วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567

‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์’ ความจริง ความหวัง อนาคตนิติราษฎร์ ในสังคมแบ่งปีก

On September 15, 2017

HIGHLIGHTS:

  • ไม่ง่ายนักที่จะมีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยงานสอนที่รัดตัวและสภาวการณ์บ้านเมืองในยามนี้
  • 1 ปีที่เร้นกายจากงานสอนหนังสือ หมดไปกับการเขียนตำรากฎหมายเล่มใหม่ และการใช้เวลาใคร่ครวญเรื่องต่างๆ ในชีวิตของตนเอง เขาได้ค้นพบในสิ่งที่ไม่เคยรู้ และเชื่อใน ‘ความจริง’ และ ‘ความหวัง’ ที่ยังมีอยู่เสมอในตัวมนุษย์
  • ใต้ความขัดแย้งเขายอมรับว่าเขาคนหนึ่งในฐานะมนุษย์ก็มีส่วนด้วย และอนาคตของนิติราษฎร์ ต่อจากนี้คงเป็นเหมือนเฟซบุ๊กที่ Deactivate ตัวเองอยู่

 

the standard สัมภาษณ์  ‘ศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์’ หลังจาก 1 ปีเต็ม ที่ได้เร้นกายพักจากงานสอนหนังสือ ซึ่งอาจารย์บอกกับเราว่า “นี่คืองานที่ผมรักมากที่สุด” เพื่อใช้เวลากับการเขียนตำรากฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งเป็นความตั้งใจเดิมที่มีมานานแล้ว และนี่คือความกระจ่างแรกสำหรับหลายคนที่สงสัยว่าอาจารย์หายไปไหน

นอกจากการเขียนตำราแล้ว อาจารย์ยังได้ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวไปกับการเดินหน้าต่อสู้คดีในศาลทหาร ซึ่งถูกกล่าวหาว่าไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ภายหลังการรัฐประหาร

ขณะเดียวกันการเฝ้ามองความเป็นไปของบ้านเมืองยังคงเป็นสิ่งที่ คนชื่อ ‘วรเจตน์’ ได้ติดตาม และพร้อมที่จะให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ตามหลักวิชาอยู่เหมือนเดิม

ที่ผ่านมาบทบาทของอาจารย์ และการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ มีทั้งคำชื่นชมและคำติติง มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บนเส้นทางที่เลือกเเล้วเขาได้รับทั้งดอกไม้และก้อนหินเป็นรางวัล เป็นของแถมอยู่เสมอ

ภาพของชายสวมแว่น ตัดผมที่แซมด้วยสีขาวและดำแบบรองทรง แต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ตสีคุ้นเคยที่นักศึกษาได้เห็นบ่อยๆ และใบหน้าที่ดูเปื้อนรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลา คือลักษณะทางกายภาพของอาจารย์

แล้วเหตุใดต้องอธิบายทรวดทรงเหล่านี้ ก็เพื่อต้องการบอกเล่าให้เห็นว่า กายภาพของอาจารย์ยังเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ เรื่องราวที่น่าสนใจ ในอีกมิติหนึ่งของ ‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์​’ ผ่านการสนทนาพูดคุยกับ THE STANDARD เมื่อไม่นานมานี้

เพดานของการแสดงออกในทางเสรีภาพมันต่ำลงมาก

 

หนึ่งปีที่หายไปอาจารย์ไปอยู่ที่ไหนทำอะไรบ้าง

อยู่กรุงเทพฯ บ้าง ต่างจังหวัดบ้าง ไปอยู่กับแม่ที่ต่างจังหวัดช่วงหนึ่ง เป็นช่วงที่ผมลาปลอดการสอน เขาเรียกว่าลาเพิ่มพูนความรู้ (Sabbatical Leave) ปกติแล้วถ้าทำงานมา 6 ปี อาจารย์จะได้สิทธิ์ลา 1 ปี แต่ผมกลับจากต่างประเทศมาปี 2542 หลังจบปริญญาเอกจากเยอรมนี ผมก็ทำงานมาอย่างต่อเนื่องประมาณ 17-18 ปี แล้วก็เพิ่งได้ลา ที่จริงผมยื่นเรื่องลา Sabbatical Leave เมื่อตอนหลังจากที่มีการยึดอำนาจ แต่ติดขัดปัญหา สุดท้ายเลยไม่ได้ลา แล้วก็มีเรื่องคดีเข้ามาพัวพัน พอหลังจากที่ผมกลับมาสอนหนังสือ เข้าปี 2559 มหาวิทยาลัยก็ได้อนุมัติให้ลาไปนั่งเขียนตำรา ไปค้นคว้า ไปอ่านหนังสือ

 

ตำรากฎหมายที่เขียนเป็นอย่างไรบ้าง อยู่ในขั้นตอนไหน

เสร็จแล้ว แต่ก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ในส่วนที่ต้องส่งมหาวิทยาลัยผมได้ส่งไปเรียบร้อยแล้ว ตามเงื่อนไขของการลา แต่ส่วนที่จะพิมพ์เผยแพร่ ผมยังต้องการปรับปรุงอะไรอีก การปรับปรุงเพิ่มเติมนี้ก็ไม่น่าจะใช้เวลามาก เพื่อที่นักศึกษาจะได้ใช้อ่านประกอบการบรรยายในเทอมสองของปีการศึกษานี้ด้วย

การที่เราได้อ่านหนังสือ มันก็ทำให้เราได้รู้ ว่าเราไม่รู้อีกเยอะมาก ทำให้ผมเข้าใกล้สิ่งที่โสเครติสเคยพูดว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าไม่รู้อะไรเลย

 

เรื่องที่อาจารย์ไปศึกษาเพิ่มเติมและออกมาเป็นตำรานี้คืออะไร

เรื่องที่ผมเขียนนี้เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ความคิดในทางนิติปรัชญา หรือปรัชญากฎหมาย จริงๆ ผมก็รับผิดชอบการบรรยายวิชานิติปรัชญานี้มานานหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีตำราของตัวเองในวิชานี้ ผมจึงคิดว่าน่าจะได้เวลาที่จะต้องมาเขียนเรื่องนี้ให้เป็นหลักเป็นฐาน

การเขียนนี้ก็เป็นการเขียนในเชิงประวัติศาสตร์ความคิด ลักษณะของการดำเนินเรื่องก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันอยู่กับตำราของ อาจารย์ปรีดี เกษมทรัพย์ แต่ว่ารายละเอียด และการแบ่งเนื้อหามีความต่างกัน ก็จะเริ่มต้นที่ความคิด การตั้งคำถามเกี่ยวกับกฎหมาย ว่ากฎหมายมันคืออะไร มันถือกำเนิดมาอย่างไร

