- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 11 hours ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 11 hours ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 11 hours ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 12 hours ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 2 days ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 5 days ago
- เลิกเสียเงินกับเรื่องโง่ๆPosted 6 days ago
- ปัญหายาเสพติดวาระแห่งชาติPosted 7 days ago
- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 1 week ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 1 week ago
คำถามของประยุทธ์! / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ บ้านเมืองจะต้องก้าวสู่กระบวนการการเลือกตั้งที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตย แต่ดูเหมือนฝ่ายเผด็จการทหารยังไม่ค่อยมั่นใจในกระบวนการ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร จึงกล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลและ คสช. ยืนยันว่าการเป็นประชาธิปไตยของไทยจะต้องไม่เป็นประชาธิปไตยที่ล้มเหลว ต้องเป็นประชาธิปไตยที่มีรัฐบาลซึ่งยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล นำพาให้ชาติมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้จงได้ จึงฝากคำถามไว้ 4 ข้อ เพื่อทราบความคิดเห็นของประชาชนและนำมาพิจารณาแนวทางการทำงานต่อไป
คำถามทั้ง 4 ข้อคือ 1.ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร 3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศและเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง และ 4.ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณีควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร
พล.อ.ประยุทธ์แสดงความจริงจังกับคำถามดังกล่าวโดยย้ำว่า ให้ประชาชนส่งคำตอบและความคิดเห็นมาที่ศูนย์ดำรงธรรมในทุกจังหวัด แล้วให้กระทรวงมหาดไทยรวบรวมส่งมาที่นายกรัฐมนตรี คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์กลายเป็นประเด็นความสนใจในทันที หลายฝ่ายได้แสดงความเห็นตอบโต้และตั้งข้อสังเกตว่า สะท้อนว่าฝ่ายทหารและ คสช. ต้องการจะรักษาอำนาจต่อไปโดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง แต่ปัญหาสำคัญที่เห็นจากคำถามนี้คือ ความเข้าใจผิดในบทบาทของตนเองและความอ่อนด้อยของฝ่ายทหารในความรู้การเมืองแบบประชาธิปไตย
เริ่มจากคำว่า “ธรรมาภิบาล” ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษ “Good Governance” หมายถึงระบบบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี เพื่อให้สังคมของประเทศทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขและตั้งอยู่ในความถูกต้องเป็นธรรม โดยหลักสำคัญ เช่น หลักนิติธรรม (The Rule of Law) หลักคุณธรรม (Morality) หลักความโปร่งใส (Accountability) หลักการมีส่วนร่วม (Participation) และหลักความรับผิดชอบ (Responsibility) เป็นต้น
ในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีการแสดงหลักฐานยืนยันได้เลยว่า รัฐบาลจากการรัฐประหารจะมีหลักธรรมาภิบาลมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะรัฐบาล คสช. ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา มีการใช้อำนาจที่ไม่ได้ยึดหลักธรรมาภิบาล เช่น ใช้อำนาจมาตรา 44 ที่เป็นการละเมิดหลักนิติธรรม การทุจริตคอร์รัปชันของฝ่ายทหารกินค่าหัวคิวละเมิดหลักคุณธรรม ใช้อำนาจรัฐควบคุม ห้ามการตรวจสอบรัฐบาลและกองทัพ ละเมิดหลักความโปร่งใส สมาชิกรัฐสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมดก็ละเมิดหลักการมีส่วนร่วม
นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าไม่มีธรรมาภิบาลภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร การเลือกตั้งที่เป็นธรรมและประชาธิปไตยจึงเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างรัฐที่มีธรรมาภิบาล อย่างน้อยประชาชนสามารถแสดงความเห็น วิพากษ์และตรวจสอบรัฐประชาธิปไตยได้ง่ายกว่ารัฐเผด็จการ ซึ่งเผด็จการทหารแสร้งทำเป็นไม่รับรู้ หลักการระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ให้หลักประกันว่าจะได้รัฐบาลที่ดีหรือไม่ดี แต่ให้หลักประกันที่มาของอำนาจว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากประชาชน ส่วนการบริหารจะมีธรรมาภิบาลอย่างไรขึ้นอยู่กับกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุล แม้แต่ประเทศที่มีกระบวนการประชาธิปไตย เช่น สหรัฐ ฝรั่งเศส หรือประเทศอื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าการเลือกตั้งจะได้รัฐบาลที่ดีทุกครั้ง แต่ประชาธิปไตยดีกว่าเผด็จการทหารคือ มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยสันติวิธีและโดยประชาชนตัดสิน การรัฐประหารเป็นสิ่งล้าสมัยในโลกสากล
ถ้าตอบคำถามข้อที่ 2 คือ ต่อให้มีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาล ประชาชนก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งทหารหลงยุคเห็นแต่การรัฐประหารเป็นหนทางแก้ปัญหาทางการเมือง จึงนำประเทศไปสู่ความล้าหลัง
คำถามที่ 3 ก็ต้องตอบว่า การเลือกตั้งและกระบวนการสู่ประชาธิปไตยเป็นการดำเนินการที่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ เพราะระยะ 3 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าประเทศไม่มีอนาคต หากต้องการปฏิรูปประเทศ กระบวนการประชาธิปไตยไม่ได้ขัดขวาง แต่แนวคิดปฏิรูปก่อนเลือกตั้งและแช่แข็งประเทศเป็นแนวคิดของฝ่าย กปปส. ที่สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติจนถึงขณะนี้
สำหรับข้อที่ 4 ประเทศที่ปกครองโดยกฎหมาย ถ้านักการเมืองหรือใครก็ตามมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็มีกฎหมายปรกติลงโทษ ถ้าไม่ได้ทำความผิดก็ไม่ต้องสร้างกฎหมายพิเศษหรือเงื่อนไขพิเศษที่ขัดหลักนิติธรรม กระบวนการทางการเมืองต้องเปิดสำหรับสุจริตชนตามกฎหมายทุกคนให้มีส่วนร่วมได้ ไม่ใช่ให้อำนาจบุคคลที่ถือปืนเหนือกว่าผู้อื่น
คำถามและท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์สะท้อนความวิตกกังวลของกลุ่มชนชั้นนำที่กลัวการเลือกตั้ง เพราะไม่สามารถบังคับหรือเปลี่ยนใจประชาชนที่ต้องการจะเลือกพรรคเพื่อไทยได้ เพราะการสุ่มตัวอย่างเสียงประชาชนทุกครั้งหากมีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยมีโอกาสที่จะได้เสียงมากที่สุด แม้จะใช้มาตรการทางรัฐธรรมนูญหรืออำนาจเถื่อนสกัดขัดขวางทุกทางแล้วก็ตาม ความขัดแย้งและความวุ่นวายในประเทศจึงมาจากความอับจนปัญญาของชนชั้นนำที่จะบังคับเสียงของประชาชน
ความจริงกระบวนการทั้งหมดแก้ได้ง่ายที่สุดหากเล่นการเมืองตามกติกาตามกระบวนการประชาธิปไตยปรกติ ถ้าชนชั้นนำต้องการชนะพรรคเพื่อไทยหรืออดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ก็ต้องเอาชนะด้วยประชาธิปไตย การเมืองไทยก็จะพัฒนาเช่นนานาประเทศ และหลักธรรมาภิบาลก็จะเกิดขึ้น
กล่าวโดยสรุป ประเทศไทยจะพัฒนาไปข้างหน้าได้ กลุ่มนายทหารยุคต่อไปต้องเลิกคิดว่ามีแต่ทหารเท่านั้นที่เป็น “อัศวินม้าขาว” เข้ามาแก้ปัญหาประเทศ ต้องคิดใหม่ว่าประชาชนสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย จะได้ไม่ต้องมาตัดพ้อว่า “ถ้าประยุทธ์ไม่อยู่แล้วจะเรียกใคร?”
You must be logged in to post a comment Login