วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“ไม่มีฮีโร่”บนเส้นทางขบวนการประชาชน มีแค่อุดมการณ์ต่อสู้“ความไม่เป็นธรรม”

On March 13, 2018

หากเอ่ยถึง จะเด็จ เชาวน์วิไล สิ่งที่พ่วงตามความคิดมาคือ ผู้ชาย ที่ทำงานเคลื่อนไหว ต่อสู้ความไม่เป็นธรรม เพื่อความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง และเนื้อในชีวิตของเขา  เกาะเกี่ยว การทำงาน อยู่กับขบวนการประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นขับเคลื่อนผู้หญิง

อะไรคือ แรงบันดาลใจ และสร้างแรงผลักดันให้ผู้ชายคนนี้ลุกขึ้นมาทำงานต่อสู้เพื่อผู้หญิง และหยิบยกประเด็นพูดคุยเรื่อง  สิทธิผู้หญิง โดยมีใจความสำคัญที่เขาตระหนักนั้นคือ การพ้นไปจากเพศแต่คือความเป็นมนุษย์ ที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพแบบไหนก็ตาม

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายหลังรับรางวัล “ผู้ชายแห่งปี 2561”  ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

“การมองความสำเร็จ ผมอาจจะมองต่างจากคนอื่น อาจจะสุดขั้วนิดหนึ่ง ตัวตนของผมที่มายืนอยู่ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องของความเก่งหรือความไม่เก่ง หรือความดีหรือความไม่ดี ผมเติบโตมากับผู้ใช้แรงงาน ผมเติบโตมากับผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่องความรุนแรง ฉะนั้นสิ่งที่สร้างเนื้อตัวเราคือจุดยืน อุดมคติ” “จะเด็จ” เปิดมุมความคิด  ที่ผลักดันให้เขาเข้ามาทำงานอย่างต่อเนื่อง จวบจนในปัจจุบัน

อันนี้คือเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ว่าคนที่เห็นเรามาทุกวันนี้ หลายๆคนคิดว่าเราเก่งขึ้นมาด้วยตัวเอง มันไม่ใช่ ซึ่งกลไกนี้เป็นกลไกที่สำคัญที่ทำให้คนเติบโตขึ้น สังคมไทยยังมีความเชื่อในเรื่องของ “ฮีโร่” เชื่อว่าผู้นำเท่านั้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมไม่เชื่อวิธีคิดแบบนี้เพราะความสำเร็จผมเชื่อว่าถูกสร้างโดยขบวนการต่างๆที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง

เขาระบุว่า สิ่งที่สำคัญคือเราต้องรู้ว่าเราโตมาแบบไหน และคนที่เห็นเรามันจะนำมาสู่ความเข้าใจว่าเรามีจุดยืนแบบไหน อันนี้จะเป็นจุดสำคัญมากว่าเวลาที่เราลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง มันจะนำไปสู่ความกล้าหาญทางอุดมการณ์ ความกล้าหาญทางจริยธรรมหลายเรื่อง หากเราไม่เข้าใจตรงนี้ เราก็จะไม่เข้าใจตัวเราเอง จนนำมาสู่การมีปัญหาในระยะยาวได้

“ผมมองว่าเรื่องรางวัลในวันนี้อาจจะมีความสำคัญในเรื่องของการให้กำลัง แต่ไม่ใช่ให้ความสำคัญไปเกินเลยกว่าว่าเราในฐานะเป็นปัจเจกชน เพราะขบวนที่เราเติบโตมามันมาจากขบวนการทางสังคมที่หลากหลาย ทำให้เราเป็นทุกวันนี้ได้ ดังนั้นผมก็มีกัลยามิตรอาวุโสหลายๆคนที่เป็นต้นแบบ อย่างเช่น อาจารย์กาญจนา  แก้วเทพ พี่ทิชา ณ นครผู้นำแรงงานย่านอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ ผู้นำย่านพระประแดงที่เป็นต้นแบบที่ดีในการมีความกล้าหาญ ทางอุดมการณ์ที่จะท้าทายกับระบบการเมืองที่ฉ้อฉล ระบบเผด็จการทุกรูปแบบ หรือแม้กระทั่งเรื่องทุนผูกขาด อันนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะถ้าหากเราไม่เข้าใจตรงนี้ เราก็จะหลงไปสู่ระบบบางอย่างที่ทำให้เราไม่มีจุดยืนได้

สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่ผมยึดมั่นมาตลอด ผมจึงค่อนข้างชัดเจนว่ารางวัลต่างๆที่เคยได้มาอาจจะไม่ได้มาจากตัวผมเท่านั้น ผมโตมาจากตรงนี้และผมก็ต้องยึดมั่นในผลประโยชน์และผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางสังคม มีจุดยืนและอุดมการณ์ที่จะเคียงข้างคนยากคนจน”

