วันพฤหัสที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

อลวน-อลเวง / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On March 5, 2018

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

การสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ รอบที่สอง หลังรอบแรกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติไม่เห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน โดยให้เหตุผลว่าเกรงจะมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายในกรณีตัวแทนสายศาล ส่วนคนอื่นๆแม้คุณสมบัติครบถ้วนแต่ไม่เชื่อฝีมือในการคุมเลือกตั้ง เพราะไม่เคยแสดงผลงานให้เห็นมาก่อน

หลายคนได้ออกมาแสดงความเห็นไปในทางเดียวกันว่างานนี้น่าจะมีสัญญาณจากที่ไหนสักแห่งให้เริ่มกระบวนการสรรหาใหม่

แม้จะยืนยันว่าการสรรหา กกต.ใหม่อีกครั้งจะไม่กระทบต่อโรดแม็พเลือกตั้ง หากไม่เกิดกรณีคว่ำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับสุดท้ายที่อยู่ในขั้นตอนตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณากันอยู่ตอนนี้

แต่การคว่ำทิ้งผลการสรรหา กกต.รอบแรกก็มีนัยทางการเมืองให้เห็นอยู่พอสมควร

นัยแรกคือการคว่ำรายชื่อว่าที่ กกต.ใหม่ทั้ง 7 คนเพื่อสรรหาใหม่ เพราะเกรงว่าว่าที่ กกต.ใหม่ที่ถูกปฏิเสธให้นั่งเก้าอี้จาก สนช. จะไม่มีความเป็นอิสระ อาจจะเอียงกับกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองบางกลุ่ม

แม้จะไม่พูดชัดว่าว่าที่ กกต. ที่ไม่ได้นั่งเก้าอี้มีแนวโน้มปฏิบัติหน้าที่เอนเอียงเข้าข้างกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองฝ่ายใด แต่ก็น่าจะพอเดาทางกันได้ เพราะหากเข้าข้างกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองที่ให้การสนับสนุนกลุ่มอำนาจปัจจุบันให้ได้สืบทอดอำนาจต่อก็ไม่น่าจะมีสัญญาณให้ตีตกทั้ง 7 รายชื่อเพื่อสรรหาใหม่

นัยที่สองคือการสรรหา กกต.ใหม่ โดยเฉพาะในส่วนตัวแทนสายศาลฎีกา หากที่ประชุมศาลฎีกาใช้วิธีเลือกตัวแทนแบบเดิมคือให้กาบัตรหย่อนลงในกล่องที่ถูกมองว่าขัดหลักการคัดเลือกตามกฎหมายกำหนดที่ให้ลงคะแนนโดยเปิดเผย เมื่อได้ตัวแทนสายศาลมาแล้ว สนช. จะลงมติไม่ผ่านความเห็นชอบซ้ำอีกหรือไม่

ถ้าศาลใช้วิธีลงคะแนนแบบเดิมแล้ว สนช. ลงมติผ่านความเห็นชอบให้เป็น กกต. จะตอบสังคมอย่างไร เพราะการคว่ำรายชื่อรอบแรกเพื่อสรรหาใหม่ หนึ่งในเหตุผลที่ให้กับสังคมคือเกรงว่าตัวแทนสายศาลจะมีปัญหาข้อกฎหมาย

บางทีเรื่องนี้อาจเป็นชนวนเหตุให้มีการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งใหม่

หากมีการแก้ไขจริง การสรรหา กกต.ใหม่ก็ต้องถูกทอดเวลาออกไปเพื่อรอการแก้ไขและให้ข้อแก้ไขประกาศใช้ก่อน

นัยที่สามเป็นเรื่องที่เกิดใหม่ คือกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ตัดสินใจยื่นใบสมัครเข้าชิงตำแหน่งเลขาธิการ กกต.

กระแสข่าวในทางเปิดบอกว่า การที่นายสมชัยสมัครชิงเก้าอี้เลขาฯ กกต. ก็เพื่อเป็นตัวเชื่อมการทำงานให้ กกต.ชุดใหม่ 7 คน ที่ไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดเลือกตั้งมาก่อน

นัยว่าต้องการเอาประสบการณ์การทำงานในตำแหน่ง กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งที่ทำมาตั้งแต่ปลายปี 2556 มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับ กกต.ชุดใหม่ ซึ่งต้องจัดเลือกตั้งหลังคณะรัฐประหารลงจากหลังเสือ