จะเริ่มมาตั้งแต่จุดแรกเท่าที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์จะมี ก็คือในยุคกรีกโบราณ เริ่มต้นตั้งแต่ในยุคที่เป็นตำนาน ผมก็ต้องไปนั่งอ่านพวก อีเลียด โอดิสซีย์ แล้วก็นักปรัชญายุคกรีกมาจนถึงสมัยกลาง ไล่มาจนถึงยุคปัจจุบัน ก็คือประวัติศาสตร์ช่วงยาวของความคิดที่เกี่ยวกับกฎหมาย การเกิดขึ้นของไอเดียทางกฎหมาย ความขัดแย้งระหว่างกฎหมายบ้านเมือง กับกฎหมายธรรมชาติ

บางส่วนก็จะเป็นเรื่องประวัติของนักคิด ซึ่งตอนที่เขียนบทประวัติของนักคิด ผมก็ได้พบอยู่อย่างหนึ่งว่า พวกนักคิดนี้ก็จะมีชีวิตที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองกันอยู่ทุกคน สถานที่สำหรับลี้ภัยทางการเมืองที่นิยมกันมานานมากแล้วก็คือ ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

เวลาที่เราได้อ่านประวัติของนักคิด อ่านช่วงชีวิตของเขาในแต่ละช่วงชีวิต เราก็เข้าใจว่า มันก็เป็นธรรมชาติของคนที่มุ่งแสวงหาความรู้ทางวิชาการ เพื่อนำไปสู่ความจริง และบางทีมันก็ขัดแย้งกับผู้คนในยุคสมัยเดียวกัน ขัดแย้งกับผู้มีอำนาจมันก็ได้กลายเป็นเครื่องช่วยเตือน หลายคนก็กลายเป็นกำลังใจ พูดง่ายๆ ว่าที่เลือกทำในเรื่องปรัชญาในช่วงที่ชีวิตเป็นเช่นนี้ สถานการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนี้ มันก็ช่วยชโลมจิตใจให้เราชุ่มชื้นขึ้น และการที่เราได้อ่านหนังสือ มันก็ทำให้เราได้รู้ ว่าเราไม่รู้อีกเยอะมาก ทำให้ผมเข้าใกล้สิ่งที่โสเครติสเคยพูดว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าไม่รู้อะไรเลย” ผมก็ได้รู้ตัวว่าตัวเองยังไม่รู้อะไรอีกเยอะมาก

 

ช่วงที่หายไปได้ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองบ้างไหม

ยังติดตามอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้เข้มข้นมาก อย่างเรื่องปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้น ข้อขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลงทางรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังการออกเสียงประชามติผมก็ยังติดตามอยู่ เพียงแต่ไม่ได้พูดอะไรกับสาธารณะ และที่หายไปนี้ก็ไม่ได้หายไปไหน หนึ่งปีที่ผ่านมานี้ก็ยังคงต้องกลับมาที่ศาลทหารอยู่เป็นระยะๆ ทุกๆ 3 เดือน คดีของผมในศาลทหารก็ยังดำเนินอยู่ แล้วก็มีการสืบพยานโจทก์อยู่ เรื่องที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.

 

การปลีกตัวไปอยู่คนเดียวทำให้อาจารย์มีความรู้สึกกับสังคม กับตัวเองมากน้อยขนาดไหน หลังจากที่ได้มีเวลาคิดทบทวน

ก็มีความสุขแหละ (ยิ้ม) เราได้อยู่กับของที่เรารัก ก็คือความรู้ มันได้ห่างไปจากเรื่องของความขัดแย้งที่เราเข้าไปมีส่วนด้วย เรามาอยู่กับอะไรที่เราได้รู้ ได้ค้น รู้สึกว่าเราได้เรียนรู้อะไรอีกมาก ความจริงยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมรู้สึกว่ายังอยากค้นต่อ แต่ว่าโดยเหตุที่เวลาหมด

ถ้าถามในแง่ของตัวเองก็คิดว่ามีความสุข ไปมีชีวิตที่พอใจกับตัวเอง ถ้าไม่นับเรื่องที่เรายังมีคดี ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่อาจมีปัญหาอยู่บ้าง โดยรวมก็ดี

แต่ในแง่ของสังคมโดยรวม ความรู้สึกมันก็มีตั้งแต่หลังออกเสียงประชามติแล้ว ที่ผมรู้สึกว่าบางอย่างอาจต้องปล่อย ให้มันมีการตกผลึกกันในหมู่ของคน บางเรื่องก็รู้สึกหดหู่ เจ็บปวด ชีวิต ชะตากรรมของคนที่สู้ในประชาธิปไตย มันก็เจ็บแหละในด้านหนึ่ง

ในความมืดอย่างที่สุด สุดท้ายมันก็จะต้องนำไปสู่ความสว่าง เพียงแต่ผมเองก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่

 

บางประเด็นเหมือนอยู่ในความเงียบงัน ทั้งที่ควรถูกยกขึ้นมาให้เสียงดังกว่านี้?

ถูกต้อง แต่ว่าอันนี้ก็เป็นสิ่งซึ่งไม่เกินความคาดหมาย ลองย้อนกลับไปที่ช่วงหนึ่งในชีวิตผมที่มันพีกมาก ก็คือในปี 2555 ซึ่งตอนต้นปี ผมก็ถูกชก และถ้าเทียบกับสภาพการณ์ตอนนี้ที่มันผ่านไปหลายปีแล้ว ผมรับรู้บางอย่างว่า “เพดานของการแสดงออกในทางเสรีภาพมันต่ำลงมาก” เฉพาะผมเองนี้มันซ้อนกันอยู่สองชั้น คือการที่มีคดีอยู่ในศาลทหาร ทั้งสภาพทั่วไปของสังคม

คนที่มีความคิดในทางก้าวหน้า คนที่อยากเห็นสังคมมันดำเนินไป พัฒนาไปเป็นสังคมซึ่งไม่ปิดศักยภาพของมนุษย์ ให้มนุษย์ได้แสดงออกในทางสติปัญญาได้อย่างเต็มที่ เขาต้องรับรู้ได้อย่างแน่นอนว่าเพดานมันต่ำลง แม้กระทั่งเมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งในตอนนั้นเป็นปีที่ผมถูกทำร้ายด้วย มาตอนนี้มันก็ยังต่ำลงไปอีก

แต่อันนี้ผมก็คิดว่ามันเป็นขั้นตอนที่ทุกสังคมต้องผ่าน มันจะมาเวลาไหนแค่นั้นเอง ถ้าจะนับว่าปี 2555 เป็นปีที่มืด ช่วงหลังนี้มืดมากกว่า

