วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

ความสำคัญของพรรคใหม่ / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On January 15, 2018

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

ช่วงที่ผ่านมามีโอกาสได้รับฟังความคิดเห็นของผู้คนในแวดวงการเมืองอย่างหลากหลายที่คาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของประเทศไทยในปีนี้ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร

ไม่น่าเชื่อว่าผู้คนทุกสีเสื้อจะมีความคิดไปในทางเดียวกัน

ความเห็นพ้องต้องกันที่ว่าคือ ไม่มีฝ่ายไหนมั่นใจว่าปลายปีนี้จะมีเลือกตั้งตามโรดแม็พที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศไว้

แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะมีข้อกำหนดชัดเจนว่าต้องมีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและประกาศใช้อย่างเป็นทางการครบทั้ง 10 ฉบับ

แต่ก็ไม่มีใครมั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งตามกำหนด

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

เมื่อพิจารณาจากเหตุผลที่แสดงออกมา แม้จะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่ที่มาของการเห็นพ้องต้องกันคือจะมีการเลือกตั้งได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายคุมอำนาจปัจจุบันมีความมั่นใจว่าจะมีโอกาสเข้ามาสานต่องานที่ทำค้างไว้ให้จบ

ถ้าไม่มั่นใจก็ไม่มีการเลือกตั้ง

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันคือ การตีความจากคำพูดของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่พูดชัดเจนเป็นครั้งแรกว่าตนเองเป็น “นักการเมือง” ที่เคยเป็นทหาร หลังจากที่ก่อนหน้านี้ยืนยันมาตลอดว่าไม่ได้เป็นนักการเมือง ไม่ต้องการคะแนนนิยม

อีกประโยคที่สำคัญคือ การไม่ปิดกั้นโอกาสที่ตัวเองจะเข้ามาเป็นนายกฯคนนอกโดยไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยกล่าวในทำนองที่ว่า นายกฯคนนอกก็มาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ การเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกได้จะช่วยให้บ้านเมืองมีทางออก ไม่ต้องทำรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม ทุกสีเสื้อคาดการณ์สถานการณ์บ้านเมืองปีนี้เอาไว้ 3 ข้อที่จะเกิดขึ้นคือ

1.หลัง “บิ๊กตู่” ประกาศตัวเป็นนักการเมืองและไม่ปิดโอกาสตัวเองในการเข้ามาเป็นนายกฯคนนอก จะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองคึกคักขึ้นในกลุ่มคนที่ต้องการสนับสนุนให้ “บิ๊กตู่” กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง

คาดกันว่าเร็วๆนี้จะมีความชัดเจนในเรื่องการตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่ประกาศตัวหนุน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ซึ่งจะมีทั้งพรรคที่ฉวยโอกาสให้เข้ากับกระแส และพรรคที่มีเป้าหมายสนับสนุน “บิ๊กตู่” อย่างแท้จริง ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายคุมอำนาจด้วย

เรื่องแบบนี้ไม่ต้องรอคำเฉลยนาน เพราะตามมาตรา 44 ที่ประกาศแก้เงื่อนเวลาต่างๆในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดให้ผู้ที่จะจัดตั้งพรรคใหม่สามารถดำเนินการทางธุรการ เช่น หาผู้ร่วมอุดมการณ์อย่างน้อย 500 คน หาทุนประเดิม 1 ล้านบาท เรียกประชุมผู้ก่อตั้งพรรค 250 คนเพื่อกำหนดชื่อพรรคและสัญลักษณ์ เลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิก และกรรมการบริหารพรรค ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้เป็นต้นไป

ภายในสิ้นเดือนนี้หรืออย่างช้าต้นเดือนกุมภาพันธ์น่าจะได้เห็นหน้าตาของผู้ที่มีความประสงค์จะตั้งพรรคใหม่ว่าเป็นใครกันบ้าง แล้วก็จะรู้ทิศทางของพรรคนั้นว่ามีเป้าหมายสูงสุดทางการเมืองอย่างไร

