วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

วุฒิภาวะประชาธิปไตย / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On February 26, 2018

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

ทรรศนะของปราชญ์ Arnold Toynbee มองว่าสังคมต้องขับเคลื่อนไปอย่างทฤษฎี Challenge and Respond ซึ่งแน่นอนว่าการมีกลุ่ม Creative minority group คอยกระทำหน้าที่เพื่อท้าทายให้มีการเปลี่ยนแปลงของ Social norm ย่อมมีความจำเป็นที่จะกระทำและขับเคลื่อนได้เฉพาะภายใต้บรรยากาศของการมีเสรีภาพ

กล่าวกันว่า ลี กวนยู อดีตผู้นำที่ยิ่งใหญ่แห่งสิงคโปร์ ก่อนจะเข้าไปรื้อฟื้นและจัดวางรากฐานต่างๆให้เกาะเล็กๆจนเป็นประเทศสิงคโปร์ที่ยิ่งใหญ่ เขาได้ใช้เวลากับการอ่านและศึกษาข้อเขียนของ Arnold Toynbee อย่างจริงจังจนมีความเห็นเช่นเดียวกับ Arnold Toynbee ว่าสังคมมีความจำเป็นที่จะต้องมีกลุ่มอำนาจนำซึ่งเป็นกลุ่มสร้างสรรค์แนวความคิดใหม่ขึ้นมา เป็นกลุ่มนำในการท้าทายสังคมเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นบรรทัดฐานในสังคม แม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่มีรัฐบาลเผด็จการคือพรรคการเมืองเดียว ซึ่งเสมือนผูกขาดอำนาจการปกครองประเทศมาจนถึงปัจจุบัน แต่รากฐานของสิงคโปร์ที่แท้จริงยังเชื่อมั่นว่าสังคมมีความจำเป็นที่ต้องท้าทายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สภาวะของการเปลี่ยนแปลงถือเป็นสภาวะซึ่งต้องมีและเกิดขึ้นเป็นปรกติวิสัย

จากจุดยืนและมุมมองในทางประวัติศาสตร์ของ Arnold Toynbee มองว่าการเกิดขึ้นใหม่และการล่มสลายในแต่ละอารยธรรมของเผ่าพันธุ์มนุษย์นั้น ล้วนสืบเนื่องมาจากการเกิดขึ้นและล่มสลายของอารยธรรมทั้งสิ้น มีระบบของกฎเกณฑ์ที่แน่นอนและชัดเจนอยู่ตลอดเวลา สภาวะวิสัยของทุกสรรพสิ่งดำรงอยู่ด้วยการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

เราคงไม่โต้แย้งว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้แต่รูปแบบการปกครองของสังคมมนุษย์หรือประชาธิปไตยก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน

ในการปกครองของกรีกโบราณ มีทั้งแบบประชาธิปไตย แบบคณาธิปไตย และแบบทรราชที่อำนาจอยู่ในมือของคนเพียงคนเดียว หากพิจารณาจากรูปแบบการปกครองของกรีกจะเห็นพัฒนาการตั้งแต่กลุ่มชนชั้นสูงที่ไม่พึงพอใจต่อการปกครองและการใช้อำนาจของกษัตริย์ จึงร่วมมือกันยึดอำนาจจากกษัตริย์ในที่สุด

หากเราใช้ทฤษฎีมาร์กซิสต์มองก็จะได้ข้อสรุปว่า ระบอบการปกครองคือการเปลี่ยนผ่านทางสังคมการเมืองหรือการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์นั่นเอง โดยอธิบายตั้งแต่การเป็นสังคมบุพกาลแล้วเปลี่ยนผ่านสู่สังคมศักดินา ตามด้วยสังคมทุนนิยมจนมาเป็นสังคมนิยม พัฒนาเข้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นไปตามเศรษฐศาสตร์การเมือง

อย่างไรก็ตาม แม้เพลโตหรือโสเครตีสยังมีชีวิตอยู่ก็คงมีคำถามไม่น้อยสำหรับเรื่องราวประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งใครบางคนเรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบพิมพ์ไทย”

คงจะเป็นความจริงที่ว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะมีความแตกต่างและมีความเหมาะสมในลักษณะเฉพาะของสังคม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีประชาธิปไตยในแบบฉบับของพิมพ์ไทย ซึ่งเพลโตหรือโสเครตีสหากยังมีชีวิตอยู่ก็คงปวดเศียรเวียนเกล้าไม่น้อยเลย

ความจริงความหมาย “ประชาธิปไตย” มีหลายอย่าง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีประชาธิปไตยในแบบพิมพ์ไทยหรือประชาธิปไตยแบบไทยๆ แต่ประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับ mind set หรือจิตสำนึกของผู้ที่มีอำนาจมากกว่า

mind set ที่ดีที่สุดของประชาธิปไตยเห็นจะเป็นอำนาจในการตรวจสอบ ซึ่งกรีกและโรมเคยเอามาใช้ โดยให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบ ซึ่งเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกจนถือเป็นมาตรฐานของนิยามในความหมายของประชาธิปไตยที่ดีที่สุดตามคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ที่กลายเป็นอมตะวาจาคือ “ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”

ประชาธิปไตยที่ว่าแตกต่างและไม่เหมือนกัน จึงน่าจะอยู่ที่ว่าเป็นประชาธิปไตยของใครและเพื่อใครต่างหาก?

อย่างสหรัฐอเมริกาคือประเทศทุนนิยมเต็มที่ จึงเป็นประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนนั่นเอง เมื่อกล่าวถึงรูปแบบของประชาธิปไตยก็มีคำถามต่อที่สัมพันธ์กันคือ รูปแบบของทุนนิยม โดยข้อสรุปแล้วทั้งระบอบของประชาธิปไตยและทุนนิยมย่อมมีนัยสัมพันธ์กับกระบวนทัศน์ที่ว่าเป็นประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรีอย่างไรและเพื่อใคร ซึ่งต้องทำความเข้าใจในรายละเอียดลึกลงไป

Oswald Spengler นักคิดผู้ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลทางความคิดต่องานเขียนของ Arnold Toynbee เคยกล่าวว่า socialism is the capitalism or lower level” แท้จริงนั้นสังคมนิยมคือระบอบทุนนิยมของชนชั้นล่าง จึงไม่แปลกที่สิ่งซึ่งเรียกกันว่าทุนนิยมโดยรัฐที่กำลังดำเนินการกันอยู่ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ในปัจจจุบันกำลังไปได้ดีในโลกปัจจุบัน

สิ่งเหล่านี้เห็นได้ชัดเจนว่า แท้จริงแล้วทั้งระบอบทุนนิยมกับระบอบประชาธิปไตยเป็นของใคร และมีเป้าหมายที่มุ่งรับใช้และแก้ปัญหาให้กับชนชั้นใด เพื่อประชาชนหรือกลุ่มชนชั้นสูง คำถามและคำตอบมันอยู่ตรงนี้เอง


You must be logged in to post a comment Login