แต่ผมไม่คิดว่ามันหมดหวังนะ มันเหมือนกับที่ผมพูดไว้ก่อนหน้านี้ ผมก็เข้าใจว่าเรื่องประชามติได้สร้างความผิดหวังให้กับคนมาก ผมเองก็ยอมรับว่าผิดคาด ไม่ได้ผิดคาดในแง่ของผลแพ้ชนะ

ผมเคยพูดว่านี่มันไม่ใช่ความพ่ายแพ้ที่มันอยู่ในกติกาที่พึงรับได้แต่แรกแล้ว เรารู้อยู่แล้วว่าเราไปสู้ในสนามที่มันไม่ได้มาตรฐานทั่วๆ ไปในการลงประชามติ มันจะได้มาตรฐานได้อย่างไร ในเมื่อคนที่ทำเรื่องประชามติทุกวันนี้ยังถูกฟ้องคดีกันอยู่เลย มันมีที่ไหนเป็นแบบนี้ ฉะนั้นเราก็รู้ว่ามันไม่น่าจะเรียกว่าเป็นประชามติได้

ในวันที่กลุ่มนักศึกษาออกมายอมรับความพ่ายแพ้ผมก็ไม่ได้พูดอะไร แต่ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องที่แพ้หรอก ถ้าแพ้ก็แพ้ในกติกาที่มันไม่ได้เป็นธรรมอยู่แล้ว มันไม่ได้เป็นอะไร แต่เราได้รู้ว่าถ้าเป็นกติกาแบบนี้ กำลังที่เราก็ยังไม่สามารถที่จะเอาชนะได้ อีกอย่างหนึ่งก็คือมันทำให้เราประเมินคนในสังคมได้มากขึ้น ประเมินความพร้อมของคนได้มากขึ้น เพราะว่าผมไม่เชื่อว่าคนที่โหวตรับรัฐธรรมนูญ จะเห็นดีเห็นงามกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คงมีเพียงจำนวนหนึ่งที่เห็นดีเห็นงาม แต่ผมเชื่อว่าคนไม่น้อยที่โหวตรับนี้ก็ด้วยเหตุผลหลายอย่าง อย่างหนึ่งเลยที่ผมมั่นใจก็คือ อยากเลือกตั้ง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือเขาก็ไม่ได้อะไรมาก เขาแค่ไม่ต้องการให้คนในสังคมออกมาตีกัน

คนที่มีความคิดแบบนี้ทำให้ผมนึกถึง โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) นักปรัชญาการเมืองผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ ฮอบส์ เคยบอกว่าหากให้เลือกระหว่างการอยู่ภายใต้การปกครองของทรราช กับสงครามกลางเมือง เขาเลือกที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของทรราชดีกว่า นี่คือไอเดียของฮอบส์ เพราะว่าถึงแม้ต้องอยู่ภายใต้การปกครองที่เลว แต่มันก็ไม่ได้เกิดความขัดแย้งถึงระดับที่ดึงมนุษย์กลับไปสู่สภาวะธรรมชาติแต่เดิม

เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับแนวทางของเขา แต่เรารู้ว่ามันมีความคิดแบบนี้อยู่ แล้วผมก็คิดว่าคนธรรมดาทั่วไปเขาก็อาจจะคิดแบบนี้ คิดว่าอย่างนี้มันก็ยังดีอยู่ แต่ว่าความคิดแบบนี้มันไม่คงที่หรอก มันจะผันแปรไปตามเหตุปัจจัยอื่นๆ มันไม่มีคนออกมาปิดถนน ไม่ออกมายึดสถานที่ราชการ ไม่มีคนเอากรวยมาตั้งมาชุมนุม ก็มีคนกลุ่มหนึ่งคิดอย่างนั้น ด้วยเหตุที่เขาให้น้ำหนัก ให้คุณค่ากับความเรียบร้อยโดยทั่วไป

แต่ว่าชีวิตในสังคมมันไม่ได้มีมิตินี้อยู่มิติเดียว มันมีมิติอื่นๆ อีก และถ้าเราจะมองเพียงแต่มิตินี้อยู่อย่างเดียว เราจะต้องอยู่อย่างนี้ไปตลอดกาล แต่ว่าผมไม่เชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้น ในความมืดอย่างที่สุด สุดท้ายมันก็จะต้องนำไปสู่ความสว่าง เพียงแต่ผมเองก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่

ผมไม่เชื่อว่าสังคมไทยจะอยู่อย่างนี้ตลอดไปได้ และพูดจริงๆ ผมไม่คิดว่าการปฏิรูปแบบที่ทำอยู่ในตอนนี้จะประสบความสำเร็จ

 

การสอนวิชากฎหมายในปัจจุบันนี้ มีสภาพเป็นอย่างไร

มันก็สอนยากอยู่แล้ว เพราะในเรื่องที่มันควรจะเป็นมันไม่ตรงกับเรื่องที่มันเป็นอยู่จริงๆ แล้วทีนี้ตอนเราสอนหนังสือเราจะสอนมันอย่างไรล่ะ เราจะสอนในสิ่งที่มันเป็นอยู่จริงๆ ไปตามสิ่งที่มันเกิดขึ้น ซึ่งหลายเรื่องมันฝืนอยู่กับสำนึกหลายอย่าง แน่นอนผมไม่สอนอย่างนั้น

เมื่อผมสอนหนังสือถึงเรื่องไหน ผมก็ต้องอ้างอิงถึงคำวินิจฉัย ถึงคำพิพากษาว่าเขาตัดสินแบบนี้ และผมก็ต้องบอกว่าคำวินิจฉัยนี้มีข้ออ่อนตรงไหน หรือมันผิดอย่างไรตามทัศนะของผม หรือมันไม่ถูกต้องอย่างไรในทางกฎหมาย แล้วเราก็ให้เหตุผล นักศึกษาเขาก็จะดู ก็จะฟัง แล้วเขาก็จะรู้ว่าที่มันใช้กันอยู่จริงๆ นั้นมันเป็นแบบนี้ และที่ผู้สอนมีความเห็นอย่างนี้ เขาก็จะใช้วิจารณญาณที่จะตัดสินใจ ที่จะคิดด้วยตัวเองว่าเขาจะเอาตามไหน เราไม่ได้สอนให้เด็กแค่จำไปอย่างเดียว เราต้องพูดถึงทัศนะของเราให้เขารู้ ในเรื่องทางกฎหมาย แล้วเขาตัดสินใจเอง และแน่นอนว่าข้อวินิจฉัยเช่นนี้ผมจะหลีกเลี่ยงไม่เอาออกข้อสอบ เว้นแต่ข้อสอบเป็นแบบเปิด แต่ถ้าเป็นข้อสอบที่ต้องมีธงคำตอบ ผมจะไม่ออกคำถามพวกนี้เลย

