วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

น้ำใจน้องพี่สีชมพู / โดย ทีมข่าวการเมือง

On May 15, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“ผมนึกเสียดายและเป็นห่วง เพราะเสียชื่อสถาบัน เมื่อผมไปต่างประเทศ ถ้าเขาบอกว่าไม่อยากอยู่ประเทศของเขา เขาจะให้ไปอยู่ที่อื่น ดังนั้น จึงต้องเคารพกฎหมาย ขอให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธี เสน่ห์ของเราต้องช่วยกันรักษา อย่าไปข้างหน้าแล้วทิ้งข้างหลัง สถานที่เที่ยวในประเทศไทยสร้างในสมัยก่อนทั้งนั้น ประวัติศาสตร์ที่ดีเป็นความภาคภูมิใจ ขอให้เก็บเอาไว้ อันไหนไม่ดีก็ขอให้อย่าทำอีก”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่ง (5 พฤษภาคม) ระหว่างปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทมหาวิทยาลัยไทยต่อไทยแลนด์ 4.0” ถึงกรณีนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีสำนักข่าวแห่งหนึ่งได้เผยแพร่แนวคิดของนายเนติวิทย์ที่ต้องการให้ยกเลิกการหมอบกราบในพิธีถวายสัตย์ของนิสิตจุฬาฯ

เด็กคนเดียวสะเทือนทั้งยุทธจักร

กรณีนายเนติวิทย์ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯไม่ใช่เรื่องของ “ชาวจุฬาฯ” เท่านั้น แต่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมากถึงขนาดที่ “ผู้จัดการออนไลน์” นำมาเป็นประเด็นขึ้นหัวข่าว (5 พฤษภาคม) ว่า “เด็กคนเดียวทำสะเทือนทั้งยุทธจักร! ส่องวิวาทะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองกรณี “เนติวิทย์” นั่ง ปธ.สภานิสิตจุฬาฯ” แม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวพาดพิงนายเนติวิทย์ระหว่างการปาฐกถา ซึ่งนายเนติวิทย์ก็ได้โต้กลับผ่านทางเฟซบุ๊ค “Netiwit Chotiphatphaisal” ทันทีว่า “ใครคือความอับอายของชาติ เมื่อผ่านการศึกษา ผ่านการอบรมมาแล้ว ฝึกวินัยมาแล้ว น่าจะรู้จักเคารพกติกาของบ้านเมือง ถ้าอยากเล่นการเมืองก็มาตั้งพรรคการเมืองสิ แต่ตัวเองกลับเล่นนอกกติกา ทำรัฐประหารยึดอำนาจ เท่านั้นยังไม่พอ ยังลิดรอนสิทธิคนอื่นอย่างต่อเนื่อง สำหรับผมและคนรุ่นใหม่อีกหลายๆคน ท่านนายกรัฐมนตรีได้ทำลายชื่อเสียงของประเทศไทยมาเกือบจะ 3 ปีแล้ว”

อดีตนิสิตจุฬาฯอย่างนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊คด้วยข้อความสั้นๆว่า “ผมจบจุฬาฯ.. ไม่เห็นเสียชื่อ คนไม่ได้เรียนจุฬาฯยุ่งอะไรด้วย”

นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์เฟซบุ๊คสนับสนุนการตอบโต้ของนายเนติวิทย์ว่า “แรงงงงงงง สำหรับผมและคนรุ่นใหม่อีกหลายๆคน ท่านนายกรัฐมนตรีได้ทำลายชื่อเสียงของประเทศไทยมาเกือบจะ 3 ปีแล้ว… และคงทำต่อไปอีกหลายปี หุๆๆๆ”

ปฏิกิริยาด้านกลับที่มีต่อนายเนติวิทย์ที่ร้อนแรงอีกหนึ่งคนคือ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊ค Nuntdach Makswat กรณีนายกิตติรัตน์ออกมาอัด “ลุงตู่” โดยกล่าวว่า อยากให้นายกิตติรัตน์นึกถึงภาพส่วนรวมของชาติที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ด้วย เพราะจุฬาฯไม่ใช่ของนิสิตจุฬาฯ หรือนายกิตติรัตน์ซึ่งเป็นศิษย์เก่า หรือของผู้บริหารจุฬาฯเท่านั้น ตอนที่มีการจัดตั้งพรรคจุฬาประชาชนก็มีนิสิตกลุ่มหนึ่งออกมาบอกว่าจุฬาฯเป็นของประชาชน จึงต้องนึกภาพเรื่องนี้ให้กว้าง อย่าคับแคบแค่สถาบันของตัวเอง เวลาเกิดเรื่องดีๆก็บอกว่าจุฬาฯสร้างชื่อให้ไทย แต่พอมีเรื่องไม่ดีดันบอกว่า “เป็นเรื่องภายในจุฬาฯ”

