วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ฝรั่งไม่โง่‘รัฐธรรมนูญ-เลือกตั้ง’? / โดย Pegasus

On December 25, 2017

คอลัมน์ : เพื่อชาติประชาชน

ผู้เขียน : Pegasus

กำหนดการเลือกตั้งที่ผู้มีอำนาจถูกบีบให้พูดที่วอชิงตันและต้องมารับรองมติของสหภาพยุโรป (อียู) ว่ากำหนดให้มีการเลือกตั้งแล้ว โดยมีการออกข่าวว่าได้ทำความเข้าใจกับตะวันตกนั้น คิดว่าน่าจะเป็นการเข้าใจผิด

สหภาพยุโรปอาจจะทำอะไรเป็นทางการและทำจริงจังมากกว่าสหรัฐ ไม่แค่คิดหลอกขายของแบบประเทศอื่นๆที่ทำท่าสนับสนุนรัฐบาลทหาร

เมื่อลองศึกษาเงื่อนไขต่างๆของสหภาพยุโรปแล้วจะเห็นว่ามีข้อผูกมัดเหมือนกับรู้ล่วงหน้าว่าจะมีการโกงการเลือกตั้ง รู้ว่าจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ รวมถึงการใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการเมืองยังคงมีอยู่ จึงแถลงการณ์เป็นเรื่องๆไว้ชัดเจน

ที่ผ่านมามีผลเสียมากมายจากการที่ประเทศไทยค้าขายกับสหภาพยุโรปไม่ได้ ส่วนประเทศอื่นๆก็มักจะเสียเปรียบหรือมีอุปสรรคไม่ต่างจากสหภาพยุโรป ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจตกต่ำมาก แถมมีการเอารัดเอาเปรียบของกลุ่มทุนภายในที่มุ่งแต่จะกอบโกยกำไรให้มากที่สุด และกดราคารับซื้อสินค้าต่างๆ

ส่วนภาครัฐก็พยายามจะขึ้นภาษี  ทำให้คนส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะจนกรอบ คนที่จนจริงๆเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะที่ไปขึ้นทะเบียนกว่า 10 ล้านคน ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะลำบากยากแค้น หากรัฐบาลทหารยังดันทุรังจะอยู่ให้นานที่สุด สภาพเศรษฐกิจและการเมืองก็มีแนวโน้มที่จะเกิดความวุ่นวายและความรุนแรงได้

ด้วยเหตุนี้จึงมีแรงกดดันทั้งพรรคการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาชน ให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด แม้จะมีกระแสข่าวเรื่องการสืบทอดอำนาจ หรืออาจมีการใช้ทุกวิธีที่จะให้ฝ่ายตนเองชนะการเลือกตั้ง หรือการโกงเลือกตั้ง ซื้อนักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. หรือให้เจ้าหน้าที่รัฐสร้างความได้เปรียบในทางการเมืองและการเลือกตั้ง

หากเป็นเช่นนั้น แม้จะมีการเลือกตั้งแต่สหภาพยุโรปคงจะไม่มีการเจรจาข้อตกลงต่างๆเหมือนที่ผ่านมา

คำถามคือทำไมประเทศตะวันตกจึงเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ จากประสบการณ์ของยุโรปเชื่อว่าหากประชาชนมีความยากลำบากก็จะเกิดการลุกขึ้นมาขับไล่ผู้ปกครอง จึงจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย หากยังอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ และกองทัพยังคอยกำกับหรือแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลอย่างที่มีการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ซึ่งก็ถือเป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร หรือตั้งนอมินีเพื่อสืบทอดอำนาจ การจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ตามปรกติทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองก็คงจะไม่มี การลงทุนก็จะยังมีปัญหาต่อไป เหมือนที่เมียนมาร์เคยถูกกดดันอย่างหนักจนกองทัพต้องยอมคลายอำนาจบางส่วนให้กับฝ่ายพลเรือน

ยกตัวอย่างเมียนมาร์ที่กองทัพพยายามแทรกแซงและอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงการจุดชนวนเรื่องโรฮิงญาเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลพลเรือนและนางออง ซาน ซู จี

การที่กองทัพยังไม่ยอมวางมือจากอำนาจ ไม่ว่าจะมีการตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพื่อเข้ามาควบคุมฝ่ายการเมือง และยังมีแผนยุทธศาสตร์ชาติตีกรอบอีก อาจเป็นเงื่อนไขให้ชาติตะวันตกไม่ยอมรับการเลือกตั้งก็ได้หากเชื่อว่ามีการแทรกแซงทางการเมือง

อนาคตประเทศไทยจึงอาจสรุปได้ว่า นอกจากการเลือกตั้งครั้งใหม่เป็นไฟต์บังคับที่ต้องเกิดขึ้นแล้ว ยังจะต้องไม่มีการแทรกแซงหรือโกงการเลือกตั้งด้วย คือการเลือกตั้งต้องได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตก มิฉะนั้นการใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจก็จะยังมีต่อไป ในที่สุดก็จะนำมาซึ่งความวุ่นวายและความรุนแรงที่อาจทำให้ประชาคมโลกต้องเข้ามาจัดระเบียบ


You must be logged in to post a comment Login