วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ก่อนสิ้นอิสรภาพ

On May 3, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

คำโบราณว่า “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” คงใช้อธิบายได้ดีกับคำพูดของบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

ไม่ว่าจะเป็น “คนไทยหรือเปล่า สื่อพวกนี้ต้องยิงเป้า” หรืออีกหลายคำพูดแสดงให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของการผลักดันออกกฎหมายคุมสื่อ

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านอยู่มาก แต่ดูแล้วผู้มีหน้าที่ออกกฎหมายนี้ยังเดินหน้าตามธงต่อไป ถึงจะยอมปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางส่วนบ้าง แต่เป้าหมายยังเหมือนเดิมคือต้องออกกฎหมายมาควบคุมสื่อ

หลักการที่ใช้เป็นข้ออ้างในการผลักดันออกกฎหมายนี้คือ จากการศึกษาพบข้อมูลว่า สื่อหลัก ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์ สร้างผลกระทบต่อจิตใจประชาชน ถ้าไม่กำกับดูแล อาจเกิดการล่วงละเมิดสิทธิ ถึงขั้นสูญเสียทรัพย์สิน หากยังปล่อยไว้ จะกระทบต่อความมั่นคงชาติ ต้องปฏิรูปปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่วัยเด็ก โดยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคประชาชน อบรมต่อเนื่องให้ตระหนักรู้ภัยการเสพสื่อ ต้องกำหนดยุทธศาสตร์การใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่การให้ภาครัฐเข้าไปกำกับอย่างเดียว แต่มีหลักการให้สื่อควบคุมกันเองเอาไว้ด้วย

ขณะนี้ ที่ประชุม สปท. เห็นชอบกับแนวทางการออกกฎหมายแล้วโดยลงมติเห็นชอบ 154 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียงและงดออกเสียง 5 เสียง

ขั้นตอนจากนี้คณะกรรมาธิการฯจะนำข้อเสนอแนะข้อท้วงติงจากการอภิปรายของสมาชิก สปท.ไปพิจารณาปรับแก้ร่างกฎหมายโดยมีเวลาดำเนินการ 30 วัน จากนั้นต้องส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อน หากเห็นชอบจึงส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

ช่วงเวลาจากนี้ก่อนที่ร่างกฎหมายจะผ่านการพิจารณาขั้นสุดท้ายจากคณะกรรมาธิการ และคณะรัฐมนตรีก่อนส่งต่อไปถึง สนช.จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่บรรดาผู้ไม่เห็นด้วยต้องแสดงหลักการเหตุผลเพื่อโน้มน้าวผู้คนในสังคมให้สนับสนุน เพื่อเพิ่มเสียงต่อรองในการพิจาณาชั้นคณะรัฐมนตรี

แม้อำนาจออกกฎหมายเป็นของสนช. แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สนช.ต้องรับเสียงของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลทหาร คสช.เป็นหลัก หากรัฐบาลเปิดไฟเขียวร่างกฎหมายนี้จะผ่านสนช.ออกมาบังคับใช้แน่นอน 100%

อย่างไรก็ตาม หากฟังจากน้ำเสียงของท่านผู้นำ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้สัมภาษณ์ ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าการออกกฎหมายควบคุมการทำงานของสื่อมีความจำเป็น

“สปท. มีหน้าที่คิดและปฏิรูป เมื่อ สปท.คิดขึ้นมาและลงมติแล้วก็จะเข้ามาที่รัฐบาล ก่อนสนช.พิจารณา ซึ่งยังอีกหลายขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้อยากขอความร่วมมือ เพราะรัฐบาลต้องการทำให้ประเทศดีขึ้น และสื่อทุกคนก็ต้องช่วยกัน ส่วนที่เป็นประโยชน์ก็ขอให้ช่วยขยายความ ทุกอย่างต้องพัฒนาโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ จะดีได้นั้นบ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อย เราต้องดูว่ารอบบ้านและโลกภายนอกเป็นอย่างไร วันนี้รัฐบาลกำลังทำ

ทุกคนบอกว่ารายได้ไม่ดี เราต้องปรับปรุงตัวเอง สื่อเองก็ต้องเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลในสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนสิ่งที่ไม่ดีก็ไม่ได้บังคับ เพราะถ้าไม่ดีก็จะไม่ทำ และสื่อเองก็ต้องตรวจสอบรัฐบาล แต่การตรวจสอบอย่าเพิ่งลงความเห็นว่าผิดหรือถูก เพราะบางครั้งสื่อจะลงความเห็นเช่นนั้น ขณะที่บางเรื่องต้องให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณา ไม่ใช่ให้สื่อตัดสินว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะบางครั้งจะคิดคนละมุม … อย่าคิดว่าต้องการครอบงำทั้งหมด เพราะไม่ได้ครอบงำใครเลย และถ้าครอบงำการออกกฎหมายจะเร็วกว่านี้ ทุกอย่างจะจบ เพราะสามารถใช้อำนาจได้ แต่ไม่ใช้ แต่ให้ทุกคนคิดขึ้นมา แล้วจะมาดูและขัดเกลา…วันนี้ไม่ให้อิสระกับสื่อหรือ วันนี้อิสระทุกอย่าง เพียงแต่ว่า สปท.จะตีกรอบมากขึ้น อย่าลืมว่าผมให้อิสระทุกอัน ไม่เคยไปยุ่งกับใคร ฟ้องก็ไม่เคยฟ้องใครสักที ไม่เคยสั่งปิดสื่อเลยสักที วันนี้ยังเป็นแบบนี้อยู่ แต่อย่าลืมว่ามีอะไรที่ไม่ดีอยู่ ต้องหาให้เจอ หาวิธีการแล้วมาบอกผมว่าจะทำอย่างไร ผมพูดเลยสื่อเลือกข้างก็มี อาจมีเรื่องเงินทองบ้าง จะทำอย่างไรไม่ให้เกิด รัฐบาลหน้าจะได้อยู่ได้ สื่อบอกว่าตรวจสอบ แล้วยังไง เพราะทุกอย่างต้องเข้าสู่กระบวนการ ให้เป็นไปตามนั้น ไม่อย่างนั้นทุกอย่างก็วุ่นไปหมด ขอให้เข้าใจกัน”

คงไม่ต้องตีความหรืออธิบายซ้ำเพราะท่านผู้นำพูดชัดเจนอย่างไรก็ต้องออกกฎหมายมาควบคุม ส่วนจะเข้มแค่ไหนต้องรอดูกันต่อไป ช่วงเวลาที่เหลืออีกประมาณ 2-3 เดือนจึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องต่อสู้ทางความคิดอย่างหนักหน่วงของสื่อที่เปรียบเสมือนเสือที่เคยมีอิสระในป่าใหญ่ แต่ต้องมาดิ้นรนกระวนกระวายไม่ต่างจากเสือติดจั่นที่จะถูกจำกัดพื้นที่ ไม่มีความเป็นอิสระเหมือนเคย


You must be logged in to post a comment Login