“ผมเชื่อว่าคนเรียนจุฬาฯทุกคนไม่อยากให้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เพราะมันสะท้อนใจที่เด็กคนที่ยืนถ่ายรูปกับผู้ต้องหา ม.112 ดันได้มาเป็นประธานสภานิสิต ถ้าแน่จริงผมอยากให้เลือกใหม่แบบเปิดเผย จะได้รู้ว่าตัวแทนคณะอะไรที่เลือกนายเนติวิทย์ ผมเชื่อว่าเด็กในคณะจะต้องมีปฏิกิริยาไม่ดีต่อตัวแทนของตัวเองแน่นอน ทางแก้ต้องผลักดันให้จุฬาฯเลือกสภาจากประชากรส่วนรวมเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่นรามคำแหง จะได้รู้ดีรู้ชั่วกันไปเลยว่าเนติวิทย์จะได้อีกไหม! ผมต่อ 100:1 ว่าไม่ได้ เรื่องนี้ทุกคนต้องเข้ามายุ่งแน่ เพราะมันกระทบต่อประเพณีวัฒนธรรมของปู่ย่าตายายของทุกคนครับ หรือใครจะเถียง หรือใครอยากให้ลูกหลานเราเป็นแบบนี้”

ขอคืนความเป็นธรรมให้สภานิสิต

ประเด็นนายเนติวิทย์มีการโพสต์ความเห็นผ่านสังคมออนไลน์มากมายทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้านความคิดของนายเนติวิทย์ แต่ประเด็นการเลือกประธานสภานิสิตนั้น ผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อ “Tanawat Wongchai” ซึ่งระบุว่าเป็นนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ตอบโต้การนำเสนอข้อมูลให้เข้าใจผิดต่อสภานิสิตจุฬาฯว่า

“ถึงเพจ…และคนบางกลุ่มที่ไม่ได้มีข้อมูลมากพอเกี่ยวกับสภานิสิตและการเลือกตั้งสภานิสิตแล้วกลับวิจารณ์ราวกับว่าตัวเองมีความรู้นะครับ แถมวิจารณ์แบบผิดๆ ขอเน้นย้ำว่า กติกาที่กำหนดเรื่องการเลือกตั้งสภานิสิตนั้น เราใช้กติกาฉบับปี 2529 หรือกว่า 31 ปีมาแล้วครับ ดังนั้น ถ้าพวกคุณยอมรับสภานิสิตหลายต่อหลายชุดที่ผ่านมาได้ก็ควรจะยอมรับสภานิสิตชุดนี้ให้ได้ด้วย

1.สมาชิกสภานิสิตจุฬาฯที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามามีจำนวนทั้งสิ้น 44 คน แต่มาประชุม 36 คน

2.สมาชิกสภานิสิตประเภทสามัญมาจากการเลือกตั้งทางตรงคณะละ 3 คน บางคณะก็มีคนลงเลือกตั้งไม่ครบ 3 คน หรือบางคณะมีคนลงเลือกตั้งเกิน 3 คนจนมีการแข่งขันกันเกิดขึ้น เช่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ดังนั้น 36 คนที่มาประชุมเมื่อวานนี้ไม่ได้มาจากเพียงแค่ 12 คณะอย่างที่พวกคุณซึ่งไม่รู้รายละเอียดอะไรเลยพยายามจะมโนแล้วเพ้อฝัน เพราะอย่างที่บอกไป บางคณะไม่ได้ลงเลือกตั้งครบ 3 คน อาจจะลง 1 หรือ 2 คนบ้างในบางคณะ เช่น คณะเศรษฐศาสตร์ของผมเองก็ลงแค่ 2 คน