เด็กก็จะได้คิดว่าเหตุผลทางกฎหมายฝั่งไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน วันหน้าเขาโตไปเป็นผู้ใหญ่ เข้าสู่วิชาชีพกฎหมาย วันหนึ่งเขาก็จะกลายเป็นผู้ทรงอำนาจในการตีความ แล้วหลักที่เป็นอยู่นี้ ในวันหน้ามันสามารถเปลี่ยนได้ มันไม่ได้เป็นอย่างนี้ไปตลอด ผมให้ความเห็นทางกฎหมายของผม ซึ่งมันไม่มีผลในทางกฎหมาย มันไม่ได้เป็นบ่อเกิดทางกฎหมาย แต่มันเป็นบ่อเกิดของความรู้ทางกฎหมาย ซึ่งคนที่เรียนหนังสือในด้านกฎหมาย เข้าสู่วิชาชีพกฎหมาย แล้วเกิดมี Authority ในเรื่องนั้น เขาต้องตัดสินในเรื่องนั้น เขาอาจจะตัดสินในแบบที่ผมสอนไปก็ได้ เขาอาจช่วยเปลี่ยนแนวก็ได้ แต่ถ้ากำลังในตอนนี้มันยังส่งไปไม่มากพอ เขาอาจจะตัดสินตามแนวเดิม ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องในอนาคต ผมอาจจะไม่อยู่แล้วในวันนั้น แต่ผมก็ทำหน้าที่ของผมในฐานะครูสอนกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ไม่ได้สอนแค่เราคิดอย่างไร แต่ว่าสอนว่ามันมีอะไรบ้าง

 

คำว่า ‘กฎหมาย’ ‘ความยุติธรรม’ ‘ความถูกต้อง’​ ในสภาพปัจจุบันของบ้านเมืองเรา มันเป็นอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าคำว่า ‘ความยุติธรรม’ ‘ความถูกต้อง’ คำพวกนี้ หรือแม้กระทั่งคำว่า ‘กฎหมาย’ นี้ มันมีความลึกลับของมัน บางคนอาจมองว่ากฎหมายนี้มันไม่ได้มีความลึกลับอะไร กฎหมายมันคือเขาสั่งมาให้ทำ ก็ต้องทำ คนที่เขามีอำนาจ เป็นรัฏฐาธิปัตย์สั่งมามันต้องเป็นกฎหมาย หรือว่าการสั่งการที่มีประสิทธิภาพ คนทั่วไปในสังคมยอมรับปฏิบัติตาม คุณก็ต้องยอมรับปฏิบัติตามด้วย ก็ถือว่าเป็นกฎหมาย มันก็มีไอเดียอะไรอย่างนี้อยู่

แต่แน่นอนถามว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไหม ในความจริงมันก็ถูกใช้อย่างนั้นจริงๆ เอาตัวผมเป็นตัวอย่างก็ได้ ที่ผมขึ้นศาลทหารอยู่นี้มันก็สะท้อนอยู่ว่าคุณจะรับหรือไม่รับว่ามันเป็นกฎหมาย แต่ว่ามันคือสิ่งซึ่งใช้กันอยู่จริงๆ แต่ถ้ากฎหมายเป็นแบบนั้นอย่างเดียว เราก็ไม่ต้องแสวงหาคุณค่าอะไรขึ้นมา เราก็จะไม่สามารถวิจารณ์ตัวกฎหมายได้ ซึ่งผมไม่คิดว่าอย่างนั้น

ผมว่ากฎหมายวิจารณ์ได้ แต่ประเด็นที่หนักไปกว่านั้นก็คือว่า แล้วถ้ากฎเกณฑ์ในทางกฎหมายนั้นมันขัดต่อสำนึก ความยุติธรรม หรือการอยู่ร่วมกันในสังคม เราควรจะนับว่ามันเป็นกฎหมายไหม มันมีกฎเกณฑ์ที่เรียกกันว่า กฎหมายนี้อย่างเดียว หรือมันมีสิ่งที่เราเรียกว่า ‘กฎหมาย’ แท้ๆ ไหม กับสิ่งที่มันอยู่ในสภาพร่างของกฎหมาย แต่ความจริงเราอาจเรียกมันว่า กดหัว มากกว่า คือเราไม่มีศัพท์เรียก เราเรียกสิ่งซึ่งอยู่ในรูปลักษณ์ของกฎหมาย บางทีมันอาจจะไม่ใช่ กฎหมาย ก็ได้ มันอาจจะเป็น กดหัว ก็ได้

ผมคิดว่าในบางสถานการณ์เรารู้ได้ว่ามันไม่ใช่กฎหมาย ถ้าเราคิดไปในเซนต์ที่มันเชื่อมกับคุณค่า และถ้าจะถามผมว่าเส้นแบ่งของกฎหมาย กับสิ่งที่อยู่ในรูปกฎหมายคืออะไร อันนี้ตอบยาก

ผมไม่ใช่คนแรกที่คิดเรื่องนี้ มีคนที่คิดมาก่อนผม คนที่คิดมาก่อนผมเขาก็ตอบยากเหมือนกัน แต่ไอเดียแบบนี้เป็นไอเดียที่ผมชอบ เพราะว่ามันเป็นไอเดียที่ทำให้เราไม่จำนนเสียทีเดียวต่อสิ่งที่มันมีสภาวะ หรือรูปแบบอยู่ในสภาพของกฎหมาย

 

 

สังคมแบบแบ่งปีกของไทย ที่กำลังจะไปสู่การปฏิรูปหน้าตาจะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าถ้าเราแบ่งสังคมเป็นปีก มันมีเฉดของมันในสองข้าง ผมก็ไม่ได้เป็นนักสังคมวิทยา หรือนักมานุษยวิทยา ผมก็เรียนและถูกฝึกมาในทางกฎหมาย การจะมองสังคมให้เฉียบคมได้แบบคนที่เรียนด้านนี้ก็อาจจะไม่ใช่ เพียงแต่ผมว่าปัญหาหนึ่งของสังคมไทย มันเป็นเรื่องที่ตกค้างมาจากอดีต คือปัญหาที่เราแสวงหาตำแหน่งแห่งที่ กฎเกณฑ์ในการปกครองที่เหมาะสม แน่นอนฝั่งหนึ่งที่เขาครอง ดำรงอำนาจอยู่ในปัจจุบัน เขาก็จะบอกว่ากฎเกณฑ์ที่เป็นอยู่นี้นี่แหละที่มันเหมาะสม หรือเขาพยายามที่จะทำกฎเกณฑ์ที่มันเหมาะสมยิ่งกว่า พยายามที่จะปฏิรูป มีการตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อจะไปทางทิศนั้น แต่แน่นอนว่ามันจะไม่ได้ความเห็นพ้องต้องกันจากอีกฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นอน ถ้าจะไปอย่างนี้มันก็รังแต่จะมีแต่ความขัดแย้ง

