วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

อีกหลายด่าน

On March 30, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

แม้เหตุผลข้ออ้างในการกลืนน้ำลายตัวเองของสนช.ที่กลับลำเข้าชื่อกันยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ว่าทำเพราะหวังดีต้องการให้เกิดความชัดเจนไม่ให้เกิดปัญหาหลังเลือกตั้ง แต่หากพิจารณาจากความจริงที่ว่าอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ยังคงอยู่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่จะเห็นว่าอะไรก็ไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากความคลุมเครือของกฎหมายที่กำหนดให้ต้องเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วันซึ่งไม่ชัดเจนว่า คำว่าแล้วเสร็จหมายถึงหย่อนบัตรเสร็จ หรือรวมประกาศรับรองผลเลือกตั้งด้วย ด้วยความคลุมเครือนี้อาจมีคนนำไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะก็เป็นได้

เป็นไปตามคาดหมายไม่ได้ทำให้แปลกใจอะไรกับกรณีที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่สั่งให้ คณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีแหวนเพชร กับนาฬิกาหรูของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพราะข้อเท็จจริงที่แสวงหาและนำเสนอที่ประชุมพิจารณาจำนวน 38 แผ่นยังไม่มีรายละเอียดครอบคลุมเพียงพอที่จะลงมติทางใดทางหนึ่งได้ และเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องเชิญ “บิ๊กป้อม” มาชี้แจงด้วยตัวเอง

ส่วนกรณีแหวนนั้นได้ยุติแล้วโดยที่ประชุมเห็นว่าเป็นแหวนที่มีราคาไม่เกิน 200,000 บาท จึงไม่จำเป็นต้องแจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องยื่นต่อ ป.ป.ช.

การสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจะใช้เวลาอีกกี่มากน้อยไม่มีการตีกรอบเอาไว้ คงว่ากันไปเรื่อยๆ ว่ากันไปอีกยาวๆ

ข้ามไปที่ความเคลื่อนไหวล่ารายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 25 คนเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

ล่าสุดได้รายชื่อครบตามจำนวนที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว โดยจะยื่นศาลฯตีความในสองประเด็น แต่จะเป็นประเด็นใดบ้างยังไม่มีการเปิดเผยออกมา เพราะตามข่าวบอกว่าต้องรอให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.นำเรื่องไปหารือกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อน

เป็นการหารือทั้งที่ไม่มีกฎหมายข้อใดเขียนไว้ เป็นการหารือทั้งที่เมื่อสนช.มีรายชื่อสนับสนุนครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดสามารถยื่นตีความโดยตรงต่อศาลฯได้ เหมือนกับที่ยื่นตีความร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งก็ไม่มีการหารือกับนายกฯก่อนส่งตีความ

นัยว่าเป็นการหารือเพื่อสอบถามนายกฯว่าจะส่งตีความเองหรือไม่ หากไม่ส่งสนช.จะยื่นตีความเอง ทั้งที่นายกฯประกาศชัดเจนแล้วว่าไม่ใช้สิทธิที่มียื่นตีความเพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของ สนช.

ดูท่าแล้วน่าจะต้องการใช้เวลากันอย่างเต็มที่ กว่าเรื่องจะถูกส่งถึงศาลฯคงใกล้ๆเดทไลน์วันที่ 12 เมษายน อย่างน้อยก็ปล่อยเวลาทิ้งไปเปล่าๆได้อีกเกือบครึ่งเดือน

การยื่นตีความครั้งนี้เป็นการยื่นทั้งที่คณะกรรมการประสานงาน (วิป) สนช.เคยแถลงเสียงดังฟังชัดว่าจะไม่ยื่นตีความ

เป็นการยื่นตีความทั้งที่ ในการประชุมกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย คือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.), สนช.และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยยืนยันว่า ไม่มีประเด็นใดในข้อกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

แต่เป็นการรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นตีความหลังจากที่นายกฯประกาศว่าเป็นหน้าที่ของสนช.

แม้จะพยายามทำให้เชื่อว่าไม่ได้ยื่นตีความเพื่อยื้อหรือเลื่อนเลือกตั้งออกไปจากกำหนดเดิมเพราะสามารถขอศาลรัฐธรรมนูญให้เร่งพิจารณาได้ และสามารถให้กกต.เร่งรัดเลือกตั้งให้เสร็จก่อน 150 วันตามรัฐธรรมนูญกำหนดเพื่อเอาเวลามาชดเชยกับช่วงเวลาที่รอคำตัดสินจากศาลฯได้ เพื่อคงโรดแม็พเลือกตั้งเอาไว้ที่เดิมในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

แต่เมื่อรูปการณ์เป็นเช่นนี้ทำให้สิ่งที่พยายามบอกว่าไม่มีมีทฤษฎีสมคบคิด ไม่มีใบสั่งขาดน้ำหนักความน่าเชื่อถือจนเบาหวิว

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากข้อคิดเห็นของอดีตกกต.หมาดๆ อย่างนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ที่ว่า

“เมื่อสนช.ยื่นร่างพรป.เลือกตั้งส.ส.เข้าสู่ศาลฯให้ตีความ เป็นที่แน่นอนว่า ต้องใช้เวลาพอสมควรเพราะไม่มีกรอบเวลาการกำหนดไว้ว่าศาลฯต้องทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด ดังนั้นการเลือกตั้งไม่น่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธุ์ปี 2562 อาจจะอยู่ประมาณเดือน เมษายนหรือพฤษภาคมหรืออาจจะนานกว่านั้นก็เป็นได้

ระหว่างการเลือกตั้ง ยังต้องจับตามอง เพราะอำนาจของมาตรา 44 ยังไม่หมดไป คสช.ยังมีอำนาจจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ หากเลือกตั้งแล้วมีแนวโน้มว่าพรรคที่คสช.สนับสนุนไม่ได้เป็นรัฐบาลอาจจะใช้มาตรา 44 ล้มการเลือกตั้งก็ได้ นอกจากเรื่องของการเลื่อนการเลือกตั้ง อีกสิ่งหนึ่งที่น่ากังวล คือการทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะกำลังมีความพยายามทำให้เกิดความสับสนในการบังคับใช้กฏหมาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดว่า เมื่อกฎหมายลูก 4 ฉบับบังคับใช้ ต้องเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า คำว่าแล้วเสร็จหมายถึงหย่อนบัตรเสร็จ หรือมีการประกาศความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ตรงนี้ยังไม่มีใครตอบได้ ความคลุมเครือตรงนี้ อาจจะมีมือดีลากไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และคนที่ต้องรับผิดชอบคือ กกต. ดังนั้นจึงโล่งใจที่วันนี้ ไม่ได้เป็น กกต. แล้ว”

เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่อดีตกกต.พูดทำให้เห็นว่ายังมีกับระเบิดอีกหลายลูกที่รอยื้อและทำลายการเลือกตั้งอยู่


You must be logged in to post a comment Login