ยืนหยัด ต่อสู้นโยบายที่ผิดพลาด

ขณะเดียวกัน เขามองถึงการทำงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะการทำงานตรวจสอบนโยบายรัฐ  ว่า  ถ้าเราเห็นว่านโยบายบางอย่างไม่ถูกต้อง เราก็ต้องแสดงจุดยืนในสิ่งที่เราทำ เราต้องชัดเจน เพราะถ้าไม่ชัดเจนเราก็จะไปอยู่ในจุดยืนที่มีปัญหาได้ในฐานะที่เราเป็นนักพัฒนาและปัญญาชน ได้พัฒนานโยบายต่างๆที่รัฐผลักดันขึ้นมาผมไม่ได้มองว่านโยบายไม่สำคัญ สิ่งที่ผมเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นกฎหมายลาคลอด 90 วัน หรือประกันสังคมในอดีตหรือจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าปัญญาชนอย่างเราไม่ลงไปสร้างความเข้มแข็งให้กับคนงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการทำงานและผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา หรือคนที่หลุดจากการพัฒนา นโยบายนั้นก็จะล้มเหลว

“สิ่งที่จะทำให้ภูมิใจก็คือขบวนการประชาชนนั้นเข้มแข็ง แต่ตอนนี้ผมคิดว่ามันไม่เข็มแข็งเพราะว่าปัญญาชนอย่างเรามีจุดยืนไม่ชัดเจน ไปรับใช้อะไรบางอย่างทำให้หลายๆอย่างมันล้มเหลว ผมเองก็ยืนยันแบบนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือเราต้องแสดงจุดยืนว่าจะทำอย่างไรให้ขบวนการประชาชนเข้มแข็ง เพราะนโยบายที่ผมทำมาในอดีตบางเรื่องมันก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จ เพราะมันไม่สามารถบังคับใช้ในแง่กฎหมายได้ แล้วมันจะเกิดผลอะไร มันก็เป็นแค่กระดาษแผ่นเดียว ถ้าเกิดเราไม่เข้าไปสร้างกระบวนการจัดตั้งให้ประชาชนเข้มแข็ง หรือทำให้ผู้หญิงปลดปล่อยตนเอง ไม่ทำให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่านโยบายที่เรียกร้องเสียอีก”

สร้างพื้นที่แนวระนาบต้อนรับคนรุ่นใหม่

ขณะที่ ทรัพยากรบุคคลในการส่งไม้ต่อการทำงานขับเคลื่อนไปข้างหน้า เป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเฉพาะการสร้างคนรุ่นใหม่ มาสานต่องาน “จะเด็จ” มองว่า นี้คือปมปัญหาใหญ่ของขบวนการทำงานประชาชน ณ ขณะนี้ ที่มิใช่แค่ในส่วนของเนื้องานผู้หญิง  “สิ่งที่สำคัญคือตอนนี้เรามีจุดอ่อน คือ เราไม่ค่อยเห็นคนรุ่นใหม่ๆออกมาขับเคลื่อนเท่าไหร่ เพราะอะไร เพราะว่าภาคประชาสังคมอย่างพวกเรา รวมทั้งวิพากษ์ตัวผมด้วย ว่า เราทำงานแบบพีระมิดคนรุ่นใหม่เขาไม่ได้อยากมีส่วนร่วมกับระบบองค์กรแบบพีระมิด มีการทำงานแบบระดับบนลงล่าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำก็คือว่าเราต้องสร้างการทำงานแบบแนวระนาบ แบบแนวใหม่ ซึ่งให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสได้เติบโต ให้มีส่วนร่วมจริงๆจังๆ เพราะไม่อย่างนั้นมันก็จะกลายเป็นว่ามีผู้อาวุโสอยู่อีกไม่กี่คน ในการขับเคลื่อน”

องค์กรภาคประชาสังคมไม่ควรเป็นองค์กรของใครคนใดคนหนึ่ง มันควรเป็นของทุกคน ดังนั้นสิ่งที่ต้องสร้างคือการสร้างความคิดแบบใหม่ ทำเรื่องแนวระนาบให้เกิดขึ้นให้ได้ ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพราะไม่อย่างนั้น การมีส่วนร่วมก็จะกลายเป็นเพียงแค่วาทกรรม พูดไปเรื่องๆ แต่คุณก็ไม่มีเวลาจะทำได้จริง ผมเองก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองถูกต้อง แต่สิ่งที่เราจะทำไปด้วยกันกับงานนโยบาย เราทำงานในระดับพื้นที่ การสื่อสารลงไประดับรากหญ้า ลงไปสู่คนยากจน ลงไปสู่ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ไม่เช่นนั้น สิ่งที่เราทำมันก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เพราะมันก็จะเป็นเพียงแค่คนกลุ่มเดียว

