วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

‘สัมปทาน’ทุจริตหรือไม่? / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On June 22, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

ขณะที่หลายคนหลายประเทศดีใจที่จะมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีขึ้นทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า แต่เจ้าของประเทศเหล่านั้นอาจช็อกหากรู้ว่ารัฐบาลของเขาไม่ได้ทำเพื่อประชาชน แต่ทำเพื่อโกงกินบ้านเมือง อันที่จริงถ้านึกถึงสัมปทานรถไฟฟ้าหรือทางด่วนมักหมายถึงการประมูลให้นักลงทุนทำการก่อสร้างจนเสร็จ ดำเนินการแล้วค่อยโอนให้รัฐหลังสิ้นสุดอายุสัมปทาน หรือก่อสร้างแล้วโอนให้รัฐเลยแต่ให้ดำเนินการจนเสร็จสิ้นอายุสัมปทาน

ประเทศไทยก็มีให้เห็น เช่น 1.รถไฟฟ้าบีทีเอสสายแรกปี 2542 ธนายงรับผิดชอบงานโยธา งานจัดหาตู้รถไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าทุกอย่างเอง โดยรัฐให้ใช้ถนนในการก่อสร้าง 2.ทางด่วนขั้นที่สอง บริษัทกูมาไกกูมิจากญี่ปุ่นรับสัมปทาน แต่ภายหลังขายคืนให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพราะความขัดแย้งทางธุรกิจ 3.ดอนเมืองโทลเวย์ รัฐบาลให้สัมปทาน 30 ปี โดยผู้รับสัมปทานรับผิดชอบเองทุกอย่าง รัฐบาลไม่ต้องประเคนให้แต่อย่างใด และ 4.โครงการโฮปเวลล์ นายกอร์ดอน วู จากฮ่องกง ได้รับสัมปทานผ่านดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิ แต่เจ๊งไปก่อน เป็นต้น

ทุกวันนี้แม้จะบอกว่ามีการให้สัมปทาน แต่ดูเหมือนไม่ใช่ แต่ก็ยังเรียกเป็นสัมปทานอยู่ อันนี้อาจทำให้ชาวบ้านงุนงงสับสน ถือเป็นการตบตาประชาชนหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ การให้สัมปทานแบบข้างต้นแม้รัฐแทบไม่ต้องเสียเงินสักบาท แต่ก็ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐคือข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำมีโอกาสโกงกินได้

ยกตัวอย่างรถไฟฟ้าสายหนึ่ง รัฐบาลต้องออกค่าเวนคืนและค่าก่อสร้างงานโยธาถึง 30,000 ล้านบาท แล้วปล่อยให้ภาคเอกชนผู้รับสัมปทานออกเงินค่าตู้รถไฟฟ้าและระบบรถไฟฟ้าอีกราว 25,000 ล้านบาท แถมยังให้ใช้พื้นที่ถนนอีกนับสิบๆไมล์ ประเด็นที่พึงตรวจสอบก็คือ ทำไมรัฐบาลต้องออกเงินเองมากปานนั้น เพื่อแบ่งมาโกงกิน 30% หรืออย่างไร น่าจะมีผู้รับสัมปทานที่สนใจรับเหมาไปทำทั้งหมดแบบที่เคยทำมา อีกอย่างที่ควรตรวจสอบคือ ค่างานที่ภาคเอกชนลงไปนั้นเป็นตัวเลขเกินจริงหรือไม่?

อีกตัวอย่างคือ การก่อสร้างทางด่วนหรือรถไฟฟ้าในบางประเทศที่ทำทีละขยัก เช่น สัญญาแรกเป็นการออกแบบช่วงที่หนึ่ง สัญญาที่สองออกแบบช่วงที่สอง สัญญาที่สามออกแบบช่วงที่สาม สัญญาที่สี่ก่อสร้าง สัญญาที่ห้าก็ก่อสร้างอีก สิ่งที่น่าสงสัยคือ ทำไมไม่ทำแบบเดิมที่ให้ผู้รับเหมารับสัมปทานทำไปให้จบสิ้นกระบวนความเลย ที่น่าคิดคือการมีสัญญาหลายๆสัญญาทำให้มีการชักเปอร์เซ็นต์ “โกง” ได้มากครั้งกว่าใช่หรือไม่?