2.เมื่อมีพรรคใหม่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ต้องตามต่อไปคือจะสามารถดูดอดีต ส.ส. จากพรรคอื่นให้มารวมตัวกันที่พรรคใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร

ทั้งนี้ เพื่อประเมินว่าจะได้ ส.ส. จากการเลือกตั้งกี่ที่นั่ง มากพอที่จะเป็นตัวแปรไม่ให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถเลือกนายกฯตามรายชื่อในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอต่อประชาชนได้หรือไม่

ทั้งหมดก็เพื่อให้เข้าเงื่อนไขที่สองตามรัฐธรรมนูญที่เขียนเจาะช่องเอาไว้คือ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่ คสช. จะแต่งตั้งไว้ก่อนลงจากอำนาจสามารถร่วมลงคะแนนเลือกนายกฯได้ และสามารถเสนอชื่อคนนอกบัญชีพรรคการเมืองขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯได้

3.สิ่งที่ทำให้ทุกสีเสื้อไม่มั่นใจ 100% ว่าจะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็พหรือไม่ก็เพราะเห็นไปในทางเดียวกันว่าหากกลุ่มอำนาจปัจจุบันไม่มั่นใจว่าจะทำให้ข้อที่ 2 เกิดขึ้นจริงได้ โอกาสที่การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปก็มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นที่เห็นว่าอาจทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกจากโรดแม็พคือ “ปัจจัยพิเศษที่ควบคุมไม่ได้” ซึ่งคอการเมืองคงคาดเดากันได้ว่ามีอะไรบ้าง

เมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์ของผู้คนทุกสีเสื้อแล้วจะเห็นว่าการเลือกตั้งหลังรัฐประหารครั้งนี้มีความแตกต่างจากการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2534

ครั้งนั้นมีพรรคสามัคคีธรรมเป็นพรรคตั้งใหม่ ดูดอดีต ส.ส. จากพรรคต่างๆเข้าสังกัดได้เป็นจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายชนะเลือกตั้งเพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และก็ทำสำเร็จ โดยได้ ส.ส. 79 คน จากทั้งหมด 360 ที่นั่งในสภา

แต่การตั้งพรรคใหม่ครั้งนี้มีเป้าหมายต่างออกไป เพราะไม่ได้หวังชนะเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากรู้ดีว่าการเมืองปัจจุบันแตกต่างจากอดีตค่อนข้างมาก การดูดอดีต ส.ส.ต่างพรรคเข้าสังกัดทำได้ไม่ง่าย เพราะประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับพรรค นโยบาย มากกว่าตัวบุคคล

จึงเป็นที่มาของ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน และให้สิทธิ คสช. ทำการคัดเลือกเองในการแต่งตั้ง ส.ว.ชุดแรก บวกกับให้มีสิทธิร่วมลงมติเลือกนายกฯได้หากการเลือกตั้งครั้งแรกตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไม่สามารถทำได้

สรุปคือจะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็พหรือไม่ ทุกคนก็เห็นตรงกันว่าให้ดูจากความน่าจะเป็นในการได้ ส.ส. ที่ต้องมีจำนวนมากพอที่จะเป็นตัวแปรไม่ให้การเลือกนายกฯตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองทำได้สำเร็จเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ มีปัจจัยที่สำคัญคือ 2 พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ต้องไม่จับมือกัน และพรรคหนึ่งพรรคใดต้องเข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อความมั่นคงในการทำงาน

ถ้า 2 พรรคใหญ่ไม่จับมือกันและต่างไม่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล แม้พรรคใหม่จะจับมือกับส.ว. ตั้งรัฐบาลได้ก็ไม่มั่นคง

นี่คือภาพรวมของการเมืองที่จะเกิดขึ้นในปีนี้และต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า โดยสรุปจากการประเมินความน่าจะเป็นของผู้ที่อยู่ในแวดวงการเมือง ซึ่งมีทิศทางสอดคล้องกันอย่างไม่น่าเชื่อ


You must be logged in to post a comment Login