วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ชัดเจนมิถุนายน

On April 27, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

สถานการณ์การเมืองเหมือนน้ำซุปที่ถูกเคี่ยวอยู่ในหม้อกำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ การเมืองในช่วงเดือนมิถุนายนถือว่าน่าติดตามเพราะจะเป็นเดือนชี้เป็นชี้ตายว่าโรดแม็พเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปจากเดิมอีกหรือไม่ ถ้าเลื่อนจะเลื่อนไปอีกนานเท่าไหร่ เพราะเดือนมิถุนายนทุกอย่างจะกระจ่างพร้อมกันทั้งผลการเลือกกกต.ชุดใหม่ ผลตีความกฎหมายเลือกตั้งส.ส. ผลตีความกฎหมายการได้มาซึ่งส.ว. ผลตีความคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายพรรคการเมืองของหัวหน้าคสช. รวมถึงหัวข้อการพูดคุยระหว่างพรรคการเมืองกับหัวหน้าคสช. ประเทศไทยหลังเดือนมิถุนายนบรรยากาศจะเป็นอย่างไร ถือว่าน่าสนใจยิ่ง

ขณะที่เสียงวิจารณ์การใช้อำนาจมาตรา 44 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งล้มการสรรหา คณะกรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังมีอยู่เป็นระยะ

แต่การคัดเลือกกรรมการองค์กรอิสระที่ถูกสมาชิกสภานิติบัญญติแห่งชาติ (สนช.) โหวตคว่ำเพื่อเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่โดยไม่ถูกอำนาจมาตรา 44 สั่งระงับอย่างการคัดเลือกผู้เหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังเดินหน้าต่อไป และเดินมาถึงจุดสำคัญ

จุดสำคัญที่ว่าคือขั้นตอนการสรรหาได้สิ้นสุดลงไปแล้ว โดยการตั้งโต๊ะรับสมัครผู้ที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายปิดยอดไปเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้เข้าแข่งขันแย่งเก้าอี้กกต.ทั้งสิ้นรวม 33 คน

ผู้สมัครกลุ่มนี้กำลังอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบคุณสมบัติว่าครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายกำหนดจริงหรือไม่

ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจะต้องเข้ารับการสอบสัมภาษณ์เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ในการทำหน้าที่กกต. หากผ่านทั้งสองขั้นตอนจึงส่งชื่อให้ที่ประชุม สนช.ลงมติว่าจะเลือกใครเป็นกกต.ต่อไป

คาดว่ากระบวนการทั้งหมดนี้จะสิ้นสุดประมาณไม่เกินเดือนมิถุนายน หากไม่เกิดกรณีล้มการสรรหาเพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

ขณะที่ตัวแทนสายศาลยุติธรรม มีผู้เสนอตัวเป็นตัวแทนเข้าคัดเลือกเป็นกกต. 5 คน โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาลงมติเลือก 2 คนคือนายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

มีความน่าสนใจตรงที่ทั้งนายฉัตรไชย และนายปกรณ์ คือสองรายเดิมที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาลงติเลือกเป็นตัวแทนส่งให้ สนช.เลือกเป็นกกต.ในรอบที่แล้วแต่ถูก สนช.ตีตกไม่รับรองให้นั่งเก้าอี้

เหตุผลในการตีตกครั้งนั้นอ้างว่าวิธีการคัดเลือกของศาลฎีกาอาจขัดต่อกฎหมายกกต.ที่ให้ลงมติเลือกตัวแทนโดยเปิดเผย แต่การกาบัตรหย่อนลงกล่องอาจเข้าข่ายเป็นการเลือกหรือลงมติลับ เพราะไม่มีใครรู้ว่าใครลงคะแนนให้ใคร

ครั้งนี้ที่ศาลฎีกาแก้ปัญหาด้วยการออกระเบียบศาลฎีกาว่าด้วยการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. พ.ศ.2561 เพิ่มเติมเป็นฉบับที่ 3

โดยแก้ไขเพิ่มเติมการลงมติในข้อ 10 กำหนดให้การลงมติเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. ให้กระทำโดยเปิดเผย ด้วยการทำเครื่องหมายกากบาท (X) อย่างชัดเจน ลงหน้าชื่อตัว และชื่อสกุลผู้ซึ่งตนเลือก จำนวนไม่เกิน 2 คน หรือจำนวนเท่าที่ยังขาดอยู่ในบัตรเลือกที่จัดไว้ พร้อมให้ระบุชื่อ-สกุล ผู้เลือก ลำดับหมายเลขตามบัญชีอาวุโสในศาลฎีกา แล้วนำบัตรเลือกไปมอบให้คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติและนับคะแนน เพื่อดำเนินการนับคะแนนต่อไป พร้อมกับให้ให้เลขานุการศาลฎีกา เป็นผู้เก็บรักษาบัตรเลือก ไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี หากไม่มีการโต้แย้งการคัดเลือกสามารถทำลายบัตรได้

ต้องตามดูต่อว่าเมื่อศาลฎีกาเปลี่ยนวิธีการลงคะแนนให้สามารถรู้ได้ว่าใครลงคะแนนให้ใครแล้ว แต่มติที่ออกมายังเลือก 2 รายชื่อเดิมที่เคยถูกที่ประชุมสนช.ตีตก เมื่อถึงวันลงคะแนนเลือกของ สนช.ผลจะออกมาอย่างไร

ถ้าจะตีตกอีกจะใช้อะไรมาเป็นข้ออ้างหรือเป็นเหตุผลอธิบาย

ภายในเดือนมิถุนายนนอกจากจะรู้ผลคัดเลือกกกต.ชุดใหม่ที่จะมาจัดเลือกตั้งแล้ว เราน่าจะได้รู้ความชัดเจนทั้งผลตีความกฎหมายเลือกตั้งส.ส. ผลตีความกฎหมายการได้มาซึ่งส.ว. ผลตีความคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายพรรคการเมืองของหัวหน้าคสช. รวมถึงหัวข้อการพูดคุยระหว่างพรรคการเมืองกับหัวหน้าคสช.

การเมืองในช่วงเดือนมิถุนายนถือว่าน่าติดตามเพราะจะเป็นเดือนชี้เป็นชี้ตายว่าโรดแม้ปเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปจากเดิมอีกหรือไม่ ถ้าเลื่อนจะเลื่อนไปอีกนานเท่าไหร่

ประเทศไทยหลังเดือนมิถุนายนบรรยากาศจะเป็นอย่างไร ถือว่าน่าสนใจยิ่ง


You must be logged in to post a comment Login