- กลืนเลือดไม่ให้เสียใจPosted 2 days ago
- ระลึกถึงพ่อหลวง ร.9Posted 2 days ago
- 5 ธ.ค.วัดสวนแก้วแตกแน่Posted 3 days ago
- จะกลับมาแบบไหนPosted 4 days ago
- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 4 days ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 4 days ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 4 days ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 4 days ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 5 days ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 1 week ago
ใครควรถามใครควรตอบ? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
หลังจากรัฐบาลท่านผู้นำสูงสุดประกาศจะแถลงผลงานแล้วไม่ได้แถลงจนถึงวันที่ผมเขียนต้นฉบับ ต้องบอกว่าท่านผู้นำสูงสุดและรัฐบาล “บอบช้ำ” ไม่น้อยจากกระแสสังคมที่ตั้งคำถามเข้าใส่ โดยเฉพาะเรื่อง “เศรษฐกิจ” ยิ่งมีการวางระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ท่านผู้นำยิ่งออกอาการ “เป๋”
ไม่รู้ว่าต้องการแก้เกี้ยวเหตุการณ์ที่รัฐบาลหาคำตอบไม่ได้หรือไม่อยากตอบ เพราะนอกจากไม่มีคำตอบจากท่านผู้นำสูงสุดแล้วยังโยนคำถาม 4 ข้อที่ “ไม่เกี่ยว” กับเรื่องผลงานและเรื่องระเบิดมาถามประชาชนทั้งประเทศ ทำเอาบรรยากาศที่อึมครึมอยู่ไม่น้อยกลับมีเสียงอื้ออึงดังลั่นทั้งประเทศ เมื่อเป็นคำถามซึ่งคนส่วนใหญ่ “ตั้งคำถาม” กลับไปที่ “คนตั้งคำถาม” ทันทีว่า กล้าดีอย่างไรจึงตั้งคำถามที่สวนทางกับข้อเท็จจริงในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และสวนทางกับบรรยากาศสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็พ
ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถาม 4 ข้อให้เปลืองหน้ากระดาษ เพราะเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านตอบได้เองและตอบได้ดีกว่า แต่ก็อดไม่ได้ที่จะถ่ายทอดคำตอบจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งตอบคำถามเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจนและตรงประเด็น โดยยืนยันว่าท่านตอบในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่รักและหวังดีกับประเทศ ท่านบอกว่าคำถาม 4 ข้อ สะท้อนให้เห็นว่า 3 ปีของ คสช. ล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่เมื่อท่านผู้นำสูงสุดตั้งคำถามเพื่อจะนำคำตอบมาประกอบแนวทางการทำงานต่อ ท่านก็ขอตอบดังนี้
คำถามที่ 1 ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่? ก่อนอื่นต้องถามท่านกลับไปว่า ท่านมีสิทธิจะตั้งคำถามนี้หรือไม่ เพราะผู้ที่จะตั้งคำถามผู้อื่นตามหลักแล้วผู้นั้นต้องมีสิ่งนั้นก่อน หมายความว่าท่านผู้นำแน่ใจว่ารัฐบาลนี้มีธรรมาภิบาลแล้วหรือ และมีเหนือรัฐบาลชุดก่อนๆใช่หรือไม่
คำว่าธรรมาภิบาลที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีคือ การบริหารงานด้วยหลักคุณธรรม หลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส หลักความมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า เพื่อรักษาความสมดุลการบริหารงานในมิติต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รัฐบาลเลือกตั้งชุดต่อไปหากมาจากพรรคการเมืองคงจะเป็นรัฐบาลที่ง่อยเปลี้ยเสียขาทำอะไรไม่ได้ ล้มลุกคลุกคลาน เพราะติดกับดักจากกฎหมายใหม่เต็มไปหมด
ดังนั้น แนวโน้มจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจมากกว่า เพราะกลไกที่ตั้งแท่นรองรับไว้ชี้ทิศทางอย่างนั้น เช่น การให้อำนาจ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนเลือกนายกฯ ตามบทเฉพาะกาลการกำหนดคุณสมบัติว่านายกฯไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. และกำหนดยุทธศาสตร์ชาติไว้ล่วงหน้า หากเป็นเช่นนั้นรัฐบาลสืบทอดอำนาจคงจะมีความมั่นคง แต่คงไม่ต่างจากรัฐบาลปัจจุบันที่ “ยากต่อการตรวจสอบ” โดยเฉพาะเรื่องหลักนิติธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน ความรับผิดชอบ และความคุ้มค่า ซึ่ง “สวนทาง” หลัก “ธรรมาภิบาล” ทั้งสิ้น