“ผมก็ยังยืนยันแบบเดิมว่าสิ่งที่จะทำให้ฝ่าฟันไปได้ทั้งน้องๆในองค์กรด้วยก็คือ การทำงานกับชาวบ้าน ทำงานกับผู้หญิงที่ประสบปัญหา ที่จะทำให้เขาเตรียมพร้อมที่จะไปเปลี่ยนแปลงครอบครัวชุมชนเขาเอง เราต้องฝ่าฟันไปกับเขาเพราะว่าชาวบ้านเองก็ถูกอำนาจนิยมครอบงำอยู่ทำให้เขาก็เชื่อการนำเดี่ยว เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้เขาเชื่อว่าเปลี่ยนได้ องค์กรเปลี่ยนได้ มันไม่ใช่การนำเดี่ยว แต่เราต้องใช้ระบบทีม ดังนั้นระบบทีมเป็นประชาธิปไตยในองค์กรนั้น เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะถ้าเกิดเราเห็นหลายๆองค์กรที่ประสบความสำเร็จเนี่ย มันมาจากระบบทีม แต่ถ้าเกิดใครที่เป็นผู้นำเดี่ยว รัฐจะไปลากขึ้นมา และทำให้เราและชาวบ้านเสียผู้เสียคน”

นวัตกรรมประเด็นผู้หญิง เชื่อมโยงมิติชีวิต

​ตลอดระยะเวลา ทำงาน “จะเด็จ” สรุป ถอดบทเรียนประสบการณ์ จนเขาตกผลึกความคิดในประเด็นการทำงาน ที่น่าสนใจโดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่ต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนแต่ละคนและการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่า  โดยเขาระบุว่า การสร้างนวัตกรรมกับกลุ่มประเด็นผู้หญิงมันเกิดขึ้นได้จริงๆ ผมลงไปทำงานกับ คนชุมชนกับคนที่มีปัญหาก็ และสสส. เองก็ได้เข้ามาสนับสนุน ผมคิดว่าหลายๆเรื่องเราอย่าไปคิดว่าผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรงคือผู้หญิงที่หลุดไปจากการพัฒนา หรือแม้กระทั่งผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรง คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนไม่ได้ คือว่าบางทีต้องให้เขาออกไปในพื้นที่ มันไม่ใช่

ผมไม่ได้เชื่ออย่างนั้น หรือแม้กระทั่งผู้ชายที่เคยทำร้ายผู้หญิงอย่างรุนแรง สามารถเปลี่ยนได้มั้ย คำตอบคือเปลี่ยนได้ และสามารถสร้างนวัตกรรมได้ด้วย อย่างหลายๆพื้นที่ๆเราทำงานเนี่ย มันไม่ได้ทำงานเพียงแค่เรื่องสิทธิอย่างเดียว

เพราะถ้าเราทำแค่เรื่องสิทธิอย่างเดียว มันแก้ปัญหาของผู้หญิงไม่ได้ทั้งหมด แต่มันต้องแก้เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องความมั่นคงทางอาหาร แก้หลายมิติ อันนี้ขบวนผู้หญิงเองอาจจะต้องมองมิติแบบนี้อย่างจริงจังนะครับ ไม่ใช่ว่าเอาแค่ประเด็นร่วมกันแล้วเคลื่อนไหว แบบนี้ไม่ใช่การเชื่อมโยง แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องลงไปทำงานในพื้นที่ และเรียนรู้ และเติบโตไปกับเขา และให้เขาเชื่อโยงประเด็น และตัวเราไปคอยสนับสนุน นี้เป็นสิ่งที่ต้องทำจริงจัง เพราะถ้าเกิดไม่ทำอย่างนี้ผมคิดว่าเราก็จะกลายเป็นแค่เชื่อมโยงประเด็นแล้วก็เคลื่อนไหวกันทุกปีแล้วก็จะไม่ได้อะไรเลย

สิ่งสำคัญคือการสร้างขบวนการ ขบวนผู้หญิง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แล้วก็ต้องเชื่อว่ามันสามารถเชื่อมโยงประเด็นอื่นๆได้ และผมก็ได้พิสูจน์มาแล้วว่าทำได้จริง ซึ่งอันนี้ผมก็ไม่ได้ทำคนเดียว คือเราเข้าไปสนับสนุนชาวบ้าน ไปเรียนรู้ร่วมกันอย่างกลุ่มผู้หญิงที่ จ.อำนาจเจริญ เขาสามารถลุกขึ้น ไปเสริมพลังเขามาทำเรื่องเมล็ดพันธุ์ เพราะเขาเป็นเกษตรกร แต่ถูกใช้ความรุนแรงจากสามี ซึ่งเราก็ไม่ได้พูดเรื่องประเด็นความรุนแรงอย่างเดียว แต่เขาก็หันไปทำเรื่องเมล็ดพันธุ์ ทำเรื่องสมุนไพรได้ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในชุมชน

ดังนั้นผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ในฐานะที่เราทำงานประเด็นผู้หญิงต้องลงพื้นที่จริง ไม่อย่างนั้นเราก็จะไปทำแค่เรื่องนโยบาย ซึ่งผมคิดว่างานพวกนี้มันไม่ได้มีสูตรตายตัว ที่มันต้องเน้นไปที่การปฏิบัติ อย่างที่ผมบอก คุณจะเป็นได้คุณก็ต้องไปเรียนรู้ไปหาเขา ไปรู้ว่าเขามีความยากลำบากอย่างไร ดังนั้นเฟมินิสต์ไม่ใช่แค่เรื่องพูดหรือวิจารณ์เพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญ คือการลงไปเรียนรู้เติบโตและปลดปล่อยไปกับเขา ไม่ใช่เขาปลดปล่อยนะครับ เราก็ปลดปล่อยไปด้วย เรามีความเชื่อด้วยว่าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนได้

ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม

“จะเด็จ” ทิ้งท้ายบทสนทนา โดยย้อนไปถึงรากความคิดของเขา จนเป็นบทสรุปของโจทย์ชีวิต ที่ทำให้เขาปักหลักทำงานขับเคลื่อนประเด็นผู้หญิง มาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเนื้อเดียวในชีวิตของเขาไปแล้ว ว่า “ ผมคิดว่าการทำงานหลายครั้งที่ผมมีจุดเปลี่ยนในชีวิต ผมรู้สึกว่ามันมาจากการเติบโตจากการทำงานกับคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ผู้หญิงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และสิ่งสำคัญในชีวิตที่มันมาถึงทุกวันนี้ได้มันมาจากตรงนี้ ผมก็รู้สึกว่าแน่นอนบางช่วงชีวิตคนเรามันก็เจอกับปัญหาอุปสรรคหลายๆอย่าง  แต่หลายๆอย่างที่ทำให้เราตัดสินใจก็คือเราเชื่อว่า

จุดยืนของเราไม่ผิดเพี้ยน จุดยืนเรายังรักษาอยู่ ดังนั้นตอนที่ออกมาทำองค์กรใหม่ เราคิดว่าสิ่งที่เรามองไปข้างหน้า คือเราจะทำงานเฉพาะกับผู้หญิงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องทำกับกลุ่มเพศทางเลือก กลุ่มผู้ชาย จุดที่เราต้องคิดอย่างนี้ก็เพราะว่า สถานการณ์ในสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว  ขณะที่อุดมการณ์ในการทำงานขององค์กรนั้น อันนี้ผมไม่ได้คิดคนเดียวนะครับ น้องๆรุ่นใหม่ๆในองค์ก็คิดเหมือนกันว่ายังยืนยันที่จะทำงานกับคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม คนที่ยากจน คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ผมก็คิดว่างานนโยบายเป็นงานที่สำคัญขององค์กร แต่ไม่ได้เป็นงานยุทธศาสตร์หลัก มากไปกว่านั้นคือ  จุดยืนของเราสำคัญ นั่นคือ เราต้องไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม”

“ในอนาคตองค์กรจะเป็นอย่างไรเราก็ยังไม่รู้ คนรุนใหม่ก็จะเป็นคนคิดต่อ แต่สิ่งที่จะอยู่ยั่งยืนกับประชาชนก็คือองค์กรประชาชนในชุมชน ก็ต้องอยู่ยาวกว่าเรา อันนี้คือสิ่งที่องค์กรยึดมั่น ว่าชาวบ้านรวมกันเป็นองค์กรในชุมชน เขาคือตัวแทนของประเด็นผู้หญิง คือตัวแทนของกลุ่มเฟมินิสต์ตัวจริง เราไม่ได้ยืนอยู่คนเดียว ที่ผ่านมาเรามีกัลยาณมิตรที่ดี และเราก็มีชาวบ้าน ที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน  เพราะถ้าเห็นชาวบ้านเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านปลดปล่อยตัวเองได้ ชาวบ้านเข้มแข็งที่จะสู้กับอำนาจที่ผมบอก เรารู้สึกว่านี่คือแรงบันดาลใจ นี่คือความภูมิใจของเรานะครับ”


You must be logged in to post a comment Login