วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ศาสนาถูกนำมาใช้รักษาอัตลักษณ์ / โดย บรรจง บินกาซัน

On July 17, 2017

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

คำสอนของอิสลามกำหนดให้พ่อแม่มุสลิมต้องส่งลูกของตนเรียนศาสนาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ และเมื่อถึงอายุ 10 ขวบ พ่อแม่ต้องบังคับให้ลูกของตัวเองละหมาด เพื่อที่เมื่อลูกเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตามเกณฑ์ของศาสนา เด็กจะสามารถปฏิบัติศาสนกิจเป็นการสืบทอดศาสนาต่อไปได้

ดังนั้น ในชุมชนมุสลิมทุกแห่งจึงมีโรงเรียนสอนศาสนาสำหรับเด็กข้างมัสยิด ส่วนมัสยิดจะถูกใช้เป็นสถานที่อบรมศาสนาสำหรับผู้ใหญ่

ในตอนเป็นเด็ก เวลาไปเรียนศาสนาเด็กผู้ชายจะแต่งกายไปเรียนโดยใส่โสร่งและใส่หมวก “กะเปี๊ยะสีขาว” ตามแบบชาวมลายู หรือไม่ก็ใส่หมวกหนีบสีดำที่เรียกว่า “ซองเก๊าะ” ตามแบบอินโดนีเซีย เพราะบรรพบุรุษของมุสลิมในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูและชาวอินโดนีเซียหรือที่เรียกกันว่าชาวยะหวาซึ่งมาจากคำว่า “ชวา” นั่นเอง

ตอนเป็นเด็กผมถูกผู้ใหญ่ดุเป็นประจำเรื่องไม่ใส่โสร่งและหมวก ผมจะใส่โสร่งและหมวกก็เฉพาะตอนเรียนเหมือนใส่เครื่องแบบนักเรียน หมดเวลาเรียนเมื่อใดผมก็ถอดออก ผู้ใหญ่ดุผมเพราะเห็นว่าผมทิ้งวัฒนธรรมการแต่งกายแบบอินโดนีเซีย แม้พ่อแม่ของผมจะมีเชื้อสายมาจากอินโดนีเซีย แต่พ่อแม่ของผมก็ไม่ได้ตำหนิผมแต่ประการใด ผมเองก็เห็นว่าผมเกิดในประเทศไทยและมีสัญชาติไทย ทำไมผมต้องแต่งตัวตามแบบมลายูหรืออินโดนีเซีย

คำสอนของอิสลามมิได้กำหนดให้ผู้ชายมุสลิมต้องใส่หมวกและนุ่งโสร่ง มันมิใช่เครื่องแต่งกายทางศาสนา เพราะคนพม่าที่นับถือศาสนาพุทธก็นุ่งโสร่งเหมือนกัน สำหรับผู้หญิงมุสลิมคำสอนอิสลามกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องคลุมผมและแต่งกายมิดชิด ในตอนผมเป็นเด็ก ผู้หญิงมุสลิมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่มีใครแต่งกายตามคำสอนของศาสนา แต่ผู้ใหญ่กลับให้ความสำคัญกับการแต่งกายตามประเพณีนิยมของชนชาติมากกว่าศาสนา

ไม่เพียงเท่านั้นผู้ใหญ่บางคนยังมีอคติมองวัยรุ่นมุสลิมที่ใส่กางเกงขายาวว่าเป็น “นัศรอนีย์” (ชาวคริสเตียน) ด้วย

พอเข้ามหาวิทยาลัยและได้มีโอกาสเดินทางไปทำกิจกรรมใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ชาวบ้านบางคนรู้ว่าผมเป็นมุสลิม แต่พอได้ยินผมพูดไทยพวกเขาถามผมว่าทำไมไม่พูดภาษา “อิสแล” (อิสลาม) ซึ่งทำให้ผมงง และมารู้ทีหลังจากเพื่อนว่าภาษาอิสแลของชาวบ้านที่นั่นก็คือภาษายาวี ตรงนั้นเองที่ทำให้ผมต้องเริ่มศึกษาว่าทำไมชาวบ้านที่นั่นจึงเข้าใจไขว้เขวเช่นนั้น

การศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้ผมรู้สาเหตุที่ว่าผู้ใหญ่ดุผมที่ไม่แต่งกายตามประเพณีของบรรพบุรุษก็เพราะอินโดนีเซียถูกชาวดัตช์หรือฮอลันดารุกราน ไม่เพียงแต่ยึดครองดินแดนเท่านั้น ชาวดัตช์ยังพยายามที่จะเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในหมู่ชาวอินโดนีเซียด้วย เมื่อชาวอินโดนีเซียคนใดหันไปรับนับถือศาสนาคริสต์ก็จะแต่งกายแบบตะวันตกเหมือนกับชาวดัตช์ คนอินโดนีเซียจึงมองว่าการเปลี่ยนศาสนาทำให้คนเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมด้วย จึงกำชับลูกหลานมิให้แต่งกายตามแบบตะวันตกเพื่อรักษาอัตลักษณ์การแต่งกายแบบมุสลิมอินโดนีเซียไว้

ส่วนชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูที่ปลายด้ามขวานของไทยเข้าใจว่าภาษายาวีคือภาษาอิสลามก็มีที่มาจากเหตุการณ์ในอดีตเช่นกัน เพราะในยุคหนึ่งผู้ปกครองไทยที่ได้รับอิทธิพลเรื่องชาตินิยมจากตะวันตกพยายามจะทำให้คนไทยทุกคนพูดภาษาไทยและนับถือศาสนาพุทธ ในขณะที่คนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้พูดภาษายาวีและนับถือศาสนาอิสลาม นโยบายดังกล่าวจึงก่อให้เกิดสโลแกนเพื่อรักษาอัตลักษณ์ในหมู่มุสลิมชาวใต้ว่า “ออแฆอิสแล ออแฆนายู” (คนอิสลาม คนมลายู) ซึ่งทำให้หลายคนพลอยเข้าใจไขว้เขวไปว่าภาษายาวีคือภาษาอิสลาม

คัมภีร์กุรอานกล่าวไว้ชัดเจนว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์เป็นก๊กเป็นเหล่าที่แตกต่างกันเพื่อให้รู้จักกัน การจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสามารถร่วมกันสร้างความเจริญได้ก็ต้องเข้าใจและเคารพในความเป็นตัวตนของกันและกัน

อิสลามให้ความเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างไร เราสามารถเห็นได้จากการแต่งกายที่แตกต่างกันของมุสลิมในชาติต่างๆ ทุกชนชาติมีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และศาสนาเป็นที่มาของวัฒนธรรม ถ้ามีการรุกรานทางวัฒนธรรมเมื่อใด คนจะมีความรู้สึกว่าศาสนาของตัวเองถูกรุกรานด้วย


You must be logged in to post a comment Login