วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เสียดายงบ?

On April 30, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การสร้างความสามัคคีปรองดองเป็นเป้าหมายหลักเป้าหมายหนึ่งในการเข้ามายึดอำนาจของ คสช. แต่หลังถือครองอำนาจมาเกือบครบ 4 ปี บรรยากาศในบ้านเมืองไม่มีไรเข้าใกล้สิ่งที่เรียกว่าสามัคคีปรองดอง แม้จะมีการใช้งบประมาณไปเป็นหลักร้อยล้านบาทในหลายหน่วยงานเพื่อทำโครงการต่างๆ คำถามคือมีการประเมินผลที่ได้จากการดำเนินการหรือไม่ว่ามีความคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปมากน้อยเพียงใด แม้การใช้งบประมาณไม่ออกดอกออกผลอย่างที่ต้องการ แต่ยังคิดทำโครงการเพื่อใช้งบประมาณต่อไปเรื่อยๆ เห็นว่าโค้งสุดท้ายของโรดแม็พ ก่อนถึงวันเลือกตั้งจะมีแคมเปญใหญ่ออกมาอีก

ยังจำ “สัญญาประชาคมเพื่อความสามัคคีปรองดอง” ได้หรือไม่

ถึงจะดูเงียบๆไป ไม่ขึงขังจริงจังเหมือนตอนเปิดตัวโครงการที่ประกาศจะดึงพรรคการเมืองมาร่วมลงนามในสัญญาประชาคมเพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองอย่างยั่งยืน

แต่โครงการนี้จะยังเดินหน้าต่อเนื่อง

นอกจากตัวสัญญาประชาคมเพื่อความสามัคคีปรองดองแล้ววันนี้ยังเปิดตัว มาสคอต “น้องเกี่ยวก้อย” มาทำหน้าที่ในฐานะทูตปรองดอง อย่างเป็นทางการ

ความจริง “น้องเกี่ยวก้อย” เคยเปิดตัวมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ยับเรื่องรูปร่างหน้าตาและการแต่งกาย ต้องกลับไปปรับโฉมกันมาใหม่ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อไม่นานที่ผ่านมา

สาระสำคัญของงานนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวมาสคอต ไม่ได้อยู่ที่ตัวสัญญาประชาคมเพื่อความสามัคคีปรองดอง ที่เสียงบประมาณจ้างคนมานั่งระดมสมองก่อนสรุปออกมาได้ 10 ข้อ

เป็น 10 ข้อที่ถูกมองว่าไม่มีอะไรใหม่ เป็นเรื่องเก่าๆ เดิมๆ ที่เคยมีการศึกษาและเสนอกันมาก่อนแล้ว แต่ไม่เคยถูกนำไปปฏิบัติเกิดผลอย่างจริงจังจากผู้ถือครองอำนาจ

แม้แต่ในรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันก็แทบไม่ได้เดินตามสัญญาประชาคมที่ตัวเองตั้งคนมาศึกษาและร่างขึ้นมาแม้แต่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัญญาประชาคมเพื่อความสามัคคีปรองดองข้อแรกที่ให้ร่วมกันสร้างบรรยากาศสามัคคีปรองดอง ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ร่วมกันสร้างสถานบันการเมืองให้เข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นฉันทามติของคนไทยทั้งประเทศ

จะเห็นได้ว่าบรรยากาศบ้านเมืองในปัจจุบันไม่มีอะไรแตกต่างไปจากบรรยากาศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ทั้งที่สัญญาประชาคมฯนี้ถูกประกาศออกมาหลายเดือนแล้ว และมีการนำไปเผยแพร่ในระดับต่างๆอย่างกว้างขวางจากหน่วยงานรัฐ

คำถามคือเราเสียงบประมาณเพื่อการนี้ไปทำไม

มีการประเมินผลที่ได้จากการดำเนินการหรือไม่ว่ามีความคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปมากน้อยเพียงใด

แม้จะไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนแต่โครงการนี้ก็น่าจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่าหลักสิบล้านบาทหากนับตั้งแต่ค่าเบี้ยประชุมของคณะกรรมการที่ระดมสมองก่อนได้สัญญาประชาคมฯออกมา 10 ข้อ

ยังไม่รวมการให้หน่วยงงานภาครัฐจัดอีเว้นท์ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อเผยแพร่สัญญาประชาคมฯกับประชาชนทั้งในระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับภูมิภาค

ถ้านับรวมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำโครงการโดยประกาศเป้าหมายเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่ไม่เกี่ยวกับสัญญาประชาคมฯอีกหลายโครงการ ทั้งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงกลาโหม ฯลฯ น่าจะใช้งบประมาณเพื่อสร้างความปรองไปแล้วหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป

ไม่ว่าจะเดินแจกสัญญาประชาคมฯสักกี่แผ่น ไม่ว่าจะจัดอีเว้นท์ จัดประชุมกี่ครั้ง หากผู้คุมอำนาจสูงสุดไม่แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าบริหารบ้านเมืองและใช้อำนาจโดยยึดหลักตามสัญญาประชาคมฯ การจะให้สัมฤทธิ์ผลตามโครงการคงเป็นเรื่องยาก

ท้ายที่สุดโครงการนี้จะล้มเหลว ว่างเปล่า เป็นการใช้งบประมาณแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่เกิดผลใดๆในทางปฏิบัติ

อย่างไรก็ตามแม้การทำสัญญาประชาคมฯจะส่อไปในทางล้มเหลว แต่ก็ยังมีข่าวว่า โค้งสุดท้ายของโรดแม็พ ก่อนถึงวันเลือกตั้งจะเห็น “แคมเปญใหญ่” ออกมาอีกครั้ง

ยังไม่มีใครรู้ว่า “แคมเปญใหญ่” ก่อนการเลือกตั้งที่ว่าคืออะไรต้องใช้งบประมาณอีกเท่าไหร่

แต่คงเดาผลที่จะได้จากการทำโครงการล่วงหน้าไม่ยาก


You must be logged in to post a comment Login