ข้อ 2 ถามว่าหากไม่ได้ตามข้อ 1 จะทำอย่างไร? เชื่อว่าคงได้รัฐบาลสืบทอดอำนาจที่ไม่เป็นไปตามข้อ 1 แต่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยคงต้องทำหน้าที่ต่อไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แม้จะยากลำบาก แต่รับประกันว่าจะไม่ทำอะไรนอกลู่นอกทาง นอกกติการัฐธรรมนูญ นอกเหนือกติกาประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนให้มีการยึดอำนาจล้มล้างระบอบประชาธิปไตย จะชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชนเพื่อร่วมนำพาประเทศสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพราะการมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เท่านั้นคือหนทางแก้ปัญหาประเทศ
ข้อ 3 ถามว่าการเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศและเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง? คำถามนี้มีคำตอบอยู่ในตัวที่ท่านบอกว่าการเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย เพราะการเลือกตั้งคือการยอมรับอำนาจของประชาชน เป็นหลักสากลที่นานาอารยประเทศยอมรับ
ครั้งหนึ่งมีผู้พยายามสร้างกระแสว่าการเลือกตั้งมิใช่คำตอบเพื่อหันเหวิถีประชาธิปไตยไปสู่อำนาจนิยมในระบบแต่งตั้ง เป็นที่มาขององค์กรต่างๆที่มาจากการแต่งตั้งเต็มไปหมด เห็นกันอยู่ในปัจจุบันว่าขัดแย้งต่อหลักธรรมาภิบาลทั้งความโปร่งใส การตรวจสอบ และผลประโยชน์ทับซ้อน สามารถรับเงินค่าตอบแทนได้หลายทาง
สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ การโต้แย้งยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศมิใช่บริบทว่าประเทศควรมียุทธศาสตร์หรือมีการปฏิรูปหรือไม่ แต่ประเด็นหลักคือกระบวนการและที่มาที่ไปสิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นโดยบีบบังคับหรือยัดเยียดโดยปราศจากการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของอำนาจ
การให้สภาแต่งตั้งที่มาจากการรัฐประหารเป็นผู้ตรากฎหมายยุทธศาสตร์ชาติหรือปฏิรูปประเทศ เห็นได้ชัดเจนและนำไปสู่คำถามข้อ 1 ว่าท่านคิดว่าท่านมีธรรมาภิบาลแล้วหรือไม่?
ส่วนคำถามสุดท้าย ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณีควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีกแล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร? ก่อนอื่นต้องบอกว่า “นักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี” มีความหมายกว้างมาก แม้แต่พวกที่ถูก สนช. ถอดถอนแบบมีข้อสงสัยว่า สนช. มีอำนาจตามกฎหมายจะถอดถอนหรือไม่ ซึ่งลงสู่การเมืองไม่ได้ตามกติกาที่พวกท่านเขียนไว้ แต่นักการเมืองที่พูดจาก้าวร้าวทิ่มแทงคนอื่น ไม่ฟังใคร เอาความเห็นตนเป็นใหญ่ ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ถือว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี “เช่นเดียวกัน” ใช่หรือไม่?
คำถามข้อ 4 ที่จริงถือเป็นคำถามที่ดูถูกประชาชนผู้เลือกตั้ง ครั้งหนึ่งเคยมีคนพูดว่า “เสียงคนกรุงมีค่ามากกว่าคนชนบท เพื่อนำประเทศไปสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตย” ที่ถูกที่ควรคือ เมื่อประชาชนเขาตัดสินใจอย่างไรก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเขา ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะคนบางกลุ่มบางพวกไม่เคารพกติกา ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ใช้วิธีการนอกสภาดังในช่วงวิกฤตทางการเมือง
ทางออกของปัญหาที่ง่ายที่สุดคือ ให้ความเคารพกติกาและปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยทำงานของมันไป ทหารต้องหยุดแทรกแซงการเมืองและทำตัวเป็นทหารในระบอบประชาธิปไตย ทุกอย่างเดินไปตามวิถีทางประชาธิปไตยก็จะไม่มีปัญหา ไม่ต้องแก้ ไม่ต้องเชิญให้ใครมาแก้
อยากจะให้ตั้งสติเพื่อคิดทบทวนคำถามเหล่านี้ว่าใครควรจะถามและถามใครมากกว่า เพราะ 4 คำถามดูเหมือนจะย้อนเวลาหาเหตุยึดอำนาจอย่างเมื่อปี 2557 ซึ่งนำกลับไปสู่คำถามจากประชาชนถึงรัฐบาลทหารและท่านผู้นำสูงสุดว่า “3 ปีที่ผ่านมาของ คสช. ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงใช่หรือไม่?”
คำถามนี้คงไม่ได้รับคำตอบแน่ๆ แต่ผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่มี “คำตอบในใจ” ให้พวกท่านอยู่แล้ว
You must be logged in to post a comment Login