018

ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  (อย.) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดแถลงข่าว “ความจริงไขมันทรานส์”

นางสาวสุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ส่งผลให้ “ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ”โดยก่อนหน้านี้ อย. ได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการล่วงหน้า และปัจจุบันผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารที่มีน้ำมันและไขมันเป็นส่วนประกอบได้ปรับสูตรโดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว ดังนั้นผลิตภัณฑ์อาหารอย่างเนยเทียม เนยขาว เบเกอรี่ เช่น เค้ก พาย คุกกี้ อาหารทอดแบบน้ำมันท่วม ครีมเทียม จึงพบไขมันทรานส์ในปริมาณที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจบางส่วนซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์

ผู้อำนวยการสำนักอาหาร อย. กล่าวว่าสิ่งที่อย.ต้องจับตาและเฝ้าระวังหลังจากที่ประกาศ ฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้คือ การเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า สถานที่จำหน่ายอย่างเข้มงวด และอาจมีการสุ่มตัวอย่างวิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง อย่างไรก็ตามขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายใช้โอกาสนี้ในการโฆษณากล่าวอ้าง “ปราศจากไขมันทรานส์” หรือ “ไขมันทรานส์0%” บนผลิตภัณฑ์ของตน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสับสนและเข้าใจว่าปลอดไขมันทรานส์ขณะที่ไขมันอิ่มตัวยังสูงอยู่ดังนั้นเพื่อเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแก่ผู้บริโภค จึงให้ใช้ข้อความ “ปราศจาก/ไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์” ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์แก่ผู้บริโภค รวมถึงแสดงปริมาณไขมันทรานส์ได้เฉพาะในฉลากโภชนาการแบบเต็มเท่านั้น โดยแสดงไว้ที่ตำแหน่งใต้ไขมันอิ่มตัว และใช้หลักเกณฑ์การปัดตัวเลขเช่นเดียวกับไขมันอิ่มตัวในกรณีที่ฝ่าฝืนประกาศฯ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท

รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการที่สถาบันสุ่มสำรวจการปนเปื้อนไขมันทรานส์ในผลิตอาหารจำนวน 162 ตัวอย่าง โดยพิจารณาจากปริมาณไขมันทรานส์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน หรือ 0.5 กรัม ต่อหน่วยบริโภค ส่วนไขมันอิ่มตัว ไม่เกิน 5 กรัม ต่อหน่วยบริโภคพบว่า 53% พบไขมันอิ่มตัวสูงกว่าเกณฑ์และประมาณ 13% พบไขมันทรานส์สูงกว่าเกณฑ์ สรุปว่าพบการปนเปื้อนไขมันทรานส์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับไขมันอิ่มตัว สะท้อนว่าการได้รับไขมันทรานส์ในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยน้อยกว่าความเสี่ยงในการได้รับไขมันอิ่มตัว อีกทั้ง ไขมันทรานส์จะพบในอาหารประเภทเบเกอรี่เป็นหลัก สิ่งที่น่ากังวลคือผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการระบุหน้าซองว่าไขมันทรานส์ 0% เกรงว่าจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดว่าอาหารชนิดนั้นบริโภคได้มาก ไม่มีไขมันทรานส์ แต่ที่จริงยังมีไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูงไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะกล่าวว่า ขณะนี้สังคมยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไขมันทรานส์ และเกิดความตื่นตระหนกในการบริโภค สสส.จึงร่วมกับอย. สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดทำสื่อความรู้ที่เข้าใจง่ายและถูกต้องทางวิชาการเรื่อง “ความจริงไขมันทรานส์” เพื่อสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค อาทิ อาหารที่มีส่วนผสมของเนยขาว เนยเทียม เป็นส่วนประกอบผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ตามปกติในปริมาณที่เหมาะสม เพราะผู้ประกอบการได้ปรับสูตรและกระบวนการผลิตของเนยขาวและเนยเทียมที่ไม่ทำให้เกิดไขมันทรานส์แล้ว สำหรับกรณีน้ำมันทอดซ้ำก็มิใช่เป็นแหล่งไขมันทรานส์ แต่ควรหลีกเลี่ยงเพราะทำให้เกิดสารก่อมะเร็งรวมถึงคำแนะนำในการกินไขมันที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยเฉลี่ยต้องบริโภคไขมันไม่เกิน 2-3 ช้อนชาต่อมื้ออาหาร ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซด์ สสส.และ อย. นอกจากนี้สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำการรณรงค์และขับเคลื่อนสังคมเพื่อลดการบริโภคไขมันของประชาชนไทย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ควบคู่ไปกับการพัฒนาวิชาการ งานนวัตกรรม และร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเฝ้าระวังปริมาณไขมันทราน์และการกล่าวอ้างทางด้านโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหารในท้องตลาด หลังจากที่ประกาศมีผลบังคับใช้เพื่อให้ความรู้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

นพ.ฆนัท ครุฑกุล เครือข่ายคนไทยไร้พุง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและโภชนาการวิทยาคลินิก โรงพยาบาลรามาธิบดีกล่าวว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดติดอันดับ1 ใน 3 สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริโภค มาตรการห้ามใช้ไขมันทรานส์จึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคในสังคมไทย เพราะไขมันทรานส์หากรับประทานในปริมาณมากเกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันและหลอดเลือด จึงไม่ควรมีไขมันทรานส์จากกระบวนการทางอุตสาหกรรมในอาหาร อย่างไรก็ตามสังคมไทยยังบริโภคไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูง จากวัฒนธรรมการรับประทานของทอด จึงควรจำกัดปริมาณการบริโภคไขมัน เน้นอาหารต้ม นึ่ง เมนูผัดไม่ควรใช้ความร้อนสูง

t02

t03

t04

t05

t07


You must be logged in to post a comment Login