วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567

รูฉีกขาดที่จอตา / โดย พญ.โสมนัส ถุงสุวรรณ

On February 12, 2018

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : พญ.โสมนัส ถุงสุวรรณ

จอตา (retina) เป็นเนื้อเยื่อบางๆอยู่ภายในลูกตาส่วนหลัง ทำหน้าที่รับภาพและส่งสัญญาณไปยังสมอง ทำให้คนเรามองเห็นภาพต่างๆ หากเกิดความผิดปรกติจะส่งผลให้ความคมชัดของการมองเห็นภาพลดลง

ในลูกตามีของเหลวใสคล้ายไข่ขาวที่เรียกว่าวุ้นตาติดแน่นกับจอตา เมื่ออายุมากขึ้นวุ้นตาเริ่มหดตัวและลอกออกจากจอตา ส่งผลให้เกิดแรงดึงรั้งที่จอตาและอาจทำให้เนื้อเยื่อจอตาฉีกขาด หากน้ำที่อยู่ภายในวุ้นตาไหลผ่านรูฉีกขาดเข้าไปจะทำให้จอตาหลุดลอกออกมา ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์รับภาพค่อยๆเสื่อมตายไป และอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

ผู้ป่วยที่มีรูฉีกขาดที่จอตาในระยะเริ่มแรกมักไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับสายตา ส่วนใหญ่จะมองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา หรือมองเห็นแสงคล้ายแสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูปหรือแสงฟ้าแลบในตา แต่ถ้าจอตาลอกผู้ป่วยจะมีอาการตามัวคล้ายม่านหรือเงาดำมาบัง

หากมีอาการดังกล่าวควรไปพบจักษุแพทย์ แพทย์จะหยอดยาขยายรูม่านตาเพื่อตรวจจอตาอย่างละเอียด ภายหลังการขยายรูม่านตาผู้ป่วยจะมีอาการตามัวสู้แสงไม่ได้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง จนกว่ารูม่านตาจะหดกลับมาเป็นปรกติ

รูฉีกขาดที่จอตาสามารถรักษาได้โดยการยิงแสงเลเซอร์ล้อมรอบรูฉีกขาดเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลผ่านรูฉีกขาดจนเกิดเป็นจอตาลอก ในรายที่มีจอตาลอกแล้วควรรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธีได้แก่ การฉีดฟองก๊าซเพื่อปิดรูฉีกขาดที่จอตา การผ่าตัดวุ้นตา การเย็บหนุนซิลิโคนด้านนอกลูกตา เป็นต้น

การมองเห็นภายหลังการผ่าตัดจะดีขึ้นเพียงใดขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จอตาลอก หากจอตาลอกมานาน ถึงแม้การผ่าตัดสามารถทำให้จอตาราบลงได้ แต่ระดับสายตาอาจไม่ดีขึ้นนัก ดังนั้น หากมีอาการผิดปรกติที่สงสัยว่าจะเป็นโรคจอตาลอกควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตาโดยเร็ว


You must be logged in to post a comment Login