วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เริ่มนับถอยหลัง

On March 9, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ไม่มีอะไรพลิกเมื่อร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสนช.ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น แถมไม่มีความเคลื่อนไหวเพื่อรวบรวมชื่อสมาชิกให้ได้ 1 ใน 10 เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแม้ตัวประธาน กรธ.ต้องการให้ตีความในบางประเด็น ถ้าทุกอย่างยังเดินไปตามสเต็ปนี้เท่ากับว่าประเทศไทยปรับเข้าสู่โหมดนับถอยหลังคืนอำนาจให้ประชาชน

เมื่อสัญญาณชัดทุกอย่างก็ไม่มีอะไรให้ต้องลุ้น

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมาลงมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย

ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 211 เสียง ไม่มีเสียงไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง 7 เสียง

ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน

202 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียงและงดออกเสียง 13 เสียง

เป็นอันว่าร่างพ.ร.ป.สำคัญที่จะทำให้เกิดการเลือกตั้งผ่านการพิจารณาจากสนช.ครบแล้วทั้ง 10 ฉบับ

ขั้นตอนจากนี้จะส่งร่างพ.ร.ป.ทั้งสองฉบับให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการต่อไป

อย่างไรก็ตามหากมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นที่เห็นว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็ต้องผลการตีความออกมาก่อนจึงนำร่างพ.ร.ป.ขึ้นทูลเกล้าฯได้

แต่เท่าที่ตรวจพบในตอนนี้สัญญาณเรื่องการยื่นตีความค่อนข้างอ่อน แม้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องการให้ยื่นตีความในประเด็นที่เห็นว่าควรทำให้เกิดความชัดเจนก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง แต่ไม่พบการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อสนช.ให้ได้อย่างน้อย 25 คน เพื่อยื่นตีความจากสนช.เหมือนกรณีร่างพ.ร.ป.ป้องกันปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) และร่างพ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนหน้านี้

จึงมีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าอาจไม่มีการยื่นตีความ

ตามกรอบเวลาเมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างพ.ร.ป.ทั้งสองฉบับขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ร่างพ.ร.ป.จะทรงอยู่ในพระราชวินิจฉัย 90 วัน

อย่างไรก็ตามในกรอบเวลา 90 วันนี้จะทรงโปรดเกล้าฯร่างกฎหมายลงมาเมื่อไหร่ก็ได้

หากโปรดเกล้าฯลงมาเร็วกฎหมายก็จะมีผลบังคับใช้เร็ว ซึ่งในส่วนของพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.นั้นจะมีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษา

ขณะที่ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.จะมีผลบังคับใช้หลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วัน

ตามโรดแม็พเลือกตั้ง เมื่อร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ซึ่งจะเป็นร่างพ.ร.ป.ฉบับสุดท้ายที่จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วจะต้องมีการจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วการเลือกตั้งจะมีขึ้นก่อนคงไม่รอให้ครบ 150 วันเป๊ะจึงจัดเลือกตั้ง

เมื่อทิศทางการเมืองเริ่มชัดเจนแบบนี้แล้วบรรดาพรรคการเมืองทั้งพรรคเก่าพรรคใหม่คงต้องเร่งมือดำเนินการทุกอย่างให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดเพื่อรักษาสิทธิในการส่งตัวแทนพรรคลงเลือกตั้ง

หากเป็นไปตามสเต็ปนี้ก็เท่ากับว่าประเทศไทยปรับเข้าสู่โหมดนับถอยหลังคืนอำนาจให้ประชาชน ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่ให้เริ่มนับหนึ่งหลังจากที่ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ถ้าพิจารณาจากกรณีที่นายกรัฐมนตรีเชิญรัฐมนตรีเข้าพูดคุยเป็นรายบุคคลเพื่อเร่งรัดงานในหน้าที่รับผิดชอบหลังกลับจากประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเพชรบุรี

ถ้าพิจารณาจากคดีเสือดำที่พลิกมาเป็นขึงขังจริงจังที่จะเอาผิดกับผู้ถูกกล่าวหาเพื่อดับชนวน หลังมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างเพราะมีความเคลื่อนไหวของหลายกลุ่ม หรือที่หลายกรณีที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารคสช.กำลังประคองตัวไม่ให้ถูกน็อค รอให้ครบยกเพื่อเดินลงจากเวที

ทำให้เชื่อได้ว่ายังไม่มีสัญญาณรบกวนให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิม


You must be logged in to post a comment Login