สิ่งที่มันเป็นอยู่มันก็เป็นแค่การใช้อำนาจกดอยู่ ปัญหาก็คืออำนาจที่มันกดอยู่นี้มันจะแข็งไปได้อีกนานแค่ไหน กดไปได้ขนาดไหน เราไม่ทราบ มันอาจไปได้นานก็ได้ หรือไม่นานก็ได้ผมก็ไม่รู้ แต่ถ้าให้พูดโดยทั่วไปก็คือมันฝืนกับความเป็นไปในทางประวัติศาสตร์ของโลกอยู่ ทีนี้ถ้าเขาไม่คลาย หรือเดินในทิศทางที่สวน มันก็จะห่างออกไปเรื่อยๆ ความขัดแย้งมันก็จะมีมากขึ้น มันอาจจะไม่ปรากฏอยู่บนพื้นผิว แต่มันปรากฏอยู่ลึกลงไปอีกข้างล่าง ลึกลงไปอีกเรื่อยๆ เพราะมันพอถึงจุดหนึ่งก็ต้องเปลี่ยน

ผมไม่เชื่อว่าสังคมไทยจะอยู่อย่างนี้ตลอดไปได้ และพูดจริงๆ ผมไม่คิดว่าการปฏิรูปแบบที่ทำอยู่ในตอนนี้จะประสบความสำเร็จ เพราะถ้าพูดถึงล่าสุด ถ้าดูในรายชื่อของคนที่อยู่ในกรรมการปฏิรูปนี้มันก็บอกได้ตั้งเยอะ บอกวิธีคิด โอเคเขาอาจจะประสบความสำเร็จก็ได้ ผมอาจจะผิดก็ได้ แต่ว่าผมก็กล้าวางเดิมพันว่ามันจะไม่สำเร็จ แต่ผมก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะพนันขันต่อกันอย่างไร เอาเป็นว่าผมเดิมพันด้วยวิถีชีวิตของผมดีกว่า ว่าผมคิดว่าไม่สำเร็จ และผมไม่เดินไปตรงนั้น

 

ความพยายามที่จะขีดเส้นว่า 20 ปีข้างหน้า เราควรจะเดินไปทางไหน

ความพยายามแบบนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกนะ ย้อนกลับไปเมื่อตอน 6 ตุลาคม ปี 2519 อันเป็นโศกนาฏกรรมในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ยุคใกล้ตัวเรา ตอนที่มีการทำรัฐธรรมนูญปี 2519 เขาก็มีการกำหนดแผนบันได 3 ขั้น สู่ประชาธิปไตย 12 ปี แต่แล้วบันได 3 ขั้นนี้มันก็อยู่ได้แค่ปีกว่า แล้วก็มีการยึดอำนาจ เที่ยวนี้มันเปลี่ยนระยะเวลาจาก 12 ปี มาเป็น 20 ปี

ถ้าเรามองแบบสบายๆ ก็น่าสนใจว่ามันจะทำได้ไหม คุณจะทำได้ไหมในสังคมที่มันมีคนรุ่นใหม่ขึ้นมาในสังคม และเขามีที่ทางที่จะหาความรู้อะไรได้เยอะแยะ แล้วความพยายามที่ว่านี้คือการบีบเรื่องของเสรีภาพให้มันน้อยลง เพราะเรื่องนี้มันจะกลายเป็นอุปสรรค ซึ่งแน่นอนมันจะกระทบเสรีภาพทางวิชาการอย่างไม่มีข้อกังขาเลย ตอนนี้มันก็เริ่มเห็นแล้วว่ามันมาในระดับหนึ่ง และอาจจะมากกว่านี้ในอีกปีสองปีข้างหน้า

ผมยังไม่รู้เลยว่าผมจะได้สอนหนังสือไปตลอดรอดฝั่งจนถึงเกษียณอายุหรือเปล่า เพียงแต่เพราะเราไม่รู้ เราจึงสามารถทำวันนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ ในภาระหน้าที่ของเรา ด้วยความหวังดีต่อสังคม ไม่น้อยไปกว่าคนที่จะปฏิรูปสังคม

เวลามีนักศึกษาไปสมัครงานหรือสอบชิงทุน ถ้าเขารู้ว่ามาจากธรรมศาสตร์ มักจะมีคำถามประเภทชอบอาจารย์คนไหน ผมสงสัยมากๆ ว่าคำถามนี้คุณถามทำไม ถามเพราะว่าอยากจะรู้อะไร เพื่ออะไร เพราะฉะนั้นผมก็บอกเด็กว่าให้เลี่ยงชื่อผมออกไป หลบออกไป มีเด็กบางคนที่เรียนกับผม ใกล้ชิดกับผม เขาก็ไม่บอกชื่อผม เขาก็ได้ทุนไป

 

คิดว่าคนรุ่นใหม่ สามารถหวังได้มากแค่ไหน หลายคนก็มีชะตากรรมอย่างที่เห็น

ผมอยู่ในวงการกฎหมาย นี่เป็นคำถามที่กระทบผมมากเลย เวลามีนักศึกษาไปสมัครงานหรือสอบชิงทุน ถ้าเขารู้ว่ามาจากธรรมศาสตร์ มักจะมีคำถามประเภทชอบอาจารย์คนไหน ผมสงสัยมากๆ ว่าคำถามนี้คุณถามทำไม ถามเพราะว่าอยากจะรู้อะไร เพื่ออะไร เพราะฉะนั้นผมก็บอกเด็กว่าให้เลี่ยงชื่อผมออกไป หลบออกไป มีเด็กบางคนที่เรียนกับผม ใกล้ชิดกับผม เขาก็ไม่บอกชื่อผม เขาก็ได้ทุนไป

ผมว่าตรงนี้มันเป็นปัญหาสำคัญอยู่ ผมรู้ว่ากรรมการสัมภาษณ์เขาก็มีดุลยพินิจ แต่เวลาที่ผมสัมภาษณ์นักศึกษาเข้ามาเรียนที่นี่ ผมไม่เคยเช็กความคิดพวกนี้จากนักศึกษา พวกแนวคิดทางการเมืองหรือความรู้สึกชอบพอ จริงๆ เราควรจะต้องมีความเป็นสุภาพบุรุษอยู่ในแง่ของตรงนี้ บางทีเขาก็มาเรียนเราก็ต้องสอนแบบมืออาชีพ