3.การเลือกตั้งซ่อมของจำนวนสมาชิกที่หายไปหรือไม่ครบจำนวนนี้จะมีขึ้นในช่วงแรกๆของการเปิดภาคการศึกษาต้นในปีการศึกษาหน้า (ปี 2560) อยู่แล้วครับ ไม่ต้องห่วง สภาไม่ได้มีแค่ 44 คนแน่นอน

4.ทำไมเลือกตั้งไม่ครบแล้วเปิดประชุมได้? อันนี้เป็นกฎเดิมอยู่แล้วครับ เหมือนเปิดประชุม ส.ส. ครั้งแรกเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีก็ไม่จำเป็นต้องมี ส.ส. ครบทุกคน

5.บางคนไม่ได้เลือกเนติวิทย์ เขาเลือกสมาชิกสภาต่างหาก? อันนี้กลับไปทำความเข้าใจระบบตัวแทนเลยนะครับ เดี๋ยวนี้เอกสารต่างๆหาอ่านใส่สมองให้เกิดความรู้ได้เยอะแยะมากมาย ตอนปี 2554 ที่ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯนี่ คุณได้เลือกกันโดยตรงมั้ยล่ะ ไม่เลย คุณเข้าคูหาไปกาเลือก ส.ส. แล้ว ส.ส. ถึงจะไปเลือกนายกฯอีกทีหนึ่ง (ผมก็ไม่เคยเห็นวาทกรรม ส.ส. 500 คน ตัดสินใจเลือกนายกฯแทนคน 65 ล้านคนนะ) สภานิสิตก็เหมือนกัน นิสิตเลือกสมาชิกสภา สมาชิกสภาเข้าไปเลือกประธาน รองประธาน และเลขาธิการสภานิสิต

นายกฯคนปัจจุบันนี้พวกคุณได้เลือกเขาโดยตรงมั้ย ก็ไม่ คนที่เลือกนายกฯที่ชื่อประยุทธ์คือ สนช. แล้ว สนช. คือคนที่ประยุทธ์แต่งตั้ง ถ้าเนติวิทย์เลือกสมาชิกสภานิสิต แล้วสมาชิกสภานิสิตเลือกเนติวิทย์เหมือนที่นายกฯคนนี้ทำ นั่นแหละผมว่าน่าเกลียด

6.ระบบเลือกตั้งแบบปิด? การเลือกตั้งสมาชิกสภานิสิตเราทำเหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วไปเลยครับ มีคูหา มีคณะกรรมการประจำหน่วยคอยดูแลตรวจสอบ นิสิตในแต่ละคณะจะไปเลือกสมาชิกสภานิสิตในคณะที่ตนเองสังกัด เลือกข้ามคณะไม่ได้ การเลือกตั้ง ส.ส. ก็เช่นกัน คุณเคยเห็นคนมีรายชื่อในเขตเลือกตั้งที่หนึ่งแล้วไปกาเลือก ส.ส. ของอีกเขตหนึ่งมั้ยล่ะ ก็ไม่ แถมการเลือกตั้งสมาชิกสภานิสิตก็ถูกจัดขึ้นพร้อมๆกันกับการเลือกตั้งขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) และสโมสรของแต่ละคณะด้วย ถ้าคุณจะบอกว่ามันไม่ชอบธรรม มันก็ไม่ชอบธรรมในทุกตำแหน่งทั้งมหาวิทยาลัยเลยนะ

หรือว่าโปร่งใสในความหมายของคุณคือการแอบผ่านงบจัดซื้อเรือดำน้ำ? คือการลงคะแนนเลือกประยุทธ์เป็นนายกฯแบบไม่มีคนค้านเหมือนที่ สนช. เคยทำ? หัดอ่านข้อมูลก่อนวิจารณ์บ้างนะครับ

ผมขอคืนความเป็นธรรมให้สภานิสิตจุฬาฯที่ถูกคนบางกลุ่มใส่ร้ายป้ายสีด้วยนะครับ”