ทั้งนี้ หากนายสมชัยได้รับคัดเลือกให้เป็นเลขาฯ กกต.คนใหม่ ก็หมายความว่าจะต้องลาออกจากเก้าอี้ กกต.รักษาการที่นั่งอยู่

เมื่อเก้าอี้ว่างจากการลาออก แม้รักษาการ กกต. ที่เหลือจะสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ แต่จะถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรมในอำนาจจัดเลือกตั้ง อำนาจให้ใบเหลืองใบแดง จนเกิดข้อถกเถียงทางกฎหมายตามมาหากการสรรหา กกต.ใหม่ 7 คน ไม่สามารถทำได้เสร็จทันก่อนจัดเลือกตั้ง

นอกจากนี้ยังมีความน่าสนใจอีกว่า หากมี กกต. คนอื่นลาออกอีกจะทำอย่างไร แม้กฎหมาย กกต.ใหม่จะให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองหารือร่วมกันเพื่อส่งคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายเข้ามาเสริมทัพในฐานะ กกต.รักษาการได้ แต่ก็จะถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรมในการใช้อำนาจอีกเช่นกัน โดยเฉพาะหากเลือกคนที่ติดภาพ ติดสี เลือกข้างทางการเมืองเข้ามารักษาการ กกต.

นัยสุดท้ายที่จับทิศทางได้ในตอนนี้คือ กระบวนการสรรหา กกต.ใหม่ 7 คน ที่น่าจะมีปัญหา

ปัญหาที่ว่าน่าจะมาจาก 2 ส่วน

ส่วนแรกคือการกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครที่อาจทำให้เหลือตัวเลือกในสังคมไม่มาก หากตัวเลือกเหล่านั้นไม่สนใจยื่นใบสมัครเพราะเห็นบทเรียนจากการคว่ำ 7 รายชื่อชุดแรก จะทำให้กระบวนการสรรหาเดินต่อลำบาก

ส่วนที่สองคือ แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้กรรมการสรรหาใช้สิทธิทาบทามคนที่เห็นว่าเหมาะสมให้มาเข้าร่วมการสรรหาเป็น กกต. ได้ แต่จะถูกตรวจสอบจากสังคมทันทีว่าผู้ที่ได้รับการทาบทามนั้นเป็นใคร สายไหน อย่างไร

ในขั้นแรกทราบว่ากรรมการสรรหายังเหนียมอายไม่ใช้สิทธิทาบทามคนที่เห็นว่าเหมาะสม แต่จะใช้วิธีกล่อมให้ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมายื่นใบสมัครด้วยตัวเองเพื่อป้องกันข้อครหา หากต้องใช้เวลาในการตัดสินใจนานก็ยินดีที่จะขยายเวลาการรับสมัครให้

สรุปคือการสรรหา กกต.ชุดใหม่ มีความน่าสนใจให้ติดตามอยู่หลายมุม

ทั้งมุมที่ว่าจะมี กกต.รักษาการในปัจจุบันลาออกอีกหรือไม่

ทั้งมุมการสรรหา กกต.ใหม่ ในกรณีที่มาของตัวแทนสายศาล ว่าที่สุดแล้วจะแก้ปัญหาเรื่องลงคะแนนโดยเปิดเผยที่ยังมีความเห็นต่างกันค่อนข้างมากอย่างไร ในกรณีผู้ที่จะมายื่นใบสมัครเข้ารับการคัดเลือกว่าที่สุดแล้วจะมีการทาบทามใครให้มานั่งเก้าอี้ กกต. จากกรรมการสรรหาหรือไม่

หากมีการทาบทามหมายความว่าจะต้องได้รับการการันตีว่าจะผ่านการคัดเลือกให้เป็น กกต.ชุดใหม่ เพราะถ้าไม่สามารถให้ความเชื่อมั่นตรงนี้ได้ในระดับหนึ่งคงไม่มีใครตอบรับคำเชิญให้เปลืองตัว

เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบทั้งหมดแล้วจะเห็นว่าการได้ กกต.ใหม่ให้ครบ 7 คนไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ก็อาจจะไม่ยากหากนายสมชัยได้รับคัดเลือกให้เป็นเลขาฯ กกต.คนใหม่ รอเป็นที่ปรึกษาจัดเลือกตั้ง เพราะดูแล้วการตัดสินใจแบบกะทันหันของนายสมชัยน่าจะมีอะไรเชื่อมโยงกับการสรรหา กกต.ใหม่อยู่บ้างไม่มากก็น้อย


You must be logged in to post a comment Login