วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

อีหลักอีเหลื่อ

On July 9, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลังร่าง พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยไม่มีเสียงคัดค้าน ทำให้จากนี้ไปอีก 20 ปี การบริหารประเทศต้องเดินตามแผนที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเขียนไว้ ปัญหาที่ทุกคนมองเห็นในตอนนี้คือ สถานะของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะมีสภาพไม่ต่างจากการเป็นรัฐบาลหุ่นเชิด เกิดภาวะอีหลักอีเหลื่อระหว่างฝ่ายการเมืองกับข้าราชการ เพราะไม่รู้ใครเป็นฝ่ายนโยบายใครเป็นฝ่ายปฏิบัติ เมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีทั้งสิ้น 34 คน มีข้าราชการ 17 คนนั่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง อีก 17 คนรัฐบาล คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 179 เสียงโดยไม่มีเสียงคัดค้าน ให้ความเห็นชอบ พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ที่จะมีผลบังคับใช้ไป 20 ปี

ต้องจดบันทึกไว้ว่า ยุทธศาสตร์ชาติที่มีผลบังคับใช้ 20 ปี ที่ประชุม สนช. ใช้เวลาพิจารณาไม่นานก่อนลงมติให้ความเห็นชอบอย่างท่วมท้นโดยไม่มีเสียงคัดค้านแม้แต่เสียงเดียว

สำหรับร่างยุทธศาสตร์ที่ สนช. ให้ความเห็นชอบมีสาระสำคัญ 6 ด้านดังนี้

1.ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญคือ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เน้นการบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีความสงบเรียบร้อยในทุกระดับ ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

2.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติบนพื้นฐานแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ 1.“ต่อยอดอดีต” โดยมองกลับไปที่รากเหง้านำมาประยุกต์ผสมผสานให้สอดรับกับ บริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ 2.“ปรับปัจจุบัน” เพื่อปูทางสู่อนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในมิติต่างๆ 3.“สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” ด้วยการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด

3.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง มีคุณภาพ และเป็นพลเมืองดีของชาติ

4.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ให้ความสำคัญการดึงพลังของภาคส่วนต่างๆร่วมขับเคลื่อน โดยการสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนในการร่วมคิดร่วมทำเพื่อส่วนรวม

5.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ

6.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนภาครัฐ โดยภาครัฐต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาทภารกิจ พร้อมที่จะปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา และสร้างจิตสำนึกในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างสิ้นเชิง

ขั้นตอนต่อไปเมื่อกฎหมายประกาศใช้แล้ว คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้านจัดทําแผนแม่บทเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กําหนดไว้ก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและรับไปดำเนินการ

ทั้งนี้ เมื่ออ่านสาระสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้ว ไม่มีใครเถียงว่าเป็นเรื่องที่ดีหากทำได้บรรลุตามเป้าหมายที่เขียนไว้อย่างสวยหรู

แต่ประเด็นคือจะเดินไปให้ถึงเป้าหมายที่เขียนไว้สวยหรูนั้นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเหลือบมององค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะมาทำแผนเพื่อเดินไปให้ถึงเป้าหมาย

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีทั้งสิ้น 34 คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน เช่น นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ที่เหลือประกอบด้วยข้าราชการระดับสูง โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพและตำรวจ รวมทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 17 คน มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.

ประเด็นที่เป็นห่วงกันมากคือ การให้ข้าราชการซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติมากำหนดนโยบายผ่านยุทธศาสตร์ชาติที่อาจย้อนแย้งกับรูปแบบการบริหารประเทศของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลมีอำนาจเหนือกว่าข้าราชการในฐานะผู้บังคับบัญชา แต่กลับให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดนโยบาย

หลังการเลือกตั้งจะมีตัวแทนประชาชนเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติโดยตำแหน่งเพียง 2 คนคือ นายกรัฐมนตรีกับประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีเสียงไม่มากพอที่จะผลักดันนโยบายของฝ่ายการเมืองเข้าไปอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติได้

รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะมีสภาพเสมือนรัฐบาลหุ่นเชิดที่ต้องเดินตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดโดยฝ่ายข้าราชการ ไม่ทำไม่ได้เพราะกฎหมายมีสภาพบังคับ การบริหารประเทศก็จะอีหลักอีเหลื่อ เต็มไปด้วยความอึดอัดใจ ลําบากใจ ไม่รู้ใครเป็นฝ่ายนโยบายใครเป็นฝ่ายปฏิบัติ


You must be logged in to post a comment Login