วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เดินตามธง?

On March 15, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

โรดแม็พเลือกตั้งยังไม่มีอะไรแน่นอน เมื่อ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ทำหนังสือจี้ประธาน สนช. ทบทวนข้อโต้แย้งในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ต้องการให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ จากนี้ต้องรอดูว่า สนช. ที่ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ จะรักษาจุดยืนเดิมหรือมีคนใดเปลี่ยนใจไปร่วมลงชื่อให้ครบจำนวน 25 คนเพื่อยื่นตีความ ซึ่งตามหลักการ สนช. มีอิสระในการทำงาน ไม่มีใครสามารถแทรกแซงการตัดสินใจได้ หากเปลี่ยนใจร่วมลงชื่อจะถูกมองได้ว่าต้องเดินตามธง ทำตามใบสั่งที่ต้องการตีความ

ความต้องการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่ใช่เรื่องใหม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่แสดงเจตจำนงชัดเจนตั้งแต่เห็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปู้ยี่ปู้ยำร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ จนทำให้เนื้อหาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ กรธ. ยกร่างมา

ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประเด็นที่นายมีชัยติดใจคือ การจำกัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและท้องถิ่น ซึ่งอาจขัดรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิประชาชน อีกประเด็นคือ ให้เจ้าหน้าที่ลงคะแนนแทนผู้พิการได้ ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ

ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ประเด็นที่นายมีชัยติดใจคือ การแยกประเภทผู้สมัคร ส.ว. ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทอิสระ และประเภทผู้แทนองค์กร เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้การคัดเลือก ส.ว. ต้องผ่านองค์กรก่อน ซึ่งไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดที่ให้เลือกกันเองพร้อมกัน อีกประเด็นคือ ให้เลือกกันเองภายในกลุ่มจะง่ายต่อการฮั้วกันมากกว่าการเลือกไขว้

การจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ กฎหมายกำหนดไว้ 2 ช่องทางคือ ให้ สนช. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือไม่น้อยกว่า 25 คนส่งตีความ และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ส่งตีความ

นายมีชัยเลือกใช้ช่องทางแรกคือ ทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ให้พิจารณาว่าเห็นควรส่งตีความหรือไม่

แน่นอนว่าแม้นายพรเพชรจะเป็นประธาน สนช. แต่ไม่มีอำนาจใดๆสั่งการให้ สนช. เข้าชื่อกันให้ได้ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดเพื่อส่งตีความ

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากการลงมติร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ สนช. ลงมติเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา สนช. ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 211 เสียงต่อ 0 งดออกเสียง 7 เสียง

ขณะที่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ลงมติวันเดียวกัน สนช. ให้ความเห็นชอบด้วยคะแนน 202 เสียงต่อ 1 งดออกเสียง 13 เสียง

เมื่อพิจารณาจากจำนวนเสียงที่ไม่เห็นชอบ และต่อให้รวมจำนวน สนช. ที่งดออกเสียงด้วย จะเห็นว่าเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ ไม่เพียงพอที่จะเข้าชื่อกันยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

หากมี สนช. ที่ลงมติเห็นชอบมาร่วมลงชื่อเพื่อให้ได้ครบจำนวน 25 คน จะอธิบายต่อสังคมอย่างไรในเมื่อลงมติเห็นด้วยไปแล้วแต่กลับมาติดใจภายหลัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่นายมีชัยยกมานั้น สนช. ได้มีการพิจารณาทบทวนถึง 2 ครั้ง ทั้งในชั้นกรรมาธิการปรกติและในชั้นกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ซึ่งมีการอภิปรายแสดงเหตุผลกันหมดแล้วทุกแง่มุม แต่เสียงส่วนใหญ่ก็ยังให้ความเห็นชอบตามร่างที่มีการแก้ไขมา

ประเด็นสำคัญคือ ต้องถือว่านายมีชัยได้ทำหน้าที่แล้ว เพราะได้ทักท้วงเรื่องนี้มาตลอด เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นต่าง นายมีชัยก็ควรให้การยอมรับเสียงข้างมาก หากภายหน้าเกิดปัญหาก็ให้ สนช. ที่ร่วมกันลงมติเห็นชอบรับผิดชอบไป

แน่นอนว่าหากมีการยื่นตีความ โรดแม็พเลือกตั้งจะต้องถูกขยับออกไปเพื่อรอการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนจะเลื่อนออกไปกี่มากน้อยขึ้นอยู่กับว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณานานแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมาย ไม่น่าจะใช้เวลานานกว่า 30-45 วัน

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การตั้งข้อสังเกตของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ชี้ให้ดูข้อความในวรรคสามของมาตรา 148 ที่เขียนว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็น “สาระสำคัญของกฎหมาย” ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไป และเมื่อดูประเด็นที่นายมีชัยทักท้วงเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ต้องบอกว่าเป็นสาระสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. แปลว่าหากส่งตีความแล้วศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าผิดหรือขัดในสาระสำคัญ เราคงเห็นการยกร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กันใหม่ทั้งฉบับ เวลาก็จะยืดออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน

แต่ก่อนไปถึงจุดนั้นต้องช่วยกันจับตาดูว่าจะมี สนช. ที่ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ คนใดร่วมลงชื่อให้ครบจำนวน 25 คนเพื่อยื่นตีความหรือไม่ เพราะถ้ามีจุดยืนไม่น่าจะเปลี่ยนใจไปร่วมเข้าชื่อ เพราะถือว่าพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและลงมติเห็นชอบไปแล้ว ซึ่งตามหลักการสนช. มีอิสระในการทำงาน ไม่มีใครมาแทรกแซงการตัดสินใจได้

ใครเปลี่ยนใจร่วมลงชื่อยื่นตีความคงไม่แคล้วถูกตราหน้าว่าเดินตามธง? ทำตามใบสั่งที่ต้องการให้ตีความเพื่อยื้อโรดแม็พเลือกตั้งออกไปอีก


You must be logged in to post a comment Login