ปัญหาใหม่อย่างหนึ่งในทางการเมืองคือ คนที่ทำงานอยู่ในวิชาชีพเขาไม่มีความเป็นมืออาชีพ เราไปพูดถึงความดีมีคุณธรรม แต่เรื่องของความเป็นมืออาชีพนี้ก็คือ คุณซื่อตรงต่อหลักวิชา ต่อจรรยาบรรณของตนเองไหม คุณอาจจะมีแนวคิดทางการเมือง คุณอาจจะมีความคิดของคุณ แต่เวลาคุณสอนอยู่ในห้อง มันอาจจะไม่ได้หมด แต่คุณก็ต้องรู้ว่ามันจะมีคนไม่เห็นด้วย ซึ่งคุณก็พูดความเห็นของคุณ ความเห็นนั้นมันก็พูดได้ แต่เราก็ต้องบอกว่านั่นคือความเห็นของเรา ซึ่งถ้าเขาจะไม่เห็นด้วยมันก็คือความคิดของนักศึกษา วันหนึ่งเขาอาจจะเห็นด้วยกับเราก็ได้

ผมมีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่พ่อแม่สั่งไม่ให้มาเรียนกับผม บอกเลยว่าอย่ามาเรียน แต่เขาก็มาเรียน เขาก็คิดเองเป็น กลับไปเถียงกับพ่อแม่ ผมก็กลายเป็นตัวร้ายไปอีก ว่าสอนให้ลูกไปกระด้างกระเดือกกับพ่อกับแม่ ผมก็สอนว่าพ่อแม่เราส่งเสียเลี้ยงดูเรา เราต้องนับถือ แต่ความคิดมันเป็นของเรา ไม่มีใคร แม้แต่พ่อแม่ของเราจะมาบังคับความคิดเรา

ความคิดความรู้สึกมันเป็นสิ่งที่เราบังคับกันไม่ได้ และคนที่เป็นพ่อแม่ก็ต้องเข้าใจว่ามันบังคับกันไม่ได้ คุณคิดอย่างไรมันคือเรื่องของคุณ ลูกคุณจะคิดอย่างไรนั่นก็เรื่องของลูกคุณ ซึ่งเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องที่เขาอาจจะคิดถูกกว่าคุณก็ได้ เพราะว่าเขาได้ฟังรอบด้านกว่า หรือเขาเปิดใจกว่า ทีนี้มันเลยมีคำว่าล้างสมองขึ้นมา ผมไม่เคยทำ ผมก็จะบอกนักศึกษา แล้วเวลาผมสอนผมก็จะบอกว่านี่คือ Fact นี่คือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่นักศึกษาก็ไม่เคยรู้ คุณต้องไปค้น

นักศึกษาบางคนมาบอกทีหลังว่ามาเรียนนี่ข้องใจมากว่าผมสอนไม่ตรงกับที่เคยเรียนมาตอนมัธยม เขาเรียนมาอีกอย่างหนึ่ง เรื่องการเมืองการปกครอง แล้วผมก็บอกตอนสอนว่าเรื่องที่ผมเล่า ยังไม่จำเป็นต้องเชื่อ แต่ให้ไปลองค้น เขาก็ไปค้น ไปอ่าน ผมไม่ได้บังคับให้เขาเชื่อ เขาตระหนักรู้ด้วยตัวของเขาเอง ไม่ใช่เพราะมานับถือศรัทธาอะไรผม

หลายคนเขาก็รู้จักเราเพียงด้านเดียว บางครั้งไปเดินห้างผมก็เคยเจอ ครอบครัวหนึ่งสี่คนมองผมแบบที่ผมรู้ได้เลยว่าเขาเกลียดผมมาก เกลียดผมแบบที่คนคนหนึ่งจะเกลียดใครสักคนได้ แต่เวลาไปที่ไหนแล้วมีคนเดินมาให้กำลังใจก็มี แล้วที่ผมยังอยู่ได้นี้ก็เพราะคนกลุ่มหลังเยอะกว่า อย่างน้อยเท่าที่ผมรู้ แล้วเขาเป็นคนธรรมดา ผมรู้สึกว่าเกียรติของผมในฐานะนักกฎหมายมหาชน คือการรับใช้คนธรรมดา

แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่จริงมันก็จะยังจริงอยู่วันยังค่ำ ความจริงมันก็อาจปิดได้ชั่วคราว เหมือนดวงจันทร์ที่โดนบดบังในหมู่เมฆ มันก็มืดเพียงชั่วคราว พอมันเคลื่อนไปดวงจันทร์ก็สว่าง

 

แสดงว่าคนรุ่นใหม่ที่เขาพร้อมจะเปิดรับ พร้อมจะรับฟัง คนกลุ่มนี้อาจารย์มองว่าเป็นความหวังของสังคม

เป็นความหวัง แต่บางทีมันก็ต้องใช้เวลา เรื่องบางเรื่องมันต้องใช้เวลาทั้งชีวิต อย่างงานเขียนที่มันโด่งดังออกมาบางทีมันก็เกิดขึ้นหลังจากที่คนเขียนตายไปแล้ว งานเขียนของ ฟรานซ์ คาฟคา (Franz Kafka) เป็นตัวอย่างที่ดี เขาลำบาก แวนโก๊ะ ภาพวาดของเขา แนวความคิดก็เช่นกันในยุคสมัยของเขา อย่าง กาลิเลโอ หรือหลายๆ คนที่คนในยุคสมัยเขาไม่เข้าใจ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่จริงมันก็จะยังจริงอยู่วันยังค่ำ ความจริงมันก็อาจปิดได้ชั่วคราว เหมือนดวงจันทร์ที่โดนบดบังในหมู่เมฆ มันก็มืดเพียงชั่วคราว พอมันเคลื่อนไปดวงจันทร์ก็สว่าง