ส่วนนายเนติวิทย์ได้โพสต์ตอบ (7 พฤษภาคม) ว่า “ขอบคุณผู้เขียนบทความครับ ให้ความกระจ่างต่อสาธารณชนว่าอะไรจริง อะไรเท็จ นายกฯคนปัจจุบันนี้พวกคุณได้เลือกเขาโดยตรงมั้ย ก็ไม่ คนที่เลือกนายกฯที่ชื่อประยุทธ์คือ สนช. แล้ว สนช. คือคนที่ประยุทธ์แต่งตั้ง ถ้าเนติวิทย์เลือกสมาชิกสภานิสิต แล้วสมาชิกสภานิสิตเลือกเนติวิทย์เหมือนที่นายกฯคนนี้ทำ นั่นแหละผมว่าน่าเกลียด”

หมอบกราบถวายสัตย์เพิ่งมีปี 2540

ส่วนกรณีโลกโซเชียลและเพจข่าวออนไลน์บางสำนักนำเสนอข่าวและบทความวิจารณ์นายเนติวิทย์ว่าเคยมีแนวคิดเสนอยกเลิกประเพณีหมอบกราบในพิธีถวายสัตย์ของนิสิตจนถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง อาทิ พล.อ.ประยุทธ์ที่ระบุว่าทำให้เสียชื่อเสียงสถาบันการศึกษา รวมถึงนางนุสบา ปุณณกันต์ อดีตดารานักแสดง อดีตนางเอกละครดัง นิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่โพสต์โดยไม่ได้ระบุชื่อนายเนติวิทย์ แต่มีเนื้อหาทำนองว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการลบหลู่ ไม่เคยเห็นใครลบหลู่แล้วมีจุดจบที่ดี (มีการตอบโต้นางนุสบาในกรณีนี้จากเฟซบุ๊คอาจารย์ปวิน ตอบโต้อย่างไรกรุณาไปหาอ่านเอง เนื่องจากเป็นเฟซบุ๊ค 1 ใน 3 บุคคลที่ถูกทางการไทยเตือนไม่ให้ติดตาม)

นายเจษฎาโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊คถึงข้อมูลพิธีถวายสัตย์ว่า “พิธีถวายสัตย์ของนิสิตใหม่จุฬาฯนี่เพิ่งเริ่มมีปี 2540 นี้เองครับ สมัยอาจารย์ ศ.ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ (สามีท่านนายกสภามหาวิทยาลัย) เป็นอธิการบดี ไม่ได้มีมาเป็น 100 ปีแบบบางคนไปกล่าวอ้างกัน สมัยผมกับคุณนุสบาเรียนอยู่ งานรับน้องก็มีแต่งานร่าเริง เจิมหน้าผาก ลอดซุ้ม ผูกข้อมือ ไม่ได้มีพิธีกรรมอะไรทำนองนี้”

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยเหล่านิสิตใหม่เมื่อสอบเข้าไปได้ก็จะเข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตใหม่เพื่อสร้างความภูมิใจในตัวนิสิต ณ สนามหน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 และ ร.6 โดยพิธีดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2540 ผนวกเข้ากับพิธีปฐมนิเทศและรับน้องใหม่ เพื่อเป็นการรื้อฟื้นประเพณีการถวายตัวของนักเรียนมหาดเล็กหลวงต่อพระเจ้าแผ่นดินมาเป็นแนวคิดในการจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตใหม่รั้วจามจุรีก่อนเริ่มต้นชีวิตการศึกษาอย่างสมบูรณ์ และเพื่อหล่อหลอมความสมัครสมานสามัคคีระหว่างนิสิตใหม่และรุ่นพี่ ปลูกฝังความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างน้องพี่ชาวจุฬาฯ

อันธพาลข่มขู่ “เนติวิทย์” ถึงคณะ

กรณีของนายเนติวิทย์ไม่ใช่แค่การตอบโต้ไปมาในสื่อและสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ยังส่อลุกลามถึงขั้นใช้ความรุนแรงเหมือนกรณีนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ ที่ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์เข้าทำร้ายถึงในมหาวิทยาลัย โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม มีวัยรุ่น 2 คนขี่จักรยานยนต์ไปที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ถามหานายเนติวิทย์ในลักษณะข่มขู่คุกคามมุ่งทำร้าย ซึ่งครั้งนี้กล้องวงจรปิดไม่เสียจึงสามารถจับภาพได้ชัดเจน ทำให้นายเนติวิทย์ต้องไปแจ้งความต่อสถานีตำรวจเพื่อปกป้องตนต่อไป พร้อมทั้งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คว่า

