วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ชักแม่น้ำทั้งห้า

On March 28, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

แม้จะยังโยนเผือกร้อนกันไปมา หาคนอาสาเป็นเจ้าภาพยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้ แต่ทีมชงเรื่องเพื่อให้อีกทีมรับลูกเริ่มทำงานกันแข็งขันมากขึ้นเมื่อเวลาสำหรับการยื่นตีความน้อยลงทุกขณะ จึงไม่แปลกที่จะได้ยินเหตุผลว่ายื่นตีความโรดแม็พเลือกตั้งก็ไม่ขยับเพราะขอศาลรัฐธรรมนูญให้เร่งชี้ขาดได้ หรือเหตุผลทำนองว่ายื่นตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจน ป้องกันไม่ให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ แม้จะเขียนกฎหมายกันมาเอง ปรับแก้กันมาเองในแม่น้ำ 5 สาย แต่เมื่อชักแม่น้ำทั้งห้ามาอ้างแบบนี้คงไม่แคล้วยื่นตีความค่อนข้างแน่

เลื่อนเลือกตั้งแน่นอนแล้ว

แต่เป็นการเลือกตั้งสนามเล็กระดับท้องถิ่นที่จะใช้เป็นสนามทดลองก่อนเลือกตั้งสนามใหญ่

เดิมทีเคาะกันไว้ว่าจะให้มีเลือกตั้งได้ในช่วงกลางปีหรือไม่ก็ช่วงไตรมาสสามของปีนี้ แต่ล่าสุดมีอันต้องเลื่อนออกไปก่อนเนื่องจากต้องมีการปรับแก้กฎหมายที่จะใช้เลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกระทรวงมหาดไทยยกร่างเสนอมา แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าต้องรื้อใหม่เกือบทั้งหมด

“จะต้องปรับแก้ประมาณ 130 มาตรา หรือเกือบทั้งฉบับ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอกลไกต่างๆเพิ่มเติมเข้ามาในร่างกฎหมาย ตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลาปรับเปลี่ยนแก้ไขเท่าไร และตอบไม่ได้อีกว่าจะส่งผลให้การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมที่คาดว่าจะเป็นช่วงกลางปีหรือไม่”

เป็นคำชี้แจงจากนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

แม้จะไม่แน่ใจว่าจะทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นถูกเลื่อนออกไปหรือไม่ แต่การปรับแก้กฎหมายแบบรื้อใหม่เกือบทั้งฉบับก็คงต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร จึงเป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะถูกเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมค่อนข้างแน่

ส่วนการเลือกตั้งระดับชาติแม้ผู้มีอำนาจยืนยันหลายครั้งว่ายังยึดตามโรดแม็พ แต่กระแสการเลื่อนเลือกตั้งก็มีออกมาเรื่อยๆ

การเลือกตั้งใหญ่จะเลื่อนออกไปหรือไม่ดูเหมือนว่าจะเหลือเงื่อนไขเดียวคือ การยื่นตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

ความต้องการที่จะให้มีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้นมีอยู่ แต่ยังติดที่เกี่ยงกันว่าใครจะเป็นผู้ยื่น

ตามกฎหมายผู้ที่มีอำนาจยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่ 2 ฝ่ายคือ นายกรัฐมนตรีและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะต้องเข้าชื่อให้ได้ไม่น้อยกว่า 25 คน

ใครที่ติดตามเรื่องนี้น่าจะพอทราบเส้นทางเดินของร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านการลงมติเห็นชอบจากที่ประชุม สนช. ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา

หลังจากนั้น สนช. ใช้สิทธิเข้าชื่อยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยยืนยันไม่ยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะไม่อยากให้กระทบโรดแม็พเลือกตั้ง และมีข่าวว่าได้ส่งร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว

แม้ไม่ชัดเจนว่าร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ถูกส่งถึงมือนายกฯตั้งแต่เมื่อไร แต่ตามกฎหมายนายกฯมีเวลา 25 วัน ที่จะพิจารณาว่าจะนำขึ้นทูลเกล้าฯหรือจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ก่อนหน้านี้หากจำกันได้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศชัดเจนหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์ที่ผ่านมาว่าจะไม่ใช้สิทธิยื่นตีความ หากจะมีการยื่นตีความให้เป็นหน้าที่ของ สนช.

ทั้งนี้ มีคำยืนยันเรื่องเงื่อนเวลาชัดเจนแล้วว่าถ้าจะยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ต้องทำภายในวันที่ 12 เมษายนที่จะถึงนี้

แต่เมื่อนายกฯประกาศไปแล้วว่าจะไม่ใช้สิทธิยื่นตีความ เผือกร้อนจึงถูกโยนกลับมาใส่มือ สนช. ซึ่งขณะนี้มีกูรูด้านกฎหมายหลายคนออกมายืนยันความชอบธรรมแล้วว่า สนช. ยังมีสิทธิเข้าชื่อเพื่อยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ได้ตราบใดที่นายกฯยังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยไม่จำเป็นที่นายกฯจะต้องตีกลับหรือส่งร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. กลับมาให้ สนช.

นอกจากนี้ยังมีการให้ข้อมูลเพิ่มความชอบธรรมในการยื่นตีความด้วยว่าจะไม่กระทบโรดแม็พเลือกตั้ง เพราะสามารถร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเร่งพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วันได้

ที่สำคัญที่สุดคือ การให้เหตุผลว่ายื่นความเพื่อให้เกิดความชัดเจน ป้องกันไม่ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะจากความไม่ชัดเจนของกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องให้เจ้าหน้าที่กาบัตรแทนผู้พิการ ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ แต่การตัดสิทธิคนไม่ไปเลือกตั้งไม่ให้เป็นข้าราชการการเมืองถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน

แม้จะเขียนกฎหมายกันมาเอง ปรับแก้กันมาเองในแม่น้ำ 5 สาย แต่เมื่อชักแม่น้ำทั้งห้ามาอ้างกันแบบนี้แล้วก็คงเดาทิศทางได้ไม่ยาก


You must be logged in to post a comment Login