วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ไม่จบที่ “สนช.”

On March 7, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

แม้สัญญาณจากผู้มีอำนาจจะเด่นชัดว่าไม่มีนโยบายคว่ำร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.เพื่อจัดเลือกตั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า แต่ดูเหมือนจะยังมั่นใจอะไรไม่ได้ 100% แม้ร่างพ.ร.ป.จะผ่านในขั้นตอนลงมติ แต่มีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่จะถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพราะมีประเด็นที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะที่มาของส.ว.ลากตั้ง การลงมติในวันที่ 8 มีนาคมอาจต้องลุ้นบ้างแต่คงไม่ถึงต้องลุ้นจนตัวโก่ง ไว้ไปรอลุ้นกันตอนผลตีความดีกว่าว่าจะออกมาอย่างไร

ไม่เคยมีอะไรที่จะมั่นใจได้ หรือแน่นอนเลยสักอย่าง

แม้ท่านผู้นำจะส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่าไม่มีนโยบายคว่ำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับสุดท้าย พร้อมประกาศหนักแน่นว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

แม้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเชื่อว่าการลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 8 มีนาคมนี้จะราบรื่น เพราะในชั้นการพิจารณษของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายไม่ได้แสดงให้เป็นจะมีประเด็นใดเป็นปัญหา

แม้จะมีคำแนะนำว่า สนช.เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายสามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้

แต่ท่าทีของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กลับทำให้ความไม่มั่นใจว่าร่างกฎหมายจะผ่านสนช.กลับคืนมา

ประธานกรธ. แสดงความเป็นห่วงบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ยังคงแบ่งประเภทผู้สมัครออกเป็น 2 ประเภท คือ แบบอิสระ และแบบมีองค์กรรองรับ

ถึงจะเชื่อว่าร่างกฎหมายจะผ่านมติสนช.ในวันที่ 8 มีนาคมแล้วค่อยส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าร่างพ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว.ยังมีความเห็นต่างกันอยู่

เรื่องแบ่งประเภทผู้สมัครออกเป็น 2 ประเภท ถือเป็นประเด็นสำคัญเพราะนำมาซึ่งการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย

ที่ยังพออุ่นใจได้คือการแบ่งประเภทผู้สมัครออกเป็น 2 ประเภทนั้นเป็นความต้องการของสนช.เสียงส่วนใหญ่ (อ้างอิงจากจำนวนสนช.ที่ลงมติ เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา)

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการโละวิธีคัดเลือกผู้สมัคร ส.ว. ด้วยวิธีเลือกไขว้กลุ่มวิชาชีพ ตามที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เสนอไว้ในร่างแรก โดยเปลี่ยนมาให้ผู้สมัครเลือกกันเองภายในกลุ่มวิชาชีพ ทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ พร้อมเห็นชอบให้แบ่ง ส.ว. 200 คนมาจาก 2 ประเภท คือ ผู้สมัครแบบอิสระ 100 คน และ ผู้สมัครที่เป็นตัวแทนองค์กรวิชาชีพ 100 คน โดยทั้ง 2 ประเภท ให้แยกการคัดเลือกออกจากกัน ถือเป็นการแก้หลักการของร่างกฎหมายหรือไม่

การแก้ไขครั้งนี้ขัดต่อหลักการที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่

แม้การลงมติเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมาเสียงสนับสนุนจะท่วมท้น 197 เสียง และไม่มีสนช.คนใดลงมติคัดค้าน แต่ก็มีสนช.ที่งดออกเสียง 7 คน

ถึงร่างกฎหมายจะคงเดิมตามที่สนช.ส่วนใหญ่ต้องการ แต่ก็ไม่มีหลักประกันอันใดว่าการลงมติอีกครั้งในวันที่ 8 มีนาคมนี้ผลคะแนนจะออกมาเหมือนเดิม โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการแก้ไขมาตรา 91 ที่ลดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดเลือกส.ว.จาก 200 คน เหลือเพียง 50 คน

ทั้งนี้เพราะตามบทเฉพาะกาลให้อำนาจสนช.เลือกส.ว.ทั้งหมด โดยเลือกจากบัญชีรายชื่อที่ผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา และเลือกจากบัญชีที่ผ่านกระบวนการเลือกกันเองซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ดำเนินการ

ขณะที่ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แม้จะตกลงกันได้เรื่องจัดมหรสพหาเสียง แต่ยังมีประเด็นที่ต้องกัลวลคือ การตัดสิทธิ์รับราชการทางการเมือง เพราะยังไม่ชัดเจนว่า การไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ถือเป็นสิทธิหรือเสรีภาพ หากเป็นสิทธิก็สามารถจำกัดได้ แต่ถ้าเป็นเสรีภาพ ก็ไม่สามารถไปจำกัดได้

การลงมติวันที่ 8 มีนาคมนี้ แม้มีประเด็นให้ลุ้นอยู่บ้าง แต่อาจไม่ถึงขั้นต้องลุ้นจนตัวโก่งว่าสนช.จะคว่ำร่างกฎหมาย

เพราะสถานีสุดท้ายปลายทางเชื่อว่าทั้งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จะถูกส่งถึงมือศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นผู้ชี้ขาดค่อนข้างแน่นอน

ไว้ไปรอลุ้นกันตอนนั้นว่าจะผลการตัดสินจะออกมาอย่างไร


You must be logged in to post a comment Login