“ขอโอกาสให้ผมเถอะครับ ถือว่าให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้พิสูจน์ตัวเอง ถ้าเห็นต่างก็ไม่เป็นไร แต่เราควรจะมาคุยกัน ถ้ารักสังคมไทยจริงอย่าทำให้โลกและคนทั้งหลายเห็นเลยครับสังคมเรามาเฟียป่าเถื่อน อะไรๆก็ใช้แต่ความรุนแรง ผมกลัวครับ แต่ผมจะสู้ต่อไป ขอให้เพื่อนๆมาช่วยกันด้วย เราจะใช้สันติวิธี เราเชื่อว่าการชนะความเกลียดต้องด้วยความรัก ความเคารพในสิทธิของคนอื่น ผมอยากให้ประเทศไทยเป็นที่ของคนรุ่นใหม่เก่ามีปฏิสัมพันธ์ คุยกัน ไม่ครอบงำกัน เราต้องช่วยกันจริงๆ”

ส่วนตำรวจจะจับอันธพาลที่เข้ามาข่มขู่ได้หรือไม่ทั้งที่ภาพจากวงจรปิดชัดเจน ต้องปล่อยให้เจ้าหน้าที่จัดการไป แต่การข่มขู่และการระดมทับถมใส่นายเนติวิทย์ยังมีการพยายามดึงเป็นเป้าทางการเมืองอีกเมื่อมีการนำภาพนายการุณ โหสกุล อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขณะกราบลาอุปสมบท (ปี 2557) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือ “เจ๊หน่อย” แกนนำพรรคเพื่อไทย โดยบิดเบือนว่านายการุณเป็นนายเนติวิทย์ ทั้งยังกล่าวหาว่า “เจ๊หน่อย” อยู่เบื้องหลังการได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯของนายเนติวิทย์ รวมถึงกรณีไม่ถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาลในพิธีปฐมนิเทศและถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ “เจ๊หน่อย” จึงให้ทนายความแจ้งความเอาผิดกับผู้ที่โพสต์และแชร์ข้อความกล่าวหาดังกล่าว โดยยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับนายเนติวิทย์แต่อย่างใด และไม่เคยรู้จักส่วนตัวกันมาก่อนด้วย ซึ่งทนายความได้ยื่นหลักฐานให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ที่โพสต์และแชร์ภาพและข้อความผ่านทางเฟซบุ๊คและแอพพลิเคชั่นไลน์จำนวน 4 ราย ในจำนวนนั้นมีนายทหาร 2 ราย แต่ยังไม่เปิดเผยยศและตำแหน่ง

โดนเด็กถอนหงอกอีกราย

กรณี “กราบเจ๊หน่อย” ยังทำให้อดีตนายตำรวจและนักเขียนใหญ่อย่าง พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ต้องหน้าแตกและถูกเด็กอย่างนายเนติวิทย์ช่วย “ถอนหงอก” อีกราย เมื่อ พล.ต.อ.วสิษฐเขียนบทความและนำภาพนายการุณกราบคุณหญิงสุดารัตน์ไปขยายความโดยคิดว่าเป็นนายเนติวิทย์ อ้างตนในฐานะเป็นนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นที่ 1 เขียนบทความในคอลัมน์ประจำของตนเองในหนังสือพิมพ์ว่า “…คุณเนติวิทย์เป็นผู้เลื่อมใสในแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งสวมเสื้อแดงเป็นสัญลักษณ์ ผมเคยเห็นภาพคุณเนติวิทย์กราบลงบนพื้นแสดงความเคารพคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์…”

แม้การโพสต์หรือแชร์ข้อความต่ออย่างผิดๆ และไปเขียนข่าวในเชิงประณามนายเนติวิทย์ นอกจากทำให้คนเข้าใจผิดแล้วยังทำให้คุณหญิงสุดารัตน์เสียหายจนมีการแจ้งความไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครแจ้งความเอาเรื่อง พล.ต.อ.วสิษฐแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หนึ่งในผู้โพสต์รูปที่ใช้ชื่อ “บูรพ์ พุละกาพย์” เมื่อรู้ว่าผิดและอาจติดคุกก็ได้รีบแก้โพสต์ขอโทษทันทีโดยกล่าวว่า ต้องการล้อเลียนนายเนติวิทย์เพียงคนเดียว “กระผมรับปากว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกหลังจากนี้”

