วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ปฏิรูปตำรวจ / โดย ณ สันมหาพล

On July 17, 2017

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง

ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

เห็นชื่อ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจแล้ว มีทั้งคนที่เชื่อมั่นและคนที่ไม่เชื่อมั่น จึงต้องมาพิจารณารายชื่อคณะกรรมการว่าแต่ละคนเป็นมาอย่างไร

มีบางคนกล่าวอย่างน่าวิตกว่า ความชั่วร้ายทั้งหลายในสังคมไทยส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบตำรวจไม่มีประสิทธิภาพ สถิติอาชญากรรมของไทยจึงติดอันดับสูงของโลก จะน้อยกว่าก็แค่ประเทศในทวีปแอฟริกา เพราะทุกวันนี้ทั่วประเทศไทยมีข่าวอาชญากรรมสารพัด โดยเฉพาะการฆ่า ยังไม่พูดถึงปัญหาอบายมุขต่างๆ ทั้งยาเสพติด การพนัน การค้าประเวณี โดยเฉพาะการพนันมีทั้งบ่อนกลางวัน บ่อนกลางคืน และการพนันอื่นๆ ซึ่งเล่นได้ตลอด 24 ชั่วโมง เล่นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยถือว่าพออยู่พอกิน แต่คนไทยมากมายเป็นหนี้กันถ้วนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากการเล่นการพนัน โดยเฉพาะหวยใต้ดิน จะเห็นอยู่ทั่วไปทั้งคนหาเช้ากินค่ำยันมนุษย์เงินเดือน

ขณะที่มีข่าวเรื่อง “ส่วย” ของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาโดยตลอด ยังไม่พูดถึงปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาการค้าประเวณีต่างๆ แม้แต่ปัญหาจราจรของไทยยังมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตบนท้องถนนจนอับอายไปทั่วโลก รวมถึงปัญหาการฉ้อโกงต้มตุ๋น

ปัญหาสารพัดที่แก้ได้ไม่หมด เพราะการบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยานหรือเลือกปฏิบัติ จนประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่เกรงกลัว ยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจหย่อนยานก็ยิ่งเป็นเหมือนผีเน่ากับโลงผุ การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจจึงมีมาโดยตลอด

อย่างการทำการวิจัยความเป็นมาของ โรงพักจักรวรรดิ” ที่รัชกาลที่ 5 ทรงต้องการให้เป็นต้นแบบโรงพักในการดูแลความสงบเรียบร้อยให้กับประชาชน ซึ่งโรงพักอยู่ใจกลางย่านเศรษฐกิจสำคัญในยุคนั้น มีบ้านพักตำรวจซึ่งต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง

การศึกษาระบบตำรวจของไทยยังมีการค้นบันทึกการตั้ง โรงเรียนพลตระเวน” ซึ่งผู้บังคับการเป็นชาวอังกฤษและเคยเป็น “พลตระเวน” เดิมเป็นคำที่ใช้เรียกตำรวจและไม่มียศ เพราะไม่ใช่ทหาร แต่เป็นพลเรือนที่ต้องทำงานคู่กับประชาชน ชื่อก็บ่งบอกชัดเจนว่าต้องเดินตระเวนเพื่อตรวจตราพื้นที่และตรวจสอบการกระทำไม่ดีหรือพวกโจรผู้ร้ายต่างๆ หากไม่สามารถดำเนินการได้ก็ต้องบอกทางอำเภอในพื้นที่เพื่อจัดการ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่อำเภอทำหน้าที่หาหลักฐานและจับกุมผู้กระทำผิด ถ้าต้องเดินทางไกลหรือใช้เวลานานก็จะดึงชาวบ้านให้ช่วยในการหุงหาอาหารและเป็นหูเป็นตา

ผู้สูงอายุที่ทันเห็นพลตระเวนมักจะเล่าให้ฟังถึงความพร้อมเพรียงและการปกครองท้องถิ่นในยุคนั้นว่าเป็นไปด้วยดี เพราะตำรวจขึ้นกับอำเภอ แต่ในยุคที่มีสโลแกนว่า ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” นั้นแตกต่างกันสิ้นเชิง เพราะกรมตำรวจเหมือนกองทัพ โดยอ้างว่าเบื้องหลังเป็นเพราะนายใหญ่ตำรวจขณะนั้นมีปมด้อยตอนเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อมีอำนาจจึงต้องการสร้างกรมตำรวจให้เป็นกองทัพเพื่อข่มขวัญเพื่อนที่เป็นนายทหารและชอบรังแกตนเองสมัยเรียนด้วยกัน ทำให้มีการก่อตั้งกองกำลังใหม่ๆแบบกองทัพ ทั้งตำรวจรถถัง ตำรวจน้ำ และตำรวจอากาศ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แทนที่จะให้เรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแล้วจึงแยกไปเป็นทหารและตำรวจ

เมื่อมีการปฏิวัติปี 2500 ซึ่งเดิมคิดว่าจะมีการปฏิรูปตำรวจครั้งใหญ่เพื่อแยกทหารออกจากตำรวจอย่างชัดเจน กลับปรากฏว่าทหารกลับมาคุมตำรวจ เพราะตำรวจมีอำนาจในการสอบสวนและจับกุม ซึ่งทหารไม่มี ยิ่งหลังยุค ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว” อำนาจของกรมตำรวจยิ่งมีมากขึ้น ไม่ต้องอยู่ภายใต้อำเภอ มีอำนาจทั้งสืบสวน สอบสวน และจับกุม เมื่อมีอำนาจมากก็มีผู้ต้องการเข้ามาเป็นตำรวจมาก ข่าวการซื้อขายตำแหน่งและระบบอุปถัมภ์ต่างๆจึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะผ่านนายตำรวจที่มีอำนาจหรือคนใกล้ชิดต่างๆทั้งหน้าห้องและหลังบ้าน

ใครอยากเข้ารับราชการ เลื่อนตำแหน่ง หรือย้ายออกจากพื้นที่ ล้วนต้องมีระบบเกื้อหนุนเข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อมีมาอย่างช้านานจึงยากที่จะชำระล้างได้หมดสิ้น ซึ่งมีการเสนอแนะให้ยกเลิกยศและเครื่องแบบ รวมทั้งโอนอำนาจสอบสวนแยกออกจากตำรวจ หรือเปลี่ยนแปลงไปเป็นตำรวจท้องถิ่นที่ขึ้นอยู่กับอำเภอและจังหวัด การบังคับบัญชาไม่เกี่ยวข้องกับกรมตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นศูนย์รวมอำนาจ

นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนะให้ตำรวจเลิกพกอาวุธ แต่มีการใช้อาวุธในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เป็นเหมือนพลตระเวนในอดีต จัดรูปแบบให้มีความเป็นอิสระ และกำหนดหน้าที่เพื่ออำนวยความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

การปฏิรูปตำรวจจะออกมาอย่างไรจึงนับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง


You must be logged in to post a comment Login