เมื่อก่อนที่ผมเคยออกหนังสือกับสำนักพิมพ์ openbooks ชื่อ ‘จุดไฟในสายลม’ หลังจากออกหนังสือแล้วผมก็จัดงานอภิปราย ผมก็พูดว่าการจุดไฟในสายลมนี้มันอาจจะยาก แต่เราก็ยังจะจุดมัน ถ้ามันดับเราก็จุดใหม่ จนกว่ามันจะติด สายลมมันเป็นทั้งฝน ทั้งพายุ แล้วคุณจะจุดไฟอย่างไร ผมว่ามันเป็นกับคนทุกคนที่พยายามจะพูดในสิ่งที่ถูกต้องเป็นความจริง แต่ในเวลาที่มันเป็นพายุ เป็นลมฝนแล้วคุณพยายามที่จะจุดไฟ แน่นอนคุณต้องเปียก คุณอาจไม่สบาย คุณต้องพัก แต่พักนี่ไม่ได้หมายความว่าคุณหยุด พอคุณหายดีแล้วคุณก็กลับมาจุดมันใหม่ บางทีมันก็อาจจะมีลม และคนที่จะมาช่วยบังลมมันอาจจะมีไม่มากพอ คุณก็อาจจะจุดมันไม่สำเร็จ

แต่เมื่อวันหนึ่ง พอคนมารวมตัวกัน เมื่อมันมากพอ คุณก็อาจจะจุดมันได้สำเร็จ แต่ในวันที่มันไม่มากพอคุณก็จะรู้ว่ามันยังไม่ได้ แต่สิ่งเดียวที่อย่าให้มันหมดไปนั่นก็คือความหวัง

 

อาจารย์จัดการกับความรู้สึกเหล่านี้อย่างไร

เจริญมรณานุสติ คือเมื่อผมพูดถึงเจริญมรณานุสตินั้น ผมหมายถึงเรื่องนั้นจริงๆ คือนึกถึงเรื่องชีวิตจริงๆ

     

แล้วผู้คนควรจะเรียนรู้ที่จะอยู่กับสภาพปัจจุบันของสังคมอย่างไร

ผมคิดว่าเราต้องเห็นภาพจริงๆ ของชีวิต แล้วก็เห็นประวัติศาสตร์ ผมว่าประวัติศาสตร์มันช่วยเราได้เยอะ ลองดูว่าความเปลี่ยนแปลงในสังคม ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ มันไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน หรือชั่วห้าปีถึงสิบปี มันใช้เวลา แล้วบางทีชีวิตของคนทั้งชีวิตอาจไม่ได้อยู่ในช่วงของความเปลี่ยนแปลงด้วย หรือบางคนมาเจอกับจังหวะซึ่งอยู่ในช่วงชีวิตที่ไม่เคยเห็นความเปลี่ยนแปลง

ผมเรียนจบเยอรมนี ผมจึงชอบที่จะยกตัวอย่างเยอรมนีว่า เขาเป็นชาติที่ต้องเผชิญชะตากรรมที่หนักหนา ตอนที่ฮิตเลอร์ขึ้นเถลิงอำนาจปี 1933 คนโห่ร้องยินดี มันมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งรู้ว่านี่มันคือหายนะ คนที่รู้ว่าหายนะจำนวนหนึ่งเขาไม่อยู่จนถึงวันที่เยอรมนีกลับเป็นประชาธิปไตยหรอก บางส่วนเขาก็ล้มหายตายจากไปก่อน

มีศาสตราจารย์ทางกฎหมายคนหนึ่งซึ่งผมชอบความคิดเขามากชื่อ กุสตาฟ ราคบรุค (Gustav Radbruch) ราคบรุค นี่เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นเถลิงอำนาจเขาก็ถูกปลด น่าจะเป็นคนแรกที่ถูกปลดจากอาจารย์มหาลัยในระบอบนาซี ตอนที่เขาถูกปลดเขาก็สูญเสียตำแหน่งไปทั้งหมด ผมว่าเขาก็ไม่รู้หรอกว่าเขาจะได้กลับไปหรือเปล่า เขาถูกปลด สูญเสียการงานไปกว่า 12 ปีเต็ม จนปี 1945 เยอรมนีก็ได้รื้อฟื้นประชาธิปไตยขึ้นมา เขาก็กลับมาสอนหนังสือ กลับมาเป็นคณบดีที่มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก

มันมีช่วงแบบนี้ เราไม่รู้เลย มันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง เป็นความลึกลับอย่างหนึ่ง และเป็นความขมขื่นอย่างหนึ่งพร้อมๆ กันไป เราไม่รู้เลยว่าเราอยู่ในจุดเวลาไหนของประวัติศาสตร์ แต่ผมสังหรณ์ใจว่าเราอยู่ในจุดที่จะเป็นจุดสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในรุ่นของเรา อยากจะคิดแบบนั้น อยากจะรู้สึกว่ามันมีความหวังอยู่ข้างหน้า แต่ถ้ามันหดหู่มากๆ เราอาจต้องคิดว่าชีวิตในโลกนี้มันก็เป็นของชั่วคราว เรามาแล้วเราก็จากไป เรามาแล้วเราได้ทำในสิ่งที่เราควรทำที่สุดแล้วหรือเปล่า

สิ่งเดียวที่อย่าให้มันหมดไปนั่นก็คือความหวัง

 

ต้นทุนที่ต้องสูญเสียไปหลายอย่างในช่วงที่ผ่านมา ย้อนกลับไปได้จะแก้ไขอะไรไหม

ไม่ ผมก็คงทำเหมือนเดิม คงไม่เปลี่ยน เสียอะไรไป รู้สึกอะไรไหม ก็เฉยๆ นะ ล่าสุดผมได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กรรมการที่ผมเป็นค่าตอบแทนอะไรก็ไม่ได้เยอะหรอก แต่ว่าผมชอบงานนี้ เพราะมันคือวิชาที่ผมเรียนมา ผมได้ใช้ความรู้ที่ผมเรียนมากับงาน แต่พอมาถึงเวลาที่ครบวาระในช่วงที่ผ่านมา เขาก็เอาชื่อออก ผมก็ไม่ได้เป็น ถามว่ารู้สึกอะไรไหม ไม่ ก็คืออาจจะเสียดายที่จะไม่ได้ใช้ความรู้ของเรา แล้วหลายเรื่องมันเป็นวัตถุดิบที่เอามาสอนหนังสือนักศึกษาได้ มีโอกาสที่จะเสนอความเห็นของเรา มีโอกาสได้ไปค้นคว้าบางเรื่องที่มันเกิดขึ้น

เรื่องตำแหน่งก็ไม่ได้รู้สึกอะไร จริงๆ พอไม่ได้เป็นมันก็รู้สึกดีด้วยนะ ไม่ต้องไปประชุม เราก็มีเวลามานั่งอ่านหนังสือ แล้วผมเป็นกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมา 16 ปีแล้ว พอครบวาระเที่ยวนี้ ผมไม่ยินยอมให้เสนอชื่อผมอีก เพราะผมไม่อยากให้มันเกิดเหตุการณ์แบบที่มันเกิดขึ้น ผมขอทำงาน ทำหน้าที่ของผม ทำงานที่ผมรักที่สุด คือการสอนหนังสือ