กรณีนี้นายเนติวิทย์ได้โพสต์ตอบโต้ พล.ต.อ.วสิษฐผ่านเฟซบุ๊ค Netiwit Ntw ว่า “ผมเห็นข่าวที่คุณลุงวสิษฐ เดชกุญจร เขียนถึงผมแล้ว ผมรู้สึกเสียใจที่คุณลุงซึ่งอ้างว่าเป็นรุ่นแรกของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการศึกษาจากครูอาจารย์ ซึ่งท่านเหล่านั้นน่าเคารพ มีวุฒิภาวะ และมีความเมตตาธรรม สอนให้ลูกศิษย์มีวิจารณญาณ ไม่ตัดสินอะไรไปเกินด่วน

ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย พระองค์ท่านเองก็มีจุดประสงค์ให้นิสิตที่เรียนมีคุณภาพ แต่คุณลุงรุ่นแรกกลับเขียนอย่างขาดวุฒิภาวะ อ่านหนังสือไม่รอบคอบ เชื่อความเท็จใส่ความผม โจมตีผมอย่างผิดๆเรื่องผมไปกราบคุณหญิงสุดารัตน์ ทั้งที่คนที่กราบในภาพก็ดีและคุณหญิงสุดารัตน์ได้ชี้แจงไปแล้วและจะฟ้องร้องคนที่กล่าวเท็จใส่พวกเขาด้วย คุณลุงไม่ตามข่าวเช็กข่าวบ้าง หรือถ้าคุณลุงมีเมตตากับผมไม่ได้ ผมจะเป็นตัวอย่างให้ท่าน ผมถูกคุณลุงรังแกใส่ความเท็จ ผมจะไม่ว่าอะไรคุณลุงในเรื่องนี้ แต่ผมเห็นใจคุณลุงที่ตกเป็นเหยื่อของความเท็จของสื่อที่บิดเบือนและชราภาพที่ครอบงำ คุณลุงก็เป็นนักเขียนที่มีคนอ่านพอสมควร ต่อไปขอให้คุณลุงได้เขียนข่าวอย่างรอบคอบกว่านี้ อย่าได้ทำแบบนี้กับผมและคนอื่นๆอีกเลย”

ขณะที่นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์ถึง พล.ต.อ.วสิษฐว่า “คุณวสิษฐอคติ ใช้ความคิดขวาจัดเป็นตัวตั้ง อ่อนข้อมูลและขาดความเมตตามาก ตั้งแต่เรื่องไปกล่าวว่าเนติวิทย์เป็นผู้สนับสนุน นปช. เสื้อแดง ซึ่งถึงเป็นความจริงก็เป็นเรื่องความคิดทางการเมืองที่ต่างจากคุณวสิษฐ ไม่ได้มีอะไรเสียหาย นอกจากนี้เรื่องหมอบกราบสุดารัตน์ก็เป็นเรื่องข้อมูลผิดที่แสดงความไร้เดียงสาของคุณวสิษฐ ยิ่งกว่านั้นคุณวสิษฐไม่ทราบหรือแกล้งไม่ทราบว่ารัชกาลที่ 5 ยกเลิกการหมอบกราบอย่างเป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. 2416”

ท่าทีของ พล.ต.อ.วสิษฐ รัฐศาสตร์จุฬาฯรุ่นพี่ จะมีอย่างไรต่อกรณีการเขียนบทความที่ลงข้อมูลผิดพลาดคลาดเคลื่อนคงต้องจับตาดู โดยล่าสุดมีการโพสต์ในเฟซบุ๊คตั้งคำถามจากนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ว่า “สงสารลุงวสิษฐเขานะครับ ลุงเขาเป็นเหยื่อจากการอ่านข่าวทาง LINE” และ “เมื่อไหร่วสิษฐ เดชกุญชร จะขอโทษเนติวิทย์ครับ”