การสร้างทางด่วน รถไฟฟ้า หรือสาธารณูปโภคอื่นๆ น่าจะมีนายทุนใหญ่ๆทั้งในประเทศและจากต่างประเทศสนใจมาลงทุน มูลค่างาน 20,000-100,000 ล้านบาท ก็ไม่น่าจะมากมายเกินไปนักสำหรับนายทุนใหญ่จริงๆที่สนใจประเทศกำลังพัฒนาเช่นไทยหรือประเทศอื่นๆ รัฐบาลที่ไม่โกงก็เพียงรอบคอบในการทำสัญญาจะได้ไม่ต้องเสียค่าโง่ เป็นต้น

ควรส่งเสริมให้ประชาชนได้รับความรู้ว่าการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล ไลท์เรล หรือระบบรถไฟครบเครื่อง ทั่วโลกมีค่าก่อสร้างอยู่ที่เท่าไรกันแน่ ถ้ามีข้อมูลเหล่านี้ก็จะเห็นได้ชัดว่าโครงการไหนมีการโกงกินกันบ้าง อันที่จริงหากมีความมุ่งมั่นจะทำให้โปร่งใส แม้แต่เรือดำน้ำ รถถัง ก็สามารถเปรียบเทียบราคาตลาดได้ จะได้เห็นชัดว่าการจัดซื้อหรือการรับสัมปทานไหนสุจริตจริง

นอกจากการคิดโครงการระบบทางด่วน-รถไฟฟ้าเพื่อการโกงกินแล้ว รัฐบาลยังส่งเสริมให้เกิดการผูกขาดเสียอีก เช่น ในมาเลเซีย ทางด่วนที่ให้เอกชนทำในยุคแรกๆซึ่งยังไม่หมดอายุสัมปทานได้รับการขยายอายุเชื่อมต่อเส้นทางออกไปเรื่อยๆโดยผู้รับสัมปทานเดิม จึงยังไม่หมดอายุสัมปทานเสียที แถมยังส่งเสริมให้กลุ่มทุนเหล่านี้ผูกขาดอีก

พวกที่ต้องการโกงกินมักจะสร้างเรื่องเท็จให้เราหลงเชื่อหลายอย่าง ซึ่งประชาชนพึงรู้จะได้ไม่ถูกหลอกอีก เช่น

1.ตอนจะสร้างรถไฟฟ้าแบบลอยฟ้าก็สร้างเรื่องเท็จมาบอกว่าดินในกรุงเทพฯอ่อนไม่สามารถสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินได้

2.ตอนที่อยากจะโกงกินหนักๆก็บอกว่าไม่ควรให้สัมปทานแก่นายทุนใหญ่รายเดียวในแต่ละเส้นทาง เพราะจะเป็นการผูกขาด ทั้งที่เราสามารถเขียนสัญญาให้รัดกุมและให้แต่ละนายทุนประสานงานกันได้

3.ตอนที่อยากทำหลายสัญญาเพื่อกินหลายๆทอดก็บอกว่าควรมีการรับเหมาหลายช่วง แต่หากรายใดรายหนึ่งทำไม่สำเร็จก็อาจทำให้ระบบโดยรวมเกิดปัญหาได้

4.ตอนที่จะส่งเสริมให้เกิดการผูกขาดก็จะต่ออายุสัมปทานก่อนกำหนด หรือหาเรื่องขยายเส้นทางเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับผู้รับสัมปทานเดิม และกีดกันผู้จะมาประมูลรายอื่น เป็นต้น

เราคงดีใจที่จะมีรถไฟฟ้าจนมองข้ามการโกงกินมโหฬารไป…โปรดสังวร!!


You must be logged in to post a comment Login