 

คิดอย่างไรถ้าถูกทาบทามให้เข้าสู่สนามการเมืองในอนาคต

คงไม่ ผมชอบงานที่เป็นงานอิสระ ผมไม่ชอบทำงานซึ่งมันจะต้องฟังคำสั่งจากใคร นโยบายจากใคร เราชอบงานที่เราสามารถวินิจฉัยงานจากตัวเราเองได้อย่างอิสระ ไม่ใช่ว่าเรารู้สึกมีเงินทองเหลือเฟือ ก็ธรรมดา พอมีพอกิน แต่ว่าเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่

ตำแหน่งอาจารย์ในธรรมศาสตร์นี้ ผมก็ได้มาด้วยความสามารถของผม ผมทำงานสอนหนังสือ ผมว่าผมไม่บกพร่องอะไร และแม้ว่าคนจะมองว่าผมมีสีทางการเมือง แต่ผมมองว่านักศึกษาส่วนใหญ่ที่เรียนกับผม ตอบได้ว่าเป็นอย่างไร แม้จะไม่ใช่ทุกคน เพราะเราก็คงไม่อาจทำให้ทุกคนรักเราได้ แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าส่วนใหญ่ที่เรียนหนังสือกับผม รู้ว่าผมเป็นอย่างไร และรู้ว่าผมสอนหนังสืออย่างไร

 

 

ไม่ถามคงไม่ได้ อนาคต ‘นิติราษฎร์’ นับจากนี้

อนาคตนิติราษฎร์ เป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมคิดมากที่สุด อย่างที่เข้าใจกันว่าผมมีคดีอยู่ และคดีของผมมันสัมพันธ์กับการยึดอำนาจเมื่อปี 2557

บทบาทของนิติราษฎร์เรารู้อยู่แล้ว มันก็มีเงื่อนไขหลายอย่างภายใต้เฉพาะกาลแบบนี้ ผมถูกผูกเอาไว้ด้วยเงื่อนไขบางอย่างกับคดีที่ติดตัว

ส่วนหนึ่งผมคิดว่านิติราษฎร์ เหมือนกลุ่มที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ผมยืนยันเลยว่า เราทำงานในการเสนอความคิด ส่งเสริมนิติรัฐประชาธิปไตยให้กับคนทั่วไป ให้ความรู้คนทั่วไป และนี่คืองานหลักของเรา แต่เมื่อเวลาผ่านไป บางเรื่องบางประเด็นก็เพิ่มเข้ามา

ทีนี้ถามว่าต่อไปเป็นอย่างไร ตอนนี้นิติราษฎร์นั้น โดยสภาพแล้ว ถ้าพูดเหมือนเล่นเฟซบุ๊กมันคือ Deactivate คือจะ Deactivate ไปเลย หรือจะกลับมา Activate อีกทีหนึ่งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในอนาคต

สภาวการณ์อย่างนี้ ทำให้สมาชิกแต่ละคนต้องไปมีบทบาทในบทของตนเอง ในส่วนตัวของเขาเอง สภาพจะเป็นอยู่อย่างนี้ ก็จะไม่มีกิจกรรมอะไร รวมถึงสำนักพิมพ์ เราก็จะ Deactivate ไปในช่วงเวลานี้ เพราะบรรยากาศมันไม่เอื้อที่จะพูดในเชิงวิชาการ กาลิเลโอ ยังถูกศาลไต่สวนศรัทธาให้หยุด เขาก็ต้องอยู่ในที่ นิติราษฎร์ก็อาจจะมีสภาพที่คล้ายๆ กัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราหยุดใส่ใจสังคม และไม่ได้หมายความว่าหลักการที่เราพูดมาเราไม่ยึดถืออีกต่อไป ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ไม่มีเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ว่าบางเงื่อนไขมันยังทำไม่ได้ ถ้าทำได้ก็ทำ

ผมเชื่อว่ากำลังใจทุกคนยังดีอยู่ เพราะเราก็ไม่ได้คิดร้ายอะไร สิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เราทำมันจะนำพาความดีงามมาให้กับสังคม และเรายังเชื่ออย่างนั้นอยู่ เราไม่ได้มีกำลังอะไร นิติราษฎร์ไม่ได้มีกำลังอะไร เรามีแต่สมอง เรามีแต่สติปัญญา ตามที่เราได้เรียนมา  และจะเห็นว่าผมไม่ค่อยได้พูดถึงเรื่องอื่นนอกเหนือจากในเรื่องวิชาการ เพราะนี่คือสิ่งที่เรารู้ สิ่งที่เราเรียนมา ผมซื่อตรงต่อหลักความรู้ ซื่อตรงต่อหลักวิชา รับใช้ประชาชน มันคือสิ่งที่เราเป็น

 

สุดท้ายอยากฝากอะไร

ธรรมชาติประทานสมองมาให้มนุษย์ ซึ่งมีศักยภาพอเนกอนันต์ แต่การที่เราจะพัฒนาศักยภาพสมองนี้ให้เต็มประสิทธิภาพ เราจะต้องมีระบบสังคม ระบบการปกครอง ระบบกฎหมายที่เอื้อ ถ้าระบบเหล่านี้ไม่เอื้อเราไม่มีทางที่จะได้คนเก่งระดับโลก

ลองพิจารณาประเทศอย่างเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ผมชอบเทียบอยู่บ่อยๆ เพราะมีคนชอบมาถามว่ารัฐธรรมนูญกินได้ไหม ผมก็ไม่รู้หรอกว่ารัฐธรรมนูญกินได้หรือเปล่า แต่ผมรู้ว่าระบบกฎหมาย ระบอบการปกครอง ค่านิยม วัฒนธรรมต่างๆ นี้มันส่งผล ความเป็นประชาธิปไตย เป็นนิติรัฐ มันส่งผลจริงๆ

คุณดูคนชาติเดียวกันแท้ๆ คุณอยู่ในระบอบการปกครองต่างกัน คุณต่างกันเลย บุคลิกภาพ ปัญญามันต่างกันไปหมด เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่ดี ประเทศเราไม่ได้มีการแบ่ง เราจึงไม่รู้เพราะว่าเรารับไปพร้อมๆ กัน เราอาจคิดว่าเราพัฒนา แต่เราอาจไม่รู้ว่าการพัฒนานี้ ที่จริงมันอาจเป็นก้าวถอยหลังก็ได้ เราไม่รู้เพราะมันไม่ได้มีเกณฑ์วัด ลองคิดกันดู ผมอาจจะผิดก็ได้


You must be logged in to post a comment Login