ประเทศนี้ยังมีความหวัง

ปฏิกิริยาต่างๆที่เกิดขึ้นหลังจากนายเนติวิทย์ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าสังคมไทยยังจมปลักกับความขัดแย้งและแตกแยกที่ฝังลึก ไม่เว้นแม้แต่สถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ กรณีของนายเนติวิทย์ไม่มีอะไรดีไปกว่าความรู้สึกของเขาที่บอกผ่านเพื่อนนักศึกษาและสังคมไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นบทบาทของคนรุ่นใหม่ แม้จะเป็นแค่นักศึกษาตัวเล็กเพียงคนเดียว แต่ก็สามารถทำให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองถึงกับหวั่นไหวจนต้องลงมาทะเลาะกับเด็กที่ต่อสู้ด้วยความคิดและมือเปล่า ไม่มี “อาวุธยุทโธปกรณ์” มีแต่ “อาวุธทางปัญญา” เท่านั้น

นายเนติวิทย์ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านเพจ The MATTER ว่า “ประเทศนี้ยังมีความหวัง ผมจะเปลี่ยนการเมืองให้ดีขึ้น” โดยเห็นว่าเสรีภาพในมหาวิทยาลัยเป็นแค่วาทกรรมที่พูดให้ดูดีเท่านั้น ไม่ได้มีอยู่จริง เสรีภาพจะมีได้ก็ต่อเมื่อเราทำอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้น หวังว่าความคิดของเขาจะกระจายไปยังคนอื่นอีกเยอะๆ เพื่อให้คนอื่นๆมีความหวังในประเทศนี้เหมือนกัน

“ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ที่จะให้ผมคนเดียวมาเปลี่ยนจุฬาฯ มันเป็นลัทธิเชิงวีรบุรุษที่เชื่อว่าจะมีคนวิเศษคนหนึ่งโผล่ขึ้นมา ก็คิดกันแบบนี้ไงเราจึงไม่ได้ประชาธิปไตยกันซักที ทุกคนต้องช่วยกัน”

น้ำใจน้องพี่สีชมพู

ดังนั้น ได้โปรดตั้งสติไว้ โดยเฉพาะ “ชาวจุฬาฯ” อย่าลืมท่อนหนึ่งของเพลงที่ผู้ที่เคยเข้าไปอยู่ใต้ร่มเงาจามจุรีในรั้วจุฬาฯร้องกันได้แทบทุกคน.. “น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์”

เมื่อ “เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล” เป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯครบวาระแล้ว ผลงานของเขาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ การไล่เขาลงโดยที่ไม่ทันเห็นฝีมือ หรือเอาอำนาจนอกระบบมาจัดการ โดยเฉพาะการใช้ “อันธพาล” ย่อมไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่ายอย่างแน่นอน

การถูกผู้มีอำนาจทั้งมีสี ไม่มีสี และพวกชอบแต่งแต้มสี หรือพวกที่ยกตนอ้างว่าต้องออกมาปกป้อง “สีชมพู” ซึ่งเป็นสีของ “ชาวจุฬาฯ” ถึงขนาดพยายามโยงให้เป็นเรื่องการเมืองระดับชาติ หรือดึงเกียรติภูมิของสถาบันออกมารุมถล่มเด็กเพียงคนเดียวนั้น เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง

ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบ “เนติวิทย์” ในฐานะที่เขาเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเสรีภาพตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนมัธยมฯ แต่วันนี้เขาคือนิสิตปี 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมื่อเขาอาสาเข้ามาทำงานให้กับ “ชาวจุฬาฯ” ด้วยการสมัครเข้ารับการเลือกตั้งจากสมาชิกสภานิสิตจุฬาฯ และได้รับเสียงข้างมากในสภานิสิตให้มีตำแหน่งเล็กๆที่เรียกว่า “ประธานสภานิสิตจุฬาฯ” (ที่ยังไม่รู้ว่าจะสามารถทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน) เราจึงควรรอเวลาและให้โอกาสเขาอย่างมีอารยะ

สำหรับ “ชาวน้องพี่สีชมพู” แล้ว นี่คือความงดงามของชาวจุฬาฯที่แสดงให้เห็นว่า “สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ สำนักนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” แม้ในยามที่บ้านเมืองปกครองด้วยระบอบเผด็จการยึดอำนาจ แต่อย่างน้อยจงภูมิใจเถิดว่า..

“จุฬาลงกรณ์ยังมีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว”..!!??


You must be